xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแอนิเมชันวิทยาศาสตร์ไทยสู้ “มนต์ดำ” เรื่องแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไซน์คิดส์ แอนิเมชันวิทยาศาสตร์ไทยเรื่องแรก
ณ ป่าหรรษา มี อาร์วี่ จัมโบ้ ทอดด์ รับบี้ และฟร็อกกี้ ผู้สนใจใฝ่รู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์และจะคอยให้ความรู้แก่เพื่อนๆ ในป่าอยู่เสมอ แต่แล้วก็มี แพนโด้ หัวหน้ากลุ่มแบล็คเมจิกร่วมมือกับแคทช่าและชิปปี้แฝงตัวเข้ามาสร้างเหตุการณ์ลึกลับให้สัตว์ป่าหวาดกลัวและยอมเชื่อฟังตามแนวทางบูชาเทพเจ้าและไสยศาสตร์ เพื่อที่เขาจะได้เป็นผู้นำของป่าแห่งนี้ อาร์วี่และสหายจึงรวมกลุ่มเป็น “ไซน์คิดส์” เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าปรากฏการณ์ประหลาดนั้นมีเหตุผลอธิบายได้

การต่อสู้ด้วยความรู้ของ “อาร์วี่” และสหายเพื่อต่อต้านมนต์ดำจากกลุ่มแบล็คเมจิกของ “แพนโด้” คือเรื่องราวของแอนิเมชันวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กเรื่อง “ไซน์คิดส์ พิชิตปริศนา” (Science Kids) เรื่องแรกของไทย ที่มีกำหนดฉายวันแรกในวันเสาร์ที่ 3 ธ.ค.54 เวลา 06.50-07.00 น.ทางช่องไทยพีบีเอส ซึ่งผลิตขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันส่งเสริมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และบริษัท วิธิตา แอนิเมชั่นจำกัด โดยฉายทั้งหมด 26 ตอน ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าร่วมในงานเปิดตัวแอนิเมชันดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 พ.ย.54 ณ อุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค เซ็นทรัลเวิลด์

รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานกรรมการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า สสวท.ก่อตั้งมา 40 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในช่วงเริ่มต้นได้สนับสนุนเรื่องตำราเรียน สื่ออุปกรณ์การเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ผลระยะหนึ่ง แต่ก็ได้ค้นพบว่าสังคมไทยนั้นไม่ค่อยเข้าใจวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เท่าไรนัก ตัวอย่างภัยพิบัติล่าสุดที่เกิดขึ้นนั้นนอกจากเป็นเรื่องเศร้าแล้ว ยังเศร้าหนักขึ้นไปอีกเมื่อพบว่าคนไทยไม่เข้าใจปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภับยพิบัติได้

“วิธีแก้ปัญหาคือสอนให้เด็กเข้าใจปัญหาและลดผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ สสวท.จึงพยายามหาวิธีให้เด็กได้เติบโตบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ การทำการ์ตูนทำให้เด็กเข้าใจวิทยาศาสตร์ เข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีคำอธิบายและเหตุผล คิดว่าแอนิเมชันนี้จะเป็นสื่อให้เด็กเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณติศาสตร์ที่ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิต รู้สึกขึ้นจากภายในว่าการอยู่ในโลกสมัยใหม่ต้องใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน ไม่ว่าในอนาคตจะประกอบอาชีพอะไร” รศ.ดร.ธัชชัยกล่าว
(ซ้ายไปขวา) พิธีกรดำเนินการเสวนา, ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร, นายเทพชัย หย่อง และ นายสันติ เลาหบูรณะกิจ ระหว่างแถลงข่าว
ทางด้าน ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท.กล่าวว่า จากประสบการณ์ 30-40 ปีของสสวท. ทำให้เห็นว่าการขับเคลื่อนให้สังคมเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างสนุกสนานเป็นเรื่องจำเป็นที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนได้ ทั้งนี้ ทาง สสวท.ได้ทดลองจัดค่ายและมีละครวิทยาศาสตร์ที่เป็นต้นแบบของแอนิเมชัน ไซน์คิดส์ ซึ่งทั้งเด็กๆ ครูและผู้ปกครองต่างสนุกสนาน แต่การฝึกให้คนเป็นตัวละครตามที่ต้องการนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเกิดแนวคิดถ่ายทอดบุคลิกของตัวละครให้เป็นตัวการ์ตูน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างได้ผลและไม่เป็นการบังคับ

“แล้วใครควรจะเป็นผู้ถ่ายทอดตัวละครเหล่านี้เราก็นึกถึงวิธิตา ซึ่งเคยเห็นแอนิเมชันปังปอนด์ที่เด็กๆ ชื่นชอบ ส่วนการเลือกสรรเนื้อหาวิทยาศาสตร์ในแอนิเมชันนั้น เราเลือกปรากฏการณ์และสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่งมีเนื้อหาที่หลากหลาย ทั้ง เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ ซึ่งต้องตามดู เพราะถ้าพูดถึงตอนนี้คงไม่เข้าใจ และยังมีซีรีส์ต่อจากนี้ที่จะใช้ตัวละครชุดเดิมซึ่งจะนำเสนอในเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ดร.พรพรรณกล่าว

ทางด้าน นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. (Thai PBS) กล่าวถึงเหตุผลในการเลือกแอนิเมชันเรื่องนี้มาฉายทางไทยพีบีเอสว่า โดยส่วนตัวแล้วหากถามเขาเมื่อ 40 ปีก่อนเขาจะบอกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อที่สุด แต่วันนี้ดีใจที่ความรู้สึกต่อวิชานี้เปลี่ยนไป วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ แต่วิธีการสอนที่ผ่านมาทำให้เป็นเรื่องไกลตัวและทุกข์ทรมาน แต่วิธีการนำเสนอของแอนิเมชันทำให้วิทยาศาสตร์มีชีวิตชีวา และยังสะท้อนความจริงของสังคมในปัจจุบัน ที่มีการสร้างมนต์ดำและข่าวลือเหมือนกลุ่มแบล็คเมจิก ขณะเดียวกันก็มีคนอย่างกลุ่ม ไซน์คิดส์ ที่พยายามหาคำตอบและความจริงอย่างมีเหตุผล

“หากแต่ปัญหาคือคนไทยไม่ชอบค้นหาความจริง ไปเชื่อกุ่มแบล็คเมจิกเสียมากกว่า ทำให้สังคมวุ่นวายอย่างนี้ จากแอนิเมชันเรื่องนี้จะปลูกฝังให้เด็กๆ มีคำถามต่อเรื่องใกล้ตัว เมื่อมีคำถามในเรื่องใกล้ตัวแล้วเขาก็จะมีคำถามต่อสิ่งไกลตัวมาก และเขาก็จะรู้จักค้นหาคำตอบของปัญหาในปัจจุบันที่เกิดขึ้น” นายเทพชัยกล่าว พร้อมให้ความเห็นต่อช่วงเวลาฉายแอนิเมชันที่มีคำถามว่าเช้าเกินไปหรือไม่ ซึ่งเขาระบุว่าเด็กๆ มักไม่ชอบตื่นเช้าในวันไปโรงเรียน แต่ในวันหยุดที่มีการ์ตูนเด็กๆ จะลุกขึ้นมาดูแต่เช้า อีกทั้งช่วงเวาดังกล่วยังเป็นช่วงเวลาให้ครอบครัวได้เรียนรู้ร่วมกันด้วย

ส่วนนายสันติ เลาหบูรณะกิจ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ในฐานะผู้สร้างแอนิเมชัน 3 มิติเรื่องนี้กล่าวยอมรับว่าเมื่อได้รับงานเรื่องนี้รู้สึกหนักใจ เพราะตอนเด็กๆ วิทยาศาสตร์สำหรับเขาเป็นเหมือนยาขม ไกลตัวและน่าเบื่อ แต่โชคดีว่าทาง สสวท.มีกลุ่มนักวิชาการที่พยายามทำละครเรื่องนี้อยู่แล้ว การสร้างแอนิเมชันเรื่องนี้จึงไม่ได้เริ่มจากความว่างเปล่า สิ่งที่ทีมงานทำเพิ่มขึ้นมาคือการตั้งสถานที่ในเรื่อง ทำบทให้สนุกขึ้น

“เราอยู่กับโครงการนี้มา 1 ปี การสร้างแอนิเมชันแต่ละฉากนั้นต้องใช้เวลา แต่ในช่วงแรกๆ ที่ทำเสร็จแล้วปรากฏว่าไม่ถูกต้องตามหลักการที่นักวิทยาศาสตร์ทักท้วงจึงต้องรื้อและทำใหม่อยู่บ่อยๆ ทำจนรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์สนุก ตอนแรกอาจจะโกรธบ้าง เพราะทำแล้วทิ้งๆ แต่ยิ่งทำก็ยิ่งรักมันมากขึ้น ถ้าไม่มีโครงการนี้เราก็คงเน้นทำแค่การ์ตูนสนุกๆ แต่การ์ตูนเรื่องนี้มีจุดประสงค์ นอกจากฮาและสนุกแล้ว โดยไม่รู้ตัวเราจะได้หลักการพื้นฐานวิทยาศาสตร์หลายอย่าง” สันติกล่าว
มาสคอตแพนโด้ ตัวแทนจากกลุ่มแบล็คเมจิก
อาร์วี่และทอดด์ ตัวแทนจากกลุ่มไซน์คิดส์

อาร์วี่ ผู้รอบรู้ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ รักการอ่าน ทำให้เป็นคนที่มีความรู้รอบตัวเยอะ มีความเป้นผู้นำสูง หัวหน้ากลุ่มไซน์คิดส์
ฟร็อกกี้ ไม่สนใจคนอื่น ชอบคิดแต่เรื่องตัวเอง รักสวยรักงาม มองแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง แต่รักเพื่อนทุกคน
ทอดด์ สุภาพ เชื่องช้า และอืดอาด เป็นสัญลักษณ์แทนความใจเย็น ไม่กระตือรอืร้นอะไรทั้งสิ้น ชอบเรื่องเทคโนโลยี สามารถนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาได้
รับบี้ มีนิสัยตื่นตระหนกกับทุกเรื่อง ทุกเหตุการณ์ เป็นสัญลักษณ์แทนมนุษย์ที่มักตื่นตระหนกมากกว่าสงสัย
โพล ผู้สนใจสิ่งแวดล้อม รักธรรมชาติ สายลมและแสงแดด
จัมโบ้ เจ้าปัญหา ชอบซักถามจนกว่าจะหายสงสัย เมื่อมีปัญหาก็จะพยายามหาคำตอบให้ได้จนหมด
แพนโด้ ชอบโอ้อวด ชอบให้คนอื่นเคารพนบนอบ ชอบเรื่องเหนือธรรมชาติ ไม่ชอบอากาศร้อน
แคทช่า สุขุม ขี้อิจฉา ชอบวางแผน รักสวยรักงาม ไม่ชอบน้ำ
ชิปปี้ ชอบโวยวาย มุทะลุ ไม่ชอบอยู่นิ่ง กระตือรือร้นตลอดเวลา กลัวถั่ว
นกแสก ชอบพรางตัว เป็นตัวคอบสืบข่าว ขี้เซา






ชมคลิปตัวอย่างแอนิเมชัน Science Kids



กำลังโหลดความคิดเห็น