xs
xsm
sm
md
lg

มข.ปรับปรุง "ฟักข้าว" ตั้งเป้าได้พันธุ์มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พัชริน และผลฟักข้าว
มข.-“ฟักข้าว” เป็นพืชที่มีศักยภาพสูงสำหรับการเป็นพืชเพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีคุณค่าทางสารอาหารและมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง โดยมีรายงานของต่างประเทศว่า ในเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวนั้น มีปริมาณเบตาแคโรทีน มากกว่าแครอท 10 เท่า และมีสารไลโคพีนมากกว่ามะเขือเทศ 70 เท่า นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สารไลโคพีนจากเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งต่อลูกหมาก

สำหรับฟักข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยพบว่า มีปริมาณสารไลโคพีนมากกว่ามะเขือเทศเพียง 12 เท่า ด้วยเหตุนี้ ดร.พัชริน ส่งศรี อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ฟักข้าวให้มีปริมาณสารไลโคพีน และเบต้าแคโรทีนในเยื่อหุ้มเมล็ดสูง และมีผลผลิตของเยื่อหุ้มเมล็ดสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้วัตถุดิบที่จะนำมามาแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพมีคุณภาพสูง เนื่องจากฟักข้าวมีคุณค่าทางสารอาหารและมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง

โครงการนี้อยู่ภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์วิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยศาสตราจารย์ดีเด่น ศ.ดร.อารันต์ พัฒโนทัย ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดร. พัชริน เปิดเผยว่า ได้มีการดำเนินงานวิจัยนี้มาแล้วกว่า 3 ปี เบื้องต้นได้คัดเลือกต้นพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีความแตกต่างกันของแหล่งที่มาสายพันธุ์ฟักข้าวทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 100 สายพันธุ์ เพื่อสร้างลูกผสม เพื่อดูความแตกต่างทั้งทางสายพันธุ์และพื้นที่ปลูกว่าสายพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์แล้วจะมีปริมาณสานไลโคพีนและเบตาแคโรทีน รวมทั้งมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้คาดว่าภายในอีก 2 ปี จะได้สายพันธุ์ฟักข้าวใหม่ตามที่ตั้งเป้าไว้

“เมื่อเสร็จงานวิจัยนี้แล้วจะได้พันธุ์ฟักข้าวที่มีผลผลิต และสารไลโคพีน และเบตาแคโรทีนสูง รวมทั้งจะทำให้ทราบข้อมูลด้านการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่ต่างกันต่อปริมาณสารไลโคพีน และเบตาแคโรทีน รวมทั้งข้อมูลด้านพันธุกรรมการถ่ายทอดอันจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาฟักข้าวพันธุ์ดีสำหรับแนะนำเกษตรกรต่อไป” ดร.พัชริน กล่าว

นอกจากนี้ ดร. พัชริน ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาพันธุ์ฟักข้าวครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรมีการผลิตวัตถุดิบคุณภาพสูงให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปฟักข้าว เนื่องจากความคงที่ของปริมาณสาระสำคัญที่ควบคุมด้วยพันธุกรรมพืชนั้น จะทำให้การผลิตในปริมาณมากระดับอุตสาหกรรมมีความสม่ำเสมอในการผลิต และแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้ด้วย

อย่างไรก็ดี ทางทีมผู้วิจัยยังได้ดำเนินการวิจัยแบบบูรณาการร่วมกับนักวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ เทคโนโลยีอาหารและวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ในฟักข้าวอีกด้วย เบื้องต้นนำไปแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างง่าย อาทิ วุ้น น้ำผลไม้รวม ฯลฯ

ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟักข้าว สอบถามรายละเอียดได้ที่ ดร. พัชริน ส่งศรี อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.043-203055, 043-364637, 081-5441325 หรือ email: patcharinso@kku.ac.th
ฟักข้าว
กำลังโหลดความคิดเห็น