xs
xsm
sm
md
lg

แนะวิธีระวังตัวเองจาก “งู” หนีน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวสต์เทิร์นกรีนแมมบา (บน) เพศผู้ (ล่าง) เพศเมีย
นักวิชาการแนะวิธีป้องกันตัวเองจากงูหนีน้ำท่วม ชี้ภาคกลางมีงูพิษ 2 ชนิด คือ งูเห่าและงูแมวเซา ส่วน “งูกรีนแมมบา” จากแอฟริกาเป็นงูพิษที่เมืองไทยยังไม่มีเซรุ่มและปกติไม่อนุญาตให้นำเข้า ทั้งนี้ วิธีสังเกตงูพิษให้ดูว่ายกหัวฉกหรือไม่ หากเจอให้หนีพ้นระยะฉก โดยงูเป็นสัตว์ขี้อายและจะไม่เข้าทำร้ายคนก่อน ยกเว้นเข้าไปเหยียบหาง

นอกจากจระเข้และไฟดูดซึ่งเป็นภัยที่ไหลมาตามน้ำท่วมแล้ว “งูพิษ” ก็เป็นอีกภัยที่สร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้คน โดยล่าสุด จส.100 ได้แจ้งเตือนว่ามีงูเขียวกรีนแมมบา (green mamba) งูจากแอฟริกาหลุดจากกรงขังในย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี จำนวน 15 ตัว โดยในจำนวนนั้น 2 ตัวเป็นงูตัวพ่อแม่ที่มีลำตัวยาวถึง 2 เมตร และลูกอีก 13 ตัวยาว 1 เมตร โดยไทยยังไม่มีเซรุ่มลักษณะพิษงูชนิดนี้ หากพบเจอให้โทรแจ้ง 1362

ทางด้าน นายสัญชัย เมฆฉาย นักวิชาการด้านสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่างูกรีนแมมบานั้นเป็นงูมีพิษร้ายแรงที่ไทยยังไม่มีเซรุ่มรักษา และปกติจะไม่อนุญาตให้นำเข้างูชนิดนี้ โดยลักษณะของงูนั้นจะคล้ายกับงูสิงห์แต่จะยกหัวเตรียมฉกได้ ลำตัวค่อนข้างยาว ชูคอแผ่แม่เบี้ยได้นิดหน่อย เลื้อยเร็ว งูชนิดเป็นงูทะเลทรายซึ่งเขายังไม่เคยเห็นว่าลักษณะการว่ายน้ำของงูชนิดนี้เป็นอย่างไร

ลักษณะการว่ายน้ำของงูบกนั้นจะว่ายลอยๆ บนผิวน้ำ ส่วนงูน้ำนั้นจะดำน้ำได้ เช่น กรณีของงูงวงช้าง ซึ่งเป็นงูน้ำที่ไม่พิษ เป็นต้น สำหรับงูพิษที่พบในภาคกลางคือ งูเห่า และในบริเวณที่อยู่ใกล้ทุ่งนาจะพบงูแมวเซาซึ่งเป็นงูพิษอีกชนิดหนึ่ง ส่วนงูชนิดอื่นๆ นั้นเป็นงูไม่พิษ ทั้งนี้ หากเจองูให้อยู่ห่างๆ เพราะปกติงูเป็นสัตว์ขี้อายและไม่พุ่งเข้าทำร้ายคน ยกเว้นไปเหยียบหางงู แม้กระทั่งงูพิษก็จะหลบคน และวิธีสังเกตงูพิษนั้นสัญชัยบอกว่าให้ดูลักษณะการแผ่แม่เบี้ย ซึ่งเป็นลักษณะของงูมีพิษ ดังนั้น อย่าเข้าใกล้ พยายามอยู่ห่างๆ ไว้ และให้แจ้งเจ้าหน้าที่

ถ้าในกรณีอยู่ในที่มืดก็ให้คอยสอดส่องและระวังการก้าวเดิน เพราะปกติงูจะนอนขดตัว ส่วนกรณีที่งูว่ายหนีน้ำก็จะไม่ปีนขึ้นมาบนเรือ โดยปกติงูจะรับรู้กลิ่นจากสารเคมีที่สัมผัสได้ขณะแลบลิ้น ซึ่งงูจะได้กลิ่นคนและไม่เข้าใกล้ งูไม่เข้ามาโจมตีเราแน่นอน สำหรับงูทะเลทราย (งูกรีนแมมบา) นั้นจะเลื้อยเร็ว ลักษณะตัวยาว แต่ลักษณะการว่ายน้ำไม่สามารถบอกได้ว่ามีพิษ จะดูได้ตอนจะฉก ซึ่งเป็นการขู่ ถ้าไม่เข้าระยะฉกก็ไม่ทำอันตราย โดยปกติงูจะยกหัวฉกเป็นความยาว 1 ใน 3 ของความยาวตัว อย่างงูจงอางยกได้ 1 เมตรก็ฉกได้ 1 เมตร แต่งูจงอางนั้นเป็นงูป่า” นายสัญชัยกล่าว

สำหรับกรณีเซรุ่มแก้พิษนั้นนายสัญชัยกล่าวว่าต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ ในการผลิต โดยจะรีดพิษจากงูและนำไปฉีดให้ม้าทีละน้อยๆ เพื่อให้ม้าสร้างภูมิต้านทาน จากนั้นจึงนำเลือดม้าไปผลิตเป็นเซรุ่ม ทั้งนี้ หากถูกงูพิษฉกให้พยายามรีดพิษออกจากให้มากที่สุด และพยายามจดจำลักษณะงู ซึ่งหากไม่ทราบว่าเป็นงูพิษชนิดใด แพทย์จะรอดูอาการก่อนฉีดเซรุ่ม เพราะหากฉีดเซรุ่มโดยไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นงูพิษชนิดใดจะเป็นการเพิ่มพิษงูให้แก่ผู้ป่วย สำหรับกรณีงูเห่านั้นต้องไปพบแพทย์ในเวลา 1-2 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี นายสัญชัยกล่าวว่าสิ่งที่อันตรายกว่างู คือ ตะขาบและแมงป่อง เพราะมีอยู่เยอะและวิ่งไปทั่ว อันตรายของสัตว์ประเภทนี้อยู่ที่ระดับความแพ้ของแต่ละคน และไม่มีเซรุ่มสำหรับแก้พิษสัตว์เหล่านี้ ถ้าแพ้พิษมากก็จะมีอาการหนัก ดังนั้น บริเวณใดที่รกๆ ก็อย่าเข้าไป ในกรณีของน้ำท่วม สัตว์เหล่านี้จะหนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามที่ดอน และไปอยู่รวมกัน หากไม่มีที่ดอนก็จะอยู่ตามบ้าน ตามกองผ้าหรือที่รกๆ ดังนั้น เวลาจะใช้ผ้าให้สะบัดก่อนใช้
อีสเทิร์นกรีนแมมบา
ชาวนาสุโขทัยจับงูสิงห์ซึ่งเป็นงูไม่มีพิษ (ภาพข่าวภูมิภาค)
คลิปสารคดีงูกรีนแมมบา


กำลังโหลดความคิดเห็น