xs
xsm
sm
md
lg

มก.รับทุนวิจัย “สบู่ดำ” ลดสารพิษ-เพิ่มผลผลิต-ทนน้ำท่วม 20 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำมันและเมล็ดสบู่ดำ
“สบู่ดำ” ยังคงเป็นพืชพลังงานที่น่าจะมีอนาคตต่อไปได้ไกล และหากจัดการข้อเสียทั้งเรื่องผลผลิตต่ำ ไม่ทนน้ำท่วม มีสารพิษได้แล้ว จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลที่สำคัญและไม่แย่งตลาดอาหาร ล่าสุดนักวิจัย มก.รับทุนวิจัย 20 ล้านจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อพัฒนาพืชชนิดนี้ให้เป็นอีกแหล่งพลังงานที่พึ่งพิงได้

ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ อาจารย์และนักวิจัยจากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับทุนในโครงการ NSTDA Chair Professor จำนวน 20 ล้านบาทเพื่อวิจัยและพัฒนาสบูดำสายพันธ์ใหม่สำหรับเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกและอาหารสัตว์ในระยะเวลา 5 ปี โดยเขาเผยว่าสนใจทำงานวิจัยนี้เพราะเคยมีพระราชดำรัสเมื่อปี 2550 เกี่ยวกับการผลิตไบโอดีเซลด้วยสบู่ดำ ว่าพืชพลังงานนี้ให้ผลผลิตมากกว่าปาล์มน้ำมันและยังเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ใน 1 ปี

นักวิจัย มก.กล่าวว่า ข้อดีของสบู่ดำคือ 1.ไม่ใช่พืชอาหาร ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างแล้วการนำน้ำมันปาล์มมาใช้ผลิตพลังงานนั้นทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน 2.มีกรดไขมันที่เหมาะสมในการทำไบโอดีเซลมากกว่าน้ำมันปาล์ม และยังเป็นน้ำมันที่ใช้ในรถให้บริการสาธารณะ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ได้มากกว่าการผลิตน้ำมันสำหรับรถส่วนบุคคล แต่ข้อเสียของสบู่ดำคือ ให้ผลผลิตต่ำเพียง 300 กิโลกรัมต่อไร่ มีสารพิษสูงทำให้ไม่สามารถนำกากไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้ มีผลสุกและแก่ในระยะเวลาไม่เท่ากัน ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมๆ กัน และยังไม่ทนน้ำท่วม เมื่อเจอเพียงน้ำขังแฉะๆ ก็ตาย

“เราต้องแก้ไขด้วยการผสมข้ามพันธุ์เพื่อลดข้อเสีย ซึ่งมีทั้งการผสมข้ามชนิด เช่น ผสมกับสบู่แดง เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ทนฝน และผสมข้ามสกุล เช่น ผสมกับละหุ่ง เพื่อให้ออกดอกเป็นช่อง่ายต่อการเก็บเกี่ยว เป็นต้น” ศ.ดร.พีระศักดิ์กล่าว พร้อมทั้งคาดว่าจะได้สบู่ดำที่มีสารพิษต่ำ ซึ่งจะทำให้นำกากที่เหลือจากการหีบน้ำมันไปใช้เลี้ยงสัตว์ได้ โดยเชื่อว่าสัตว์จำพวกปลาจะกิน และหากทำสำเร็จจะช่วยลดการนำเข้ากากถั่วเหลืองที่ไทยนำเข้าถึงปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งทดแทนเพียง 5% ก็ลดค่าใช้จ่ายได้ 500 ล้านบาทแล้ว

ทั้งนี้ ศ.ดร.พีระศักดิ์ มีความเชี่ยวชาญในการปรับปรุงพันธุ์ถั่ว ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถึงความเหมือนและความแตกต่างเมื่อเทียบกับการพัฒนาสบู่ดำ ในด้านความเหมือนนั้นมีบางเทคโนโลยีที่ใช้ร่วมกันได้ เช่น เทคโนโลยีเครื่องหมายทางพันธุกรรม (molecular marker) การคัดเลือกพันธุ์ เป็นต้น ส่วนความต่างคือสบู่ดำเป็นไม้ยืนต้น แต่ถั่วเป็นพืชล้มลุก ซึ่งตอนนี้ทีมวิจัยยืนอยู่บนทางสองแพร่งว่าจะตัดสินใจพัฒนาสบู่ดำให้เป็นไม้ยืนต้นต่อไปหรือให้พืชล้มลุก

“หากพัฒนาให้เป็นไม้ยืนต้นจะมีข้อดีที่สามารถเก็บผลผลิตได้เรื่อยๆ และเหมาะแก่การปลูกตามหัวไร่ปลายนา แต่ก็ยังไม่ทราบว่าเมื่อปล่อยให้โตเรื่อยแล้วผลผลิตจะลดลงหรือไม่ และถ้าพัฒนาเป็นพืชล้มลุกก็จำเป็นอุตสาหกรรมได้ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกสบู่ดำคือบริเวณที่เป็นดินลูกรังที่เพาะปลูกพืชอย่างอื่นไม่ได้แล้ว หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนาก็ได้” ศ.ดร.พีระศักดิ์ให้ความเห็น และบอกว่ายังตอบไม่ได้ว่าความรู้จากการพัฒนาพืชตระกูลถั่วจะนำมาใช้พัฒนาสบู่ดำได้แค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ใน 3 ปีจากนี้จะพัฒนาสบู่ดำที่ทนท่วมและมีสารพิษน้อยลงได้ ส่วนจะพัฒนาเป็นพืชล้มลุกหรือไม้ยืนต้นนั้นต้องทดลองปลูกเปรียบเทียบกันดู

สำหรับโครงการทุน NSTDA Chair Professor เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้าง “ศาสตราจารย์ผู้นำกลุ่ม” (Chair Professor) ที่ทำหน้าที่ภาควิชาการ พัฒนาและเชื่อมโยงกับภาคการผลิตและบริการ โดยสนับสนุนและปลักดันนักวิจัยที่มีความสามารถให้ทำวิจัยและผลิตผลงานที่สามารถเชื่อมโยงสู่การใช้งานจริงได้ โดยมีการมอบทุนครั้งแรกเมื่อปี 2552 แก่ ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในโครงการออกแบบและผลิตวัสดุนาโนที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม
ต้นสบู่ดำ
ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์
ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์  รับทุนจาก ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (ขวา) ประธานมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
กำลังโหลดความคิดเห็น