xs
xsm
sm
md
lg

ร่างรายงานสุดท้าย “ไอพีซีซี” ชี้สภาพอากาศจะวิปริตสุดขั้วบ่อยขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพน้ำท่วมในเมืองไทย (เอพี)
เอพีเผยร่างรายงานขั้นสุดท้ายของ “ไอพีซีซี” ชี้สภาพอากาศวิปริตสุดขั้วอย่างมหาอุทกภัยที่ไทยกำลังประสบจนถึงพายุหิมะใน “วันฮาโลวีน” ที่สหรัฐฯ จะเกิดบ่อยขึ้น เป็นสาเหตุของความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และบางท้องถิ่นจะกลายเป็นพื้นที่ไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิตมากขึ้น

ร่างรายงานขั้นสุดท้ายของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ชี้ให้เห็นอนาคตอันเลวร้ายของโลกซึ่งกำลังบอบช้ำจากหายนะทางสภาพอากาศที่มีมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า มูลค่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้น และเป็นไปได้ว่าบางพื้นที่อาจจะกลายเป็น “แหล่งที่ไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิต” มากขึ้น

ร่างรายงานของไอพีซีซีที่เป็นผลจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทางด้านสภาพภูมิอากาศระดับหัวกะทิของโลกนี้จะเป็นประเด็นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังการประชุมในอูกานดา โดยรายงานดังกล่าวระบุด้วยว่ามีโอกาสอย่างน้อย 2 ใน 3 ที่สภาพอากาศสุดขั้วได้เลวร้ายลงแล้ว เพราะก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลจากมนุษย์

อย่างไรก็ดี เอพีระบุว่าในกรณีของปรากฏการณ์พายุหิมะที่ผิดปกติในสหรัฐฯ นั้นผู้เชี่ยวชาญยังไม่อาจผูกเข้ากับประเด็นภาวะโลกร้อนได้ โดยผู้เชี่ยวชาญจับตาการเพิ่มขึ้นของจำนวนพายุฝนที่รุนแรง แต่ไม่ได้รวมกรณีของพายุหิมะ ส่วนภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบตรงกันข้ามอย่าง “ภัยแล้ง” นั้น จะเกิดบ่อยขึ้นตามสภาพโลกที่ร้อนขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีการศึกษาชี้เฉพาะที่ผูกประเด็นภาวะโลกร้อนกับภัยแล้ง แต่มีความสอดคล้องของแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ที่ชี้ว่าสภาพอากาศปัจจุบันนั้นจะทำให้ความแห้งแล้งที่มีอยู่เดิมเลวร้ายขึ้น

ในหลายการศึกษายังทำนายถึงพายุฝนที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน โดยอากาศที่ร้อนขึ้นจะจะโอบอุ้มน้ำที่มากขึ้นและเพิ่มพลังงานมากขึ้นให้ระบบสภาพอากาศ แล้วเปลี่ยนแปลงพลวัตของพายุ รวมถึงสถานที่และลักษณะการโจมตีของพายุ โดยในกรณีของประเทศไทยขณะนี้กำลังรับมือกับมหาอุทกภัยที่เป็นผลจากฝนอันเนื่องจากมรสุม
 
ด้าน กาวิน ชมิดท์ (Gavin Schmidt) นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิศาสตร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กล่าวว่า น้ำท่วมในเมืองไทยเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าภูมิอากาศนั้นเชื่อมโยงกับผลกระทบอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอย่างไร อาทิ ประชากรกับการพัฒนาความเป็นเมือง การจัดการแม่น้ำกับพื้นที่จมน้ำ เป็นต้น

ในรายงานระบุว่า ภูมิอากาศสุดขั้วในหลายๆ พื้นที่นั้นปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่จะทำให้การสูญเสียเพิ่มมากขึ้นนั้นมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม มากกว่าก๊าซเรือนกระจก ส่วนเรื่องเหตุการณ์สุดขั้วที่เป็นเพียงข้อมูลประปรายในรายงานของไอพีซีซีก่อนหน้านี้ได้ถูกรวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยรายงานพยายามที่จะประเมินความมั่นใจที่นักวิทยาศาสตร์มีต่อการประเมินความสุดขั้วของภูมิอากาศทั้งในอดีตและอนาคต

อย่างไรก็ดี คริส ฟิล์ด (Chris Field) หนึ่งในผู้นำของคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กล่าวว่าเขาและคณะที่เขียนรายงานครั้งนี้จะไม่แสดงความเห็นใด เพราะรายงานฉบับนั้นยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีก และบทสรุปของรายงานก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าพื้นใดในโลกที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนถึงขั้นต้องทิ้งให้อยู่ในพื้นที่อาศัยอันจำกัด
 
นอกจากนี้ในรายงานยังระบุด้วยว่าเมื่อสิ้นศตวรรษนี้พายุฝนที่รุนแรงที่จะเกิดขึ้นภายในวันเดียวจะเกิดบ่อยขึ้น จากปกติที่เกิดขึ้นทุก 20 ปี เป็นเป็นเกิดขึ้นประมาณ 2 ครั้งภายใน 10 ปี
ภาพพายุหิมะที่มาเร็ววกว่าปกติในสหรัฐฯ (บีบีซีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น