นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เซลล์ที่แยกมาจากหลายๆ ตัวอ่อนผสมกัน แล้วฝากให้ลิงตัวเมียอุ้มท้อง และเป็นครั้งแรกที่ลูกลิงจากเซลล์ผสมของตัวอ่อนซึ่งมีแหล่งกำเนิดต่างกันนี้ได้ลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัยและแข็งแรง โดยคาดหวังว่างานวิจัยนี้จะถูกต่อยอดทางด้านการแพทย์ต่อไป
ทั้งนี้ เราเรียกลูกลิงที่เกิดจากกลุ่มเซลล์อวัยวะต่างๆ ของลิงหลายตัวว่า “ไคเมรา” (chimera) ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นผลงานของทีมวิจัยสหรัฐฯ ที่ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยนี้ลงวารสารเซลล์ (Cell) โดยทีมวิจัยกล่าวว่าความก้าวหน้าในงานวิจัยนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้นคว้าทางการแพทย์
ทั้งนี้ ลิงไคเมรามีความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาเกี่ยวกับตัวอ่อน ซึ่งมีข้อจำกัดเมื่อศึกษาในหนู โดยการวิจัยครั้งนี้บีบีซีนิวส์รายงานว่านักวิทยาศาสตร์ได้ให้กำเนิดลูกลิงรีสัส (rhesus monkey) ที่ปกติและแข็งแรง ซึ่งเกิดจากผสมเซลล์ของลิง 6 ตัวที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
“เซลล์เหล่านั้นไม่ได้หลอมรวมกัน แต่อยู่ด้วยกันแล้วทำงานร่วมกันเพื่อก่อตัวเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะ” ชูครัต มิตาลิพอฟ (Shoukhrat Mitalipov) ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสุขภาพและวิทยาการโอเรกอน (Oregon Health and Science University) สหรัฐฯ กล่าว
ในช่วงแรกๆ นั้น บีบีซีนิวส์ระบุว่าทีมของ ดร.มิตาลิพอฟพยายามผลิตลิงชิเมอรัสที่มีชีวิต โดยการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ในตัวอ่อนของลิงแต่ก็ล้มเหลว ทั้งนี้ เซลล์ต้นกำเนิดถือเป็นเซลล์สำคัญที่สามารถแปลงรูปไปเป็นเซลล์ที่มีความจำเพาะตามความต้องการของร่างกายได้
สำหรับเซลล์ต้นกำเนิดของตัวอ่อนที่ทีมวิจัยพยายามพัฒนาและยังไม่ประสบความสำเร็จ คือ เซลล์ต้นกำเนิดพลูริโพเทนซี (pluripotency) ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นเนื้อเยื่อชนิดใดๆ ในร่างกายก็ได้ แต่ไม่อาจกลายเป็นสัตว์ทั้งตัวได้ โดยสิ่งที่ทีมวิจัยทำได้คือการผลิตลิงชิเมอรัสโดยผสมเซลล์จากตัวอ่อนในระยะที่ยังเป็นเซลล์ต้นกำเนิดโททิโพเทนต์ (totipotent) ซึ่งสามารถเจริญไปเป็นสัตว์ได้ทั้งตัวหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่จำเป็นต่อชีวิต
ดร.มิตาลิพอฟกล่าวว่า ตัวอ่อนของสัตว์ตระกูลไพรเมทมีกลไกป้องกันเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนจากการเพาะเลี้ยงไม่ให้รวมตัวกันเหมือนที่ทำในหนู และการศึกษายังพบด้วยว่า การเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนของสัตว์ไพรเมทและมนุษย์ โดยที่บางเซลล์ถูกเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการนานถึง 2 ทศวรรษนั้น อาจไม่มีศักยภาพเหมือนที่พบในเซลล์ต้นกำเนิดที่สดใหม่
ศ.โรบิน โลเวลล์-แบดจ์ (Prof. Robin Lovell-Badge) จากสถาบันวิจัยทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งสหราชอาณาจักร (National Institute for Medical Research) ผู้ไม่มีส่วนร่วมในงานวิจัยกล่าวถึงการศึกษาครั้งนี้ว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญยิ่ง โดยข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีที่ตัวอ่อนมนุษย์เจริญเติบโตนั้นมักจะอ้างจากพื้นฐานการศึกษาในหนู ซึ่งอาจเป็นข้อสรุปที่อันตรายได้
ศ.โลเวลล์-แบดจ์กล่าวว่าเป็นไปได้ที่เซลล์ต้นกำเนิดพลูริโพเทนต์จากคนและลิงนั้นแตกต่างจากหนูมากๆ โดยงานวิจัยล่าสุดบ่งชี้ว่าวิธีทางชีววิทยาจำกัดความสามารถของเซลล์ในการก่อตัวเป็นเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ในลิงเกิดขึ้นเร็วกว่าพัฒนาการในหนู และเราก็ไม่สามารถจำลองทุกอย่างจากหนูทดลองได้
“หากเราต้องการขยับการบำบัดรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดจากห้องปฏิบัติการไปสู่ระดับคลีนิค และขยับจากหนูมาสู่มนุษย์ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า เซลล์ของลิงไพรเมทเหล่านี้ทำอะไรได้หรือไม่ได้ เราจำเป็นต้องศึกษาเรื่องนี้ในมนุษย์ รวมถึงเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์” ศ.โลเวลล์-แบดจ์อธิบาย แต่เขาเน้นว่าไม่ควรผลิตมนุษย์ไคเมราขึ้นมาอย่างเด็ดขาด
เราสามารถใช้ลิงไคเมราเพื่อทำความเข้าใจบทบาทของยีนที่จำเพาะในการพัฒนาของตัวอ่อนได้รวมถึงกลไกการพัฒนาของเซลล์ทั้งหมดได้ และการบำบัดด้วยเซลล์ต้นกำเนิดนี้จะให้ความหวังในการทดแทนเซลล์ประสาทที่เสียหายแก่ผู้ป่วยที่มีอาการไขสันหลังอักเสบ รวมถึงกรณีการสูญเสียเซลล์สมองของผู้ป่วยพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) ด้วย
คลิปเผยโฉมลิงชิเมอรัส 2 ตัว
Roku and Hex from OHSU News on Vimeo.