xs
xsm
sm
md
lg

กระแสข่าวลือน้ำท่วมทะลักล้น ความวิตกจริตสำลักเกินจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แน่นอนว่า ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดหรือต้องการประสบพบเจอ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง ซึ่ง ณ เวลานี้สถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมในประเทศไทยก็กำลังดำเนินมาถึงช่วงที่วิกฤต หลายๆ พื้นที่ เช่น ลพบุรี อยุธยา นครสวรรค์ก็ได้กลายเป็นเมืองบาดาลอย่างเกือบจะสมบูรณ์ และกรุงเทพมหานครกับปริมณฑลก็ได้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยไปแล้ว

สถานการณ์เช่นนี้ ส่งผลให้คนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยก็ต้องดำเนินชีวิตไปด้วยความยากลำบาก ส่วนคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็เต็มไปด้วยความความกลัวและวิตกกังวล สิ่งที่ตามมาก็คือ ผู้คนในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดได้หันมาสนใจข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติครั้งนี้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องดีเพราะข้อมูลเหล่านั้นจะช่วยให้คนในพื้นที่เสี่ยงเตรียมพร้อมรับกับเภทภัยที่กำลังจะมาถึง

แต่ท่ามกลางกระแสของข้อมูลข่าวสารที่ทะลักล้น มันกลับทั้งเรื่องที่จริงและไม่จริงผสมปนเปกันจนทำให้บางครั้งผู้คนเกิดความวิตกจริตเกินความจำเป็น

อาจกล่าวได้ว่าผู้คนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริโภคข้อมูลที่ทั้งจริงและไม่จริงจนสำลักไปหมดแล้ว

ถอยออกมามองปรากฏการณ์ข่าวลือ

“ข่าวลือมันเป็นข้อมูลบางอย่างที่มีทั้งความจริงและไม่จริง มีลักษณะกึ่งเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งคนรับสารนั้น จะต้องมีวิจารณญาณที่จะพิจารณาว่าควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อข่าวนั้นๆ และข่าวลือก็มีลักษณะพิเศษอีกอย่างคือคนจะให้ความสนใจมันมากกว่าข่าวตามสื่อหลักทั่วไป”

ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงลักษณะของพื้นฐานของข่าวลือ และผลของมัน

“ในสถานการณ์ไม่ปกติอย่างช่วงน้ำท่วมนั้น คนจะสนใจข้อมูลข่าวสารมากเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็อาจจะไม่สนใจเท่าใดนัก นั่นเพราะมันเกี่ยวพันโดยตรงกับตัวผู้รับข่าว มันใกล้ตัวเข้ามามากขึ้น มันมีผลกระทบกับชีวิตแน่นอน คือพอเกิดภัยที่เข้ามาใกล้ตัว คนจะมองหาสิ่งที่พึ่งพิงได้เพื่อลดความวิตกของตนเอง ข่าวสารก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ ซึ่งข่าวมันก็มีทั้งจริงทั้งลือ แต่ที่ข่าวลือนั้นมันมีมากเพราะคนต้องการหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่นอาจจะมาจากมีคนโทร.มาบอก สมมติว่ามีเพื่อนอยู่นวนคร โทร.มาบอกว่าที่นี่น้ำท่วมแล้ว ข่าวนี้มันก็จะกระจายออกไปทันที ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันแค่น้ำขัง หรือท่วมเพียงแค่ส่วนเดียว แต่คนก็จะเอาไปบอกต่อๆ กันจนกลายเป็นว่า นวนครท่วมไปทั้งหมดแล้ว

“ปัญหาจริงๆ ก็คือคนส่วนใหญ่ไม่เคยชินกับการเกิดน้ำท่วม เมื่อมันเกิดขึ้นย่อมเกิดอาการวิตกจริตเป็นธรรมดา เราขาดข้อมูลในการรับมือ อย่างที่ญี่ปุ่นคนของเขาเจอแผ่นดินไหวบ่อยๆ คนแต่ละคนจึงมีโนว์ฮาวในการรับมือกับแผ่นดินไหวในตนเอง และการที่ข่าวลือมันแพร่สะพัดไปอย่างรุนแรงนั้นก็เกิดจาก การที่ทุกคนก็อยากรู้เรื่องราวต่างๆ ให้ได้มากที่สุด”

และอีกเหตุผลหนึ่งที่ศาสวัตมองว่า เป็นตัวเร่งที่ทำให้ข่าวลือในยุคปัจจุบันเร็วและแรงขึ้นก็คือลักษณะของสื่อที่เปลี่ยนไปสู่ยุดดิจิตอล

“คือเมื่อสื่อมันเปลี่ยนไป พฤติกรรมการเสพสื่อคนก็เปลี่ยนตาม วิจารณญาณมันน้อยลง การพิจารณาคุณค่าของข่าวเกิดความผิดพลาด ไม่สนใจแหล่งที่มาของข่าว ว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน แต่จะสนว่าคนที่บอกข่าวมาเป็นใคร สมมติว่าคนที่แชร์ข่าวมา เป็นคนที่มีชื่อเสียงในสังคมสักนิด เราก็พร้อมที่จะเชื่อทันที คิดไปเองว่ามันน่าจะจริง ทั้งๆ ที่คนแชร์เองยังไม่รู้เลยว่ามีความจริงเท็จของข่าวแค่ไหน ซึ่งเหตุการณ์ต่อมาก็จะเกิดการแชร์ต่อๆ ไป เพราะในโลกอินเทอร์เน็ตนั้น มันสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว”

รวดเร็วแต่ไม่อาจเชื่อถือ

ในสมัยก่อนที่คนเรามีสื่อให้เลือกเสพอยู่ไม่กี่อย่าง ดูเหมือนว่าทั้งข่าวจริงข่าวลือจะแพร่กระจายไปอย่างช้าๆ การเสนอข่าวหรือการระดมความช่วยเหลือก็มักจะทำกันผ่านสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์หรือวิทยุ แต่ในปัจจุบันที่ใครๆ ก็มีอินเทอร์เน็ตใช้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไปจากเดิม

จามิกร ผิวละออง ผู้แลหน้าเพจหรือแอดมินิสเตอร์ (administer) ‘พระจอมเกล้าลาดกระบังปันน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม ‘ ก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตในการระดมความช่วยเหลือและกระจายข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติในครั้งนี้ ซึ่งตัวเขาเองนั้นมองว่า อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางชั้นดีที่จะนำมาใช้ในการระดมความช่วยเหลือและกระจายข่าวสาร เพราะมันมีความรวดเร็วคล่องตัวสูง แต่ความรวดเร็วที่ว่าก็กลับกลายมาเป็นจุดอ่อนที่น่ากลัว

“มันจะมีคนกระจายข่าวลือเยอะมากช่วงนี้ แค่คนบอกว่าน้ำน่าจะท่วม ก็กลายเป็นประกาศภัยพิบัติ กลายเป็นประกาศภัยพิบัติขั้นสูงสุด แต่พอเราโพสแก้ข่าว มีคนกระจายการแก้ข่าวของเราไปเร็วมาก ที่ผ่านมา ข่าวลือมันเยอะมาก ผมอยากบอกทุกคนว่า ถ้าจะแจ้งข่าว ต้องดูด้วยว่ามันมีที่มาแน่นอนหรือไม่ ถ้าไม่ก็อย่าเพิ่งโพส มันจะสร้างความแตกตื่น อย่าโพสเพราะได้ยินต่อๆ กันมา อยากให้ชกดูก่อนว่ามีประกาศจริงไหมหรือแค่ข่าวลือ”

ในประเด็นนี้ในเครือข่ายทางสังคมหลายๆ แห่งก็ได้หาวิธีในการแก้ปัญหาเอาไว้ อย่างเช่นที่หน้าเพจ ‘น้ำขึ้นให้รีบบอก’ เฟซบุ๊ก ก็ออกกฎให้การรายงานเหตุการณ์ที่เห็นด้วยตาตนเองนั้นต้องพิมพ์เครื่องหมาย ‘#I’ ไว้หน้าข้อความ ส่วนถ้าเป็นการได้ยินต่อๆ กันมาก็ให้พิมพ์ ‘#N’ ไว้หน้าข้อความแทน ส่วนในเว็บบอร์ดพันทิปนั้น ถ้าหากไม่แน่ใจในข้อมูลก็ต้องวงเล็บไว้หน้าชื่อกระทู้ว่า (ข่าวลือ)

และอีกปัญหาสำคัญที่จามิกรมองเห็นในตอนนี้ก็คือ ดูเหมือนว่าทุกคนจะตื่นตัวกับการกระจายข่าว มากกว่าการเตรียมตัวให้พร้อมรับกับน้ำท่วมจริงๆ

“มันมากเกินไปจนไม่มีใครคิดจะเตรียมตัวอย่างจริงจัง สนใจแต่ที่จะทวิตหรือกระจายข่าวอย่างเดียว โดยไม่ได้เห็นที่มาที่ไป ซึ่งมาคิดดูดีๆ ขนาดเห็นข่าวเรายังไม่มีสติในการรับสาร ถ้าเกิดน้ำท่วม เราจะมีสติในการดูแลตัวเองเหรอ”

สื่อกระแสหลักก็วุ่น

ไม่ใช่แต่เฉพาะสื่อสมัยใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตเท่านั้นที่เต็มไปด้วยข่าวลือปนเปกับข่าวจริง เพราะบางครั้งสื่อกระแสหลักก็โดนกระแสข่าวลือเข้ามาป่วนเหมือนกัน

อัจฉรา บัวสมบูรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายผลิตรายการ จส.100 กล่าวว่า เรื่องข่าวลือในช่วงน้ำท่วมนี้มีมากพอสมควร ซึ่งมันทำให้เกิดการวิตกกังวลกันอย่างมาก ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวลือที่เป็นหัวข้อพูดกันเอง มันอาจจะไม่สร้างความสับสนในการเสนอข่าวเท่าไร แต่มันเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้กับสื่อกระแสหลักมากขึ้น อาทิ เมื่อคนได้ยินข่าวลือเรื่องนั้นเรื่องนี้มาก็จะโทร.มาถามที่นี่ มันทำให้งานมากขึ้น เพราะต้องส่งทีมงานไปตรวจสอบข้อมูลไปยังพื้นที่นั้นๆ

“ข่าวลือที่ทำให้คนตกใจมาก อย่างเขื่อนเจ้าพระยาแตกแล้ว, ประชาชื่นน้ำท่วมมาถึงแล้ว หรืออีกหนึ่งชั่วโมงสาทรจะท่วมถึงแล้วนะ ที่นี่จะท่วม ที่โน่นจะท่วม ซึ่งเราเองก็ต้องมีหน้าทีหาข้อมูลจริงมาให้ได้ว่ามีมูลความจริงหรือเปล่า จึงนำแจ้งแก่ประชาชน ถ้าหากข้อมูลไม่มีความจริงแล้ว สื่อก็จะไม่แตะต้อง

“ยกตัวอย่างเช่นเรื่องพลุที่เทศบาลปากเกร็ด บอกว่าจะจุดเป็นสัญญาณ 5 ครั้ง หากน้ำจะเข้าท่วม ก็กลายเป็นข่าวลือ สร้างความสับสนอย่างมาก บางครั้งมันอาจจะเป็นพลุจากที่อื่นๆ เช่น งานแต่งก็จุดพลุกัน กลายเป็นว่าเมื่อทุกที่ได้ยินดังๆ คนก็นึกตกใจว่าเป็นเสียงพลุแจ้งเหตุ ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ได้เหมือนกันทุกที่ มันจะเป็นเฉพาะแต่ละพื้นที่ แต่พอคนได้ยินคำนี้เข้า ก็ไม่ได้จดจำว่าเฉพาะที่ปากเกร็ดนะ คนสาทรก็โทร.เข้ามาถาม เราจึงมีหน้าที่มาเช็กว่า เสียงที่สาทรนั่นคืออะไร เพื่อตอบให้คนได้สบายใจเราก็ต้องเพิ่มหน้าที่ เพิ่มงานคือต้องไปเช็กให้ว่ามันคืออะไรกันแน่”

อัจฉรากล่าวต่อไปอีกว่า ข่าวลือจะมีข้อดีอยู่นิดหน่อยก็ตรงที่ ทำให้คนต้องใช้วิจารณญาณในการรวบรวมข่าวจริงให้มากที่สุด จะได้เตรียมตัวอย่างพอเหมาะพอสม ส่วนคนที่ทวิตเตอร์ข้อมูลที่ส่งให้ จส.100 เมื่อสามารถตรวจสอบดูได้ว่า เรื่องจริงก็จะใช้ข้อมูลนั้นกระจายข่าวที่น่าเชื่อถือออกไป

เรื่องโรคก็มีข่าวลือ

ไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องน้ำท่วม-ไม่ท่วมเท่านั้น ที่มีการปล่อยข่าวลือ เรื่องของสุขภาพและโรคภัยที่มากับน้ำท่วมก็หนีไม่พ้นเหมือนกัน ดังเช่นความหวาดกลัว โรคระบาดในสภาวะน้ำท่วม ซึ่งจากการสอบถามไปยัง นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขนั้นได้ความว่า คนกรุงนั้นไม่จำเป็นต้องตกใจอะไรมากมาย เพียงแต่ต้องระวังตัวเอาไว้ ซึ่งของแบบนี้นั้นมีวิธีป้องกันและมันไม่เลวร้ายอย่างที่ข่าวลือก็ลือกัน โดยเฉพาะโรคฉี่หนูที่ตอนนี้มีแต่คนหวาดกลัว

"แม้ฉี่หนูจะมากับน้ำก็จริง แต่ตอนที่น้ำท่วม หนูฉี่มาก็มันก็ละลายหายไปหมดแล้ว แต่ถ้าน้ำมันหยุด หรือเฉอะแฉะ แล้วเราไปเหยียบโดนโดยไม่ใส่รองเท้าก็อาจจะป่วยได้ ซึ่งวิธีป้องกันก็ทำโดยเวลาที่น้ำลงแล้วอย่าเดินเท้าเปล่า อย่างนี้ฉี่หนูไม่มาแน่

"คือถ้าคุณเดินลุยน้ำจะไม่เป็นฉี่หนูหรอก แต่จะเป็นน้ำกัดเท้าแทน ซึ่งวิธีแก้ก็ไม่ยาก พอขึ้นจากน้ำก็ต้องล้างขาล้างเท้าทุกครั้งด้วยสบู่อ่อน แล้วเอาทิชชูซับง่ามเท้าให้แห้ง อย่าตกใจ เราป้องกันได้ และถ้าป่วยเมื่อรู้แต่เนิ่นๆ ก็รักษาได้"

แต่ทั้งหมดนี้ ยังไม่ถือเป็นภัยรุนแรงมากนักสำหรับชาวกรุง เพราะสิ่งที่ชาวกรุงมีโอกาสเผชิญมากกว่านั้นมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน โดยเรื่องแรกที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ก็คือ เรื่องไฟฟ้าช็อต ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นทุก เพราะกรุงเทพฯ นั้นมีเสาไฟและสายไฟฟ้าอยู่เต็มไปหมด

"เวลาน้ำท่วมเราต้องระวังอย่าไปเข้าใกล้จุดที่มีสายไฟตกอยู่ในน้ำ เวลาน้ำท่วม เราก็ต้องกดสับสวิตช์ไฟลงมาก่อนเลย เพราะมันเป็นความเป็นความตาย และน่ากลัวกว่าโรคอีก นอกจากนี้บรรดาสัตว์ร้ายทั้งหลายที่จะออกไปช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะงูหรือตะขาบก็ถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องระวังเช่นกัน

และอีกเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนลือหรือกล่าวถึงกันก็คือเรื่องตกน้ำและจมน้ำ ทั้งๆ ที่มันเกิดขึ้นบ่อยมาก โดยช่วงนี้ผู้ปกครองก็ไม่ควรจะปล่อยให้บุตรหลานไปเล่นใกล้ๆ จุดเสี่ยงเหล่านี้ เช่นเดียวกับการขับรถขับราก็ต้องพึงระวังไว้เสมอ ถ้าเป็นจุดที่ไม่แน่ใจก็ควรจะเลี่ยงเสีย

ความวิตกจริตก่อให้เกิดการเตรียมพร้อม?

ดูเหมือนว่าการเกิดขึ้นของข่าวลือจะมีแต่ข้อเสีย แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ข่าวลือเหล่านี้ มันก็เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นคนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เลวร้าย

ซึ่งอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมที่เกิดจากความวิตกจริตที่อย่างชัดเจนก็คือภาพของคนนับร้อยที่แห่กันไปซื้อข้าวสารอาหารแห้งตามห้างจนเกลี้ยงชั้น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะทั้งข่าวจริงและข่าวลือเข้ากระตุ้นให้พวกเขาต้องเตรียมตัวเตรียมใจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เรื่องของน้ำท่วมอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับพวกเขา

คณิต ผลเพิ่มศีลกุล คือหนึ่งในผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำ เขากล่าวว่าขณะนี้ครอบครัวได้มีการซื้อข้าวสารอาหารแห้งรวมทั้งของใช้ที่ผู้หญิงและเด็กอ่อนจำเป็นต้องใช้ไว้เพื่อเป็นการเตรียมการแล้ว โดยกะประมาณให้สามารถใช้ได้เป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งรับข่าวสารจากสื่อต่างๆ มาโดยตลอดทั้งทางโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ตและหนังสือพิมพ์

"ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกอาหารแห้ง พวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ข้าวสาร อาหารที่เก็บได้ แล้วก็พวกน้ำดื่ม ส่วนของใช้ก็จะเป็นของผู้หญิงของผู้ชายก็อยู่ง่ายๆ พวกผ้าอนามัยกระดาษชำระนี่จำเป็นมาก แล้วบ้านผมก็มีเด็กอ่อนพวกผ้าอ้อมพวกนมอะไรพวกนี้ก็สำคัญ”

โดยส่วนตัวของคณิตเองนั้น มองว่า การซื้อของมากักตุนไว้นั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากความตื่นตระหนกมากเกินไป แต่เป็นการกันไว้ก่อนแก้

"คนที่ไม่ซื้อของกักตุนเพราะคิดว่าเป็นการตื่นตระหนกเกินเหตุก็มี เขาก็ไม่คิดว่าน้ำมันจะท่วมเขาก็ไม่ได้กักตุนอะไรมากมาย ก็ใช้ชีวิตตามปกติ"

เช่นเดียวกับ พิมพ์ วิเศษดวงธรรม ชาว กทม.ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกคนที่มองว่ามันไม่ใช่เรื่องของความวิตกจริตเกินเหตุแต่เป็นเรื่องของการป้องกันตนเอง

"เพื่อนบ้านบางคนก็ยังเฉยอยู่ บางคนเขาคิดว่าน้ำอาจจะไม่เข้า เลยไม่ได้ซื้อของเตรียมเอาไว้ เพราะว่ารอดูสถานการณ์ แต่เราพอทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน เพราะอยู่ในที่เสี่ยงกว่าคนอื่น"

.........

แม้ข่าวลือเรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จะมีข้อดีอยู่บ้าง ในการที่ทำให้คนซึ่งไม่เคยสนใจข่าวคราวเลยหันกลับมาตื่นตัว แต่ถ้าหากเทียบกับข้อเสียที่เกิดขึ้น เช่น ความตื่นตระหนกวิตกจริตจนนำไปสู่การรับมือกับสถานการณ์ที่ผิดพลาด ก็นับได้ว่ามันได้ไม่คุ้มเสีย

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำที่สุดในตอนนี้ก็คือ ตั้งสติให้มั่น วิเคราะห์พิจารณาว่าข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับมาจากหลายๆ ทางว่ามันน่าเชื่อถือแค่ไหน ทั้งนี้ก็เพื่อตระเตรียมหนทางที่ดีที่สุดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเภทภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามา

>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น