xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...เราใช้ “แผ่นดวง” หาตำแหน่งดาวเคราะห์ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผ่นทำนายดวงจากหนังสือพิมพ์แผ่นนี้ ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวแกะ ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต และดาวศุกร์อยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล
คืนนี้อยากรู้ว่า “ดาวนายพราน” อยู่ตรงไหนก็หมุนหาจาก “แผนที่ดาว” ซึ่งบอกตำแหน่งดาวฤกษ์บนท้องฟ้าได้ แล้วถ้าอยากดูว่าดาวเคราะห์เพื่อนบ้านของเรานั้นอยู่ตรงไหนท้องฟ้า? เราจะทำอย่างไร? สมัยนี้มีทั้งซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันบน “สมาร์ทโฟน” มากมายที่ช่วยเราได้ แต่ถ้าใครอยากใช้วิธีพื้นๆ ลองใช้ “แผ่นดวง” สำหรับทำนายชะตาชีวิตเป็นตัวช่วย

เคล็ดลับนี้ถ่ายทอดโดย แสงแรก ชลศรานนท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ ศูนย์สังเกตการณ์โลกและอวกาศเพื่อการเรียนรู้ (ลีซา) ซึ่งบอกว่า ดาวฤกษ์นั้นมีตำแหน่งคงที่ ไม่เคลื่อนไปไหน เห็นเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่สามารถลากเส้นเป็นรูปกลุ่มดาวได้ อีกทั้งขึ้นและตกจากท้องฟ้าไปพร้อมๆ กัน แต่บนท้องฟ้ามีวัตถุอยู่ 7 ดวงที่ไม่มีกลุ่มดาว และพเนจรไปในท้องฟ้า นั่นคือ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ เรียงเป็นวันในสัปดาห์ ซึ่งไม่นับรวมโลกและดาวเคราะห์อีก 2 ดวงที่มองไม่เห็นคือดาวเนปจูนและดาวยูเรนัส

“วิธีง่ายที่สุดในการหาตำแหน่งดาวเคราะห์คือใช้ซอฟต์แวร์ เช่น สเตลลาเรียม (Stellarium) เดอะสกาย (The Sky) หรือ สตาร์รีไนท์ (Starry night) และเดี๋ยวนี้ก็มีแอปฯ ดูดาวในไอโฟน ไอแพด ฯลฯ หรืออาจใช้ “หนังสือดูดาว” ที่มีข้อมูลว่าดาวเคราะห์แต่ละดวงนั้นอยู่ในกลุ่มดาวไหน ซึ่งมีข้อมูลยาวนับสิบปี แต่สุดท้ายถ้าจนมุมจริงๆ ก็ใช้ “แผ่นดวง” ในหน้าทำนายดวงของหนังสือพิมพ์ดู ซึ่งมีวิธีที่จะแปลงข้อมูลในแผ่นดวงนั้นกลับเป็นแผนที่ดาวเคราะห์ได้” แสงแรกระบุ

แสงแรกบอกว่ามีกลุ่มดาวบนท้องฟ้าอยู่ 88 กลุ่ม แต่วัตถุทั้ง 7 ดวงที่เราสนใจ ซึ่งมีทั้งดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ในระบบสุริยะและดวงจันทร์ของโลกนั้นจะโคจรรอบดาวฤกษ์ 12 กลุ่มดาวเท่านั้นและถูกจัดให้เป็นกลุ่มดาวจักราศี โดยสมัยก่อนนั้นเราดูดาวเพื่อทำนายฤดูกาล เพื่อเตรียมเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ส่วนการทำนายอย่างอื่นนั้นตามมาทีหลัง สำหรับแผนที่ดาวที่ใช้ดูดาวฤกษ์นั้นตรงกลางคือ “ดาวเหนือ” ซึ่งเป็นศูนย์กลางให้กลุ่มดาว 88 กลุ่มโคจรรอบ แต่ในทางโหราศาสตร์หรือการดูดาวเพื่อทำนายฤดูกาลนั้นสนใจวัตถุเพียง 7 ดวง กับกลุ่มดาวจักราศีเท่านั้น

ในแผ่นดวงจะมีช่องว่างทั้งหมด 12 ช่อง (ไม่นับช่องกลาง) แต่ละช่องแทนกลุ่มดาวจักราศี 1 กลุ่ม โดยช่องบนสุด คือ “กลุ่มดาวแกะ” แห่งราศีเมษ จากนั้นดูแบบทวนเข็มนาฬิกาจะได้ “กลุ่มดาววัว” แห่งราศีพฤษภ ถัดไปเป็นกลุ่มดาวคนคู่แห่งราศีเมถุน เรียงกันไปตามลำดับข้างล่าง ดังนี้ (ทวนเข็มนาฬิกา)
กลุ่มดาวแกะ ราศีเมษ
กลุ่มดาววัว ราศีพฤษภ
กลุ่มดาวคนคู่ ราศีมิถุน หรือ เมถุน
กลุ่มดาวปู ราศีกรกฎ
กลุ่มดาวสิงโต ราศีสิงห์
กลุ่มดาวหญิงสาว ราศีกันย์
กลุ่มดาวคันชั่ง ราศีตุล
กลุ่มดาวแมงป่อง ราศีพิจิก
กลุ่มดาวคนยิงธนู ราศีธนู
กลุ่มดาวแพะทะเล ราศีมกร
กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ราศีกุมภ์
กลุ่มดาวปลา ราศีมีน

ส่วนตัวเลขในช่องแทนดาวเคราะห์ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เรียงตามวันในสัปดาห์ ดังนี้
1 - ดวงอาทิตย์
2 - ดวงจันทร์
3 – ดาวอังคาร
4 – ดาวพุธ
5 – ดาวพฤหัสบดี
6 – ดาวศุกร์
7 – ดาวเสาร์
8 - ไม่เกี่ยวกับทางดาราศาสตร์
9 - ไม่เกี่ยวกับทางดาราศาสตร์
0 - ไม่เกี่ยวกับทางดาราศาสตร์

“เลขไหนอยู่ช่องไหน ก็คือดาวเคราะห์นั้นอยู่กลุ่มดาวนั้นครับ แต่วิธีนี้ไม่ค่อยแนะนำ เพราะมันคร่าวๆมาก ถ้ามีซอฟท์แวร์ดูดาว ก็แนะนำให้ใช้ซอฟต์แวร์ดูดาวครับ ถ้าดูดาวอยู่ประจำเราจะติดตามทันว่าตอนนี้ดาวเคราะห์นั้นอยู่กลุ่มดาวไหนแล้ว อ้างอิงจากการดูดาวครั้งก่อน โดยเฉพาะดาวเสาร์ ไม่ไปไหนเลย ดาวพฤหัสจะเคลื่อนไปตามจักราศีปีละกลุ่มดาวตามการโคจร 12 ปีรอบดวงอาทิตย์ สำหรับดาวศุกร์ ดาวพุธ ช่วงไหนโผล่ตอนเช้าก็จะเห็นตอนเช้าไปเลยช่วงหนึ่ง ช่วงไหนโผล่ตอนเย็นก็เช่นกันจะโผล่ตอนเย็นไปพักหนึ่งเลย ส่วนดาวอังคารต้องติดตามหน่อย เปลี่ยนกลุ่มดาวเร็วเหมือนกันอยู่” แสงแรกกล่าว
แสงแรก ชลศรานนท์
กำลังโหลดความคิดเห็น