จากที่เคยวิเคราะห์ว่าโอกาสน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ 50-50 มาถึงวันนี้สถานการณ์ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นแล้ว เลขาฯ "มูลนิธิสืบ" ออกมาแนะรัฐบาลให้ทำหน้าที่ "ตัดสินใจ" โดยใช้ "ธรรมศาสตร์โมเดล" เอาน้ำกั้นน้ำ ลดความแรงของกระแสน้ำ ทะยอยปล่อยให้มีเวลาการเคลื่อนย้ายและอพยพ พร้อมดึงนักวิชาการรุ่นพี่มาร่วมอธิบาย
ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยแพร่คลิปผ่านยูทูปแนะนำวิธีแก้วิกฤตน้ำท่วมอีกครั้งเมื่อค่ำวันที่ 20 ต.ค.54 โดยหวังให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ "ตัดสินใจ" เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ชั้นใน วิธีเบี่ยงน้ำของนายกฯ ไม่น่าจะ "เอาอยู่" และคันรังสิต -นครนายกไม่น่ารับปริมาณน้ำมากๆ ไหวแล้ว และจะทำให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งเขาให้ความเห็นว่า หากเกิดน้ำท่วมหมดทุกพื้นที่จะไม่เหลือ "พื้นที่แห้ง" สำหรับบัญชาการ ไม่มีโรงพยาบาลสำหรับช่วยผู้คน และจะเกิดความโกลาหล หากรักษากรุงเทพฯ ชั้นในไว้ได้น่าจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติโดยรวมมากกว่า
วิธีที่ศศินเสนอคือใช้ "ธรรมศาสตร์โมเดล" ที่เสนอโดย อภิชาติ สุทธิศิลธรรม หรือ “ลุงมูซา” ซึ่งจบปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมเคมี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยโมเดลดังกล่าวช่วยให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประสบความสำเร็จในการป้องกันน้ำท่วมจากการทำคันกั้นน้ำ แล้วปล่อยน้ำเข้าเป็นชั้นๆ ตามคันกั้นน้ำ เพื่อให้ “น้ำต้านน้ำ” และป้องกันคันกั้นน้ำพังจากระดับน้ำที่สูงเกิน
แนวคิดดังกล่าวเมื่อเสนอใช้กับกรุงเทพฯ ซึ่งคิดว่าจะได้ผลเช่นเดียวกันนี้ จะทำให้มีพื้นที่ที่ต้องยอมให้น้ำท่วม แต่การสร้างคันกั้นน้ำลักษณะดังกล่าวจะช่วยให้เรารักษาระดับน้ำไว้ได้ และมีเวลาในการเคลื่อนย้ายผู้คนออกจากพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลต้องบริหารจัดการ และให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงยอมรับว่ารัฐบาล "เอาไม่อยู่" และต้องมีการชดเชยความเสียตามความเป็นจริง
คลิปเสนอแนวคิด "ธรรมศาสตร์โมเดล" โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อธิบายธรรมศาสตร์โมเดล โดย อภิชาติ สุทธิศิลธรรม