xs
xsm
sm
md
lg

Alexander Calder วิศวกรผู้บุกเบิกประติมากรรมจลนดุล (mobile)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Alexander Calder กับผลงาน Bmw Art Car
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1958 ที่สำนักงานใหญ่ของ UNESCO ในกรุงปารีส ได้มีพิธีเปิดโชว์ประติมากรรมของ Alexander Calder ชื่อ Spiral ที่บริเวณสวนหน้าสำนักงาน ผลงานชิ้นนี้ทำด้วยเหล็กกล้าสีดำ หนัก 2 ตัน สูง 10 เมตร และวางตระหง่านหันหน้าออกสู่ถนน Avenue de Suffren

Alexander Calder คือประติมากรชาวอเมริกัน ผู้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1898 ณ เมือง Lawnton ใกล้ Philadelphia บรรพบุรุษหลายคนเป็นผู้มีฝีมือและได้รังสรรค์ผลงานประติมากรรมมากมาย นับตั้งแต่ปู่ Alexander Milne Calder และบิดา Alexander Stirling Calder ส่วนมารดานั้นถนัดงานจิตรกรรม ถึงบรรดาญาติจะเป็นศิลปินแต่ก็ไม่มีใครในครอบครัวสนับสนุนให้เด็กชาย Calder มีอาชีพเป็นศิลปินเลย เพราะตระหนักดีว่าคนที่มีอาชีพนี้ต้องหาคนว่าจ้าง และมีฐานะทางการเงินไม่มั่นคง ในตอนแรกครอบครัวของ Calder ตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ที่แอริโซนา แต่ได้ย้ายไปๆ มาๆ ระหว่างแคลิฟอร์เนียกับนิวยอร์ก

ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ Calder เล่าว่า เขาเริ่มสนใจของเล่นทุกชนิดที่เป็นเครื่องกล โดยจะถอดชิ้นส่วนต่างๆ ออกดู และชอบประดิษฐ์ของใช้จากแผ่นไม้และแผ่นโลหะกับลวด รวมถึงอยากรู้ว่าวิศวกรสร้างสะพานคอนกรีตข้ามลำธารได้อย่างไร แต่เมื่อบิดาถามว่าอยากเรียนวิชาอะไรในมหาวิทยาลัย Calder กลับตอบว่า เขายังตัดสินใจไม่ได้ จนกระทั่งเพื่อนสนิทคนหนึ่งบอกว่าวิศวกรเครื่องกลเป็นอาชีพที่หางานทำได้ง่าย Calder วัย 17 ปีจึงตัดสินใจเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่ Stevens Institute of Technology ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ซึ่งมีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมเครื่องยนต์ของเรือกลไฟและเครื่องจักรไอน้ำ เพราะมหาวิทยาลัยมีนโยบายจะขับเคลื่อนโลกด้วยเครื่องยนต์ Calder จึงได้เข้าศึกษาที่นี่ และเรียนวิชาสถิตยศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมดุลของโครงสร้างต่างๆ และพลศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของชิ้นส่วนต่างๆ โดยองค์รวมของอุปกรณ์นั้นไม่แตกหักหรือพังทลาย ความรู้ทั้งสองด้านนี้เองที่เป็นรากฐานสำคัญให้ Alexander Calder สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเวลาต่อมา

Calder สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเมื่ออายุ 21 ปี และเริ่มทดลองทำงานหลายด้าน เช่น เป็นช่างเครื่องในเรือที่เดินทางระหว่างนิวยอร์กกับซานฟรานซิสโกโดยผ่านคลองปานามา และเป็นช่างซ่อมรถยนต์ จนได้พบว่าไม่ได้ใช้ความรู้สถิตยศาสตร์กับจลนศาสตร์ที่เล่าเรียนมาเลย

เมื่ออายุ 25 ปี Calder เริ่มสนใจศิลปะอย่างจริงจังจึงสมัครเรียนกลางคืนที่ School of the Arts Students League ที่นิวยอร์ก โดยมี George Luks และ John Sloan เป็นครูสอน Calder ชอบสเกตซ์ภาพคนเดินถนนกับคนที่สถานีรถไฟใต้ดิน และจากภาพที่ร่างไว้นั้น หลายคนจะเห็นว่าภาพเหล่านั้นส่อแสดงการเคลื่อนไหว Calder ได้ส่งภาพเหล่านี้ไปลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ National Police Gazette

ในความรู้สึกของคนทั่วไป วิศวกรรมศาสตร์กับศิลปกรรมศาสตร์เป็นวิทยาการที่ไปด้วยกันไม่ได้ในบุคคลคนเดียว แต่ในความเป็นจริง เวลาวิศวกรต้องการจะออกแบบเครื่องจักร เขาจำเป็นต้องใช้จินตนาการว่าประสงค์จะให้อุปกรณ์นั้นมีรูปร่างอย่างไร ในทำนองเดียวกับนักประพันธ์ที่นั่งอยู่เบื้องหน้ากระดาษที่ว่างเปล่า เขาก็ต้องใช้จินตนาการว่าจะฝึกเรื่องหรือเล่านิทานในทำนองใด ส่วนจิตรกรก็ต้องใช้จินตนาการทุกครั้งที่เขียนรูปลงบนผืนผ้าใบที่ว่างเปล่าเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจที่วิศวกร (บางคน) มีพรสวรรค์ทางศิลปะด้วย

ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็ก Calder ได้สนใจวิธีทำของเล่นที่เป็นลวดทองแดงกับลูกปัดโดยนำมาร้อยเป็นสายสร้อยให้น้องสาว และเคยสร้างตุ๊กตาสัตว์ที่เคลื่อนไหวได้โดยใช้ลวดและแผ่นไม้เท่านั้น เมื่อเพื่อนเห็นเข้าก็ได้แนะนำให้ Calder ใช้แต่ลวดแทน Calder จึงนำลวดมาดัดโค้งเป็นรูปสัตว์และคน โดยได้ดัดลวดเป็นรูปของ Josephine Baker นักเต้นรำที่มีชื่อเสียงของอเมริกาขึ้นมา ความสำเร็จนี้ได้ทำให้ Calder ได้งานเป็นช่างประดิษฐ์ของเล่นที่เคลื่อนไหวได้สังกัดบริษัท Gould Manufacturing ที่ Philadelphia เมื่ออายุ 29 ปี ตั้งแต่นั้นมาผลงานของเล่นเด็กและรูปคน 3 มิติที่ทำด้วยลวดของ Calder ก็เริ่มเป็นที่ชื่นชม เหมือนงานประติมากรรมนามธรรมรูปแบบอื่นๆ ว่าเป็นการสร้างงานศิลปะที่เกิดจากการรังสรรค์อย่างเร็วๆ และอย่างหยาบๆ แต่ถาวร โดยความคิดหลักในการศิลปะนี้คือสิ่งที่สร้างไม่ใหญ่เทอะทะหรือมโหฬารเหมือนอนุสาวรีย์ทั่วไป งานประดิษฐ์ของ Calder จึงดูเบาเสมือนไม่มีมวลใดๆ ศิลปะของ Calder จึงเป็นศิลปะที่เกิดจากจินตนาการของเด็ก แต่มีจุดมุ่งหมายของผู้ใหญ่ คือพยายามทำให้สิ่งประดิษฐ์นั้นๆ ดูมีชีวิต

ในปี 1930 Calder ได้ไปเยือนสตูดิโอของ Piet Mondrian ผู้เป็นจิตรกรชาวเนเธอร์แลนด์ และได้เห็นว่าบนผนังสีขาวของสตูดิโอมีกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง สีน้ำเงิน และสีเหลืองติดกระจัดกระจายประปราย Calder ต้องการจะให้แผ่นกระดาษเหล่านั้นเคลื่อนไหวมากบ้างน้อยบ้าง เขาจินตนาการว่าการเคลื่อนไหวคงทำให้ประติมากรรมมีรูปโฉมที่แปลกและน่าสนใจตลอดเวลา Calder จึงนำเส้นลวดมาต่อโยงกับวัสดุต่างๆ เช่น แผ่นพลาสติก กระจก กระดาษแข็ง เชือก และแผ่นไม้ที่มีขนาดต่างๆ กัน แล้วนำวัสดุมาระบายสี จากนั้นใช้ความรู้กลศาสตร์หาตำแหน่งของจุดหมุน (fulcrum) ที่ทำให้ระบบอยู่ในสมดุล เช่นนำแผ่นตะกั่วรูปทรงต่างๆ มาทาสีแล้วนำไปแขวนตามลวดด้วยเชือก ดังนั้นเวลาประติมากรรมถูกลมพัด ชิ้นส่วนต่างๆจะเคลื่อนไหว การเคลื่อนที่ในลักษณะต่างๆ กันในต่างปริมาตรและต่างเวลาเช่นนี้ Calder เรียกการเคลื่อนที่ใน 4 มิติ

เมื่ออายุ 33 ปี Calder ได้สมัครเป็นสมาชิกของสมาคม Abstraction-Création และนำผลงานที่เคลื่อนไหวในลักษณะไม่สมมาตรด้วยอิทธิพลของแรงลมหรือน้ำ ซึ่งใช้หลักสมดุลในการทรงตัวออกแสดง เมื่อ Marcel Duchamp (ผู้วาดภาพ Nude Descending a Staircase ที่มีชื่อเสียง เพราะเป็นภาพที่คนในภาพดูเหมือนเคลื่อนไหวได้) เห็นประติมากรรมของ Calder เขาคิดเรียกผลงานว่า ประติมากรรมจลนดุล (mobile) Calder รู้สึกชอบคำนี้มาก เพราะตรงกับภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า motive ทั้งๆ ที่ในตอนแรกเขาตั้งใจจะเรียกผลงานของตนว่า “moving Mondrian” แต่เมื่อ Jean Arp ได้ตั้งประเด็นว่า แล้วงานประติมากรรมของ Calder ที่เคลื่อนไหวไม่ได้จะเรียกอะไร ซึ่ง Arp ก็ได้เสนอชื่อเรียกว่า ประติมากรรมสถิต (stabile) เพราะเคลื่อนไหวไม่ได้และมักทำด้วยแผ่นโลหะที่มีเส้นขอบนอกเป็นเส้นโค้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Calder ก็เริ่มรังสรรค์สร้างทั้ง mobile และ stabile และในบางครั้งเขาก็นำ mobile และ stabile มารวมปนกัน สำหรับในกรณีของประติมากรรม mobile นั้น บางชิ้นดูเหมือนกระดูกปลา หรือกระดูกไดโนเสาร์ที่เคลื่อนไหวได้ ซึ่งอาจจะโดยการถูกลมพัดหรือใช้เครื่องจักรขับเคลื่อน ส่วนประติมากรรม stabile บางชิ้นก็ดูเหมือนสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์เพราะมีขนาดมโหฬาร

ณ วันนี้วงการศิลปะยอมรับว่า Calder คือบุคคลแรกๆ ที่นำการเคลื่อนไหวเข้ามาประยุกต์ในงานประติมากรรม 3 มิติ โดยการทำให้ผลงานศิลปะมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอย่างอิสระและต่อเนื่อง แทนที่จะคงรูปแบบตามที่จิตรกรหรือประติมากรได้วางแผนไว้ เขาจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ให้กำเนิดความงามอันเกิดจากการเคลื่อนไหว (Kinetic Art) โดยอาศัยความรู้ด้านจลนศาสตร์ที่ได้เล่าเรียนมาจากการเป็นวิศวกร ซึ่งจะเห็นได้ชัดเวลา Calder บรรยายผลงานของตน เขามักใช้คำว่า torque และ vector of motion อธิบายการเคลื่อนที่ของ mobile

Calder เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1976 ที่นิวยอร์ก สิริอายุ 78 ปี

ประติมากรรม stabile ที่โดดเด่นของ Calder มีมากมาย เช่น Teodelapio (2505) สูง 18 เมตร ยาว 18 เมตร Man (2510) สูง 23 เมตร ติดตั้งที่ Montreal World Exhibition ส่วน Red Sun (2510) สูง 24 เมตร ติดตั้งอยู่ที่ Olympic Stadium ที่เม็กซิโกซิตี้ และ Red, Black, and Blue (2510) กว้าง 14 เมตร อยู่ที่ Dallas Airport ส่วนประติมากรรม mobile ที่สำคัญได้แก่ Lobster Trap and Fish Tail (2482) ขณะนี้อยู่ที่ Museum of Modern Art และ Spiral (2501) อยู่ที่สำนักงานใหญ่ของยูเนสโกในกรุงปารีส

Jean-Paul Sartre นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียง ได้กล่าวสดุดีผลงาน mobile ของ Calder ว่าเปรียบเสมือนทะเลที่รื่นรมย์ เพราะมีการเริ่มต้นอยู่ตลอดเวลา และคนดูจะคิดไม่ออกหรือคาดไม่ถึงว่าในเวลาต่อมาประติมากรรมจะมีรูปลักษณ์เช่นใด ผลงานนี้จึงเป็นงานสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่รูปแบบหนึ่งของความสามารถของมนุษย์

อ่านเพิ่มเติมได้จาก Calder: An Autobiography with Pictures โดย Alexander Calder จัดพิมพ์โดย Pantheon, New York ในปี ค.ศ.1977
จลนดุลชื่อ Yellow Whale ประกอบด้วยแผ่นโลหะทาสี และลวด
ปฏิมากรรม The Brass Family ทำด้วยลวดทองเหลือง ปี 1929 อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Whitney
The White Frame ปี 1934 ลวดไม้ทาสี และแผ่นโลหะ ที่ Moderna Museet ในกรุง Stockholm
*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น