xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานจักรยาน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

สภาพการจราจรในปี 1829 บนถนนในอังกฤษ
ปัจจุบัน ใครๆ ก็กังวลเรื่องรถยนต์ ว่าสร้างมลภาวะด้านเสียง และสร้างแก๊สเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน แต่โลกก็มียานพาหนะรูปแบบหนึ่งที่ไร้เสียงเวลาขับเคลื่อน และไม่ปลดปล่อยแก๊สพิษ เพราะยานเคลื่อนที่ได้ด้วยกำลังคน ยานดังกล่าวนี้ คือ จักรยาน

ณ วันนี้โลกมีจักรยานประมาณ 600 ล้านคัน (จีนประเทศเดียวมีจักรยานมากถึง 400 ล้านคัน) เพื่อให้ผู้คนใช้ในการเดินทางระยะสั้น โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น Nicaragua ที่แพทย์จะใช้ในการเดินทางไปรักษาคนไข้ในพื้นที่ทุรกันดาร สำหรับในประเทศ Ecuador นั้น ชาวบ้านจะใช้จักรยานขนส่งอาหารระหว่างหมู่บ้านในชนบท และใน Vietnam เรามักจะเห็นการบรรทุกสินค้าหนักโดยใช้จักรยานบ่อย

ตามปกติจักรยานมีน้ำหนักเบากว่ารถยนต์ 50 เท่า และมีความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง เวลาเดินทางทั่วไป นักปั่นจักยานใช้พลังงานน้อยกว่าคนที่เดินประมาณ 3 เท่า จักรยานจึงเป็นอุปกรณ์ที่ดีอีกชนิดหนึ่งสำหรับการออกกำลังกาย

เพราะนักประชาการศาสตร์คาดว่า ในอีก 15 ปี ประชาการโลกประมาณ 5,000 ล้านคน จะเข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง จำนวนคนที่มากนี้จะทำให้การจราจรแออัดมาก ถ้าผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้รถยนต์ ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความอึดอัด รัฐบาลหลายชาติจึงได้มีการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น

การศึกษาความเป็นมาของจักรยาน ได้ทำให้เรารู้ว่า ในปี ค.ศ. 1696 วิศวกรชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อ Jacques Ozanam เป็นบุคคลแรกที่คิดสร้างยานที่เคลื่อนที่ได้ด้วยพลังของผู้โดยสารเอง แต่ไม่มีใครสืบสานความคิดนี้จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ความคิดประเด็นนี้ จึงได้อุบัติอีกเมื่อวิศวกรมีจินตนาการจะสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่มีล้อ 2 ล้อ และมีคานยึดระหว่างล้อหน้ากับล้อหลัง แล้วให้คนขี่นั่งคร่อมบนคานนั้น จากนั้นก็ใช้เท้าถีบพื้น ดันยานให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า (จักรยานรุ่นบุกเบิกยังไม่มีที่สำหรับให้เท้าถีบ) ยานจึงช่วยให้คนเคลื่อนที่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาม้า ทำให้มีชื่อเรียกว่า hobbyhorse หรือ velocipede ซึ่งเป็นคำผสมที่มาจากคำ velo ที่แปลว่า เร็ว และ pede ที่แปลว่า เดิน เพราะการทรงตัวของยานลักษณะนี้ทำได้ยากอีกทั้งคนขี่ต้องออกแรงมาก ดังนั้นจักรยานต้นแบบที่สร้างในลักษณะนี้จึงไม่เป็นที่นิยม

แต่แล้วปรากฏการณ์ธรรมชาติหนึ่งก็ได้อุบัติ ซึ่งทำให้นักประดิษฐ์เริ่มคิดเรื่องจักรยานอีก คือ ในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1815 ภูเขาไฟ Tambora ในอินโดนีเซียเริ่มคำราม และอีก 7 วันต่อมา Tambora ก็ระเบิดอย่างรุนแรง ลาวา ฝุ่น และเถ้าได้พุ่งขึ้นท้องฟ้า แล้วลอยไปบดบังเมฆทั่วโลกเป็นเวลานาน จนอุณหภูมิโลกลดลง 3 องศาเซลเซียส จนในปีนั้นประเทศในซีกโลกเหนือไม่มีฤดูร้อน และนอกจากชาวอินโดนีเซียที่เสียชีวิตถึง 92,000 คนแล้ว ยุโรปเองก็ได้รับผลกระทบรุนแรงเหมือนกัน เช่น ประชาชนต้องเผชิญปัญหาข้าวยากหมากแพง โดยเฉพาะที่รัฐ Baden ในประเทศเยอรมนี เพราะที่นั่นราคาข้าวโอ๊ตได้พุ่งสูง จนชาวบ้านไม่มีปัญญาซื้อเป็นอาหารกิน ทำให้ต้องฆ่าม้าจำนวนมาก เพื่อนำเนื้อมาปรุงเป็นอาหาร และผลที่ตามมาคือ การคมนาคมโดยใช้ม้าลากรถประสบปัญหาการมีม้าไม่พอเพียงสำหรับความต้องการของประชาชน ท่าน Baron Karl von Drais จึงคิดออกแบบยานที่จะใช้แทนม้าในการขนส่งคมนาคม

เมื่อถึงวันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1817 Drais ก็ได้นำจักรยานต้นแบบที่เขาออกแบบเอง ออกสาธิตในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก โดยขี่ออกจากบ้านในเมือง Mannheim ไปตามถนนสู่เมือง Schwetzinger Relaishaus ที่อยู่ไกลออกไป 7.5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวกลับบ้าน การเดินทางครั้งนั้นใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ

เมื่อถึงวันที่ 12 มิถุนายน 1817 Drais ก็ได้ประกาศว่า เขาจะเดินทางด้วยจักรยานที่เขาออกแบบเองจากเมือง Karlsruhe ในเวลาเที่ยงวันเพื่อไปเมือง Kehl ที่อยู่ไกลออกไป 51 กิโลเมตร โดยใช้เวลาน้อยกว่า 4 ชั่วโมง และแล้วชาวเมือง Kehl ก็ได้เห็นกับตาว่า Drais เดินทางถึง Kehl เมื่อเวลา 4 โมงเย็นตรงตามที่เขาทำนายไว้จริงๆ

Drais เกิดเมื่อ 29 เมษายน ค.ศ. 1785 ที่เมือง Karlsruhe ในครอบครัวของชนชั้นกลาง ถึงบิดาจะมิได้เป็นมหาเศรษฐี แต่ก็เป็นผู้มีบารมีในเมือง Karlsruhe ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ Baden เมื่ออายุ 18 ปี Drais ได้เดินทางไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Heidelberg เพราะที่นั่นเป็นสถาบันการศึกษาแรกของเยอรมนีที่สอนวิชาเทคโนโลยี เกษตรศาสตร์ ฟิสิกส์ และสถาปัตยกรรม โดยใช้ภาษาเยอรมัน แทนภาษาละติน ซึ่งเป็นภาษาวิชาการที่ Drais ไม่ถนัดเลย เมื่อสำเร็จการศึกษา Drais ได้เข้ารับราชการเป็นครูสอนหนังสือในกรมป่าไม้ และทำงานที่นั่นจนอายุ 25 ปี จึงเริ่มรู้สึกว่า งานที่ทำไม่เหมาะกับนิสัยชอบประดิษฐ์ของตนเลย Drais จึงลาออก และเริ่มงานใหม่เป็นช่างออกแบบอุปกรณ์บันทึกเสียงเปียโน แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จใดๆ Drais จึงหันไปคิดวิธีขนส่งที่ไม่ต้องใช้ม้าลาก เพราะในสมัยนั้น การขนส่งทุกรูปแบบมักใช้ม้า แต่ม้าต้องการอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่สิ้นเปลืองสำหรับเจ้าของ และเมื่อประเทศเยอรมนีกำลังถูกกองทัพของ Napoleon รุกราน ภาวะสงครามทำให้ราคาข้าวโอ๊ตพุ่งสูงจนประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เพราะไม่มีอาหารจะบริโภค และไม่มีม้าจะช่วยในการขนส่ง

Drais ได้คิดสร้างยาน 4 ล้อ ที่ใช้กำลังคนขับเคลื่อนแทนม้า ให้คน 2 คนนั่ง โดยให้เจ้านายนั่งหน้า และคนใช้นั่งหลัง การขับเคลื่อนเกิดขึ้น โดยคนใช้ถีบดิน ดันคนทั้ง 2 ไป และให้เจ้านายมีด้ามไม้ที่ใช้บังคับทิศทาง เมื่อจักรพรรดิซาร์ Alexander ทรงทอดพระเนตรเห็นสิ่งประดิษฐ์นี้ พระองค์ทรงพอพระทัยมาก แต่บรรดาเจ้าชายในราชสำนักมิได้ทรงสนพระทัยเลย Drais จึงพักความคิดที่จะสร้างจักรยาน 4 ล้อ เป็นพาหนะขับเคลื่อนโลก แต่หันไปสนใจสร้างจักรยาน 2 ล้อแทน เพราะจะสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วกว่า ทั้งนี้เพราะอุปกรณ์ถูกแรงเสียดทานกระทำน้อยกว่า และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของจักรยาน 2 ล้อ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่ายาน draisine ที่ดูเผินๆ ไม่น่าจะเป็นไปได้ ที่คนขี่จะสามารถนั่งบนยานล้อ 2 ล้อ ที่วางตัวในแนวดิ่ง แล้วสามารถเคลื่อนที่ไปได้โดยยานไม่ล้มขมำ

ในวัยเด็ก Drais เล่นสเก็ตเก่ง ดังนั้นเทคนิคการไถลด้วยรองเท้าสเก็ตไปบนน้ำแข็งจึงไม่แตกต่างจากการไถลไปบนดินด้วยยาน 2 ล้อ แต่แทนที่จะใช้เพียงข้อเหวี่ยง Drais กลับใช้แผ่นเหยียบด้วยเท้าเพื่อให้แรงถีบถูกถ่ายทอดไปยังฟันเฟืองที่อยู่ติดกับแผ่นถีบซึ่งมีวงสายโซ่โยงไปยังฟันเฟืองของล้ออันที่สอง ตามปกติยานประดิษฐ์ของ Drais ทำด้วยไม้ ash และหนักประมาณ 20 กิโลกรัม ดังนั้นจึงหนักพอๆ กับจักรยานปัจจุบัน และมีเบรก

ในปี 1817 หนังสือพิมพ์ Dredges Anzeiger ได้รายงานว่า ยาน draisine กำลังเป็นที่นิยมมาก จนผู้คนหันมาใช้แทนม้าในการเดินทางแล้ว และบทความนี้จบลงโดยการพยากรณ์ว่า ราคาข้าวโอ๊ตจะลดลง เพราะโลกมียาน draisine และเมื่อท่าน Grand Duchess แห่งแคว้น Baden ทรงชี้แนะให้รัฐบาลเยอรมันออกกฎหมายคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ของ Drais เป็นเวลานาน 10 ปี และบังคับให้คนที่จะขี่ draisine ต้องมีใบขับขี่ด้วย เพราะถ้าไม่มี คนขี่จะถูกปรับ และจักรยานจะถูกยึดเป็นของกลาง

คุณความดีของ Drais นี้ได้ทำให้รัฐ Baden จัดมอบเงินบำนาญให้ในฐานะนักประดิษฐ์แห่งรัฐ และท่าน Duke Karl ได้ประกาศแต่งตั้งให้ Drais ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านกลศาสตร์ แต่ไม่ต้องสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย สำหรับในอังกฤษ และอเมริกา ก็มีนักประดิษฐ์อีกหลายคนที่สนใจเรื่องจักรยาน และคนเหล่านี้ได้ “ขโมย” ความคิดของ Drais เอาไปจดลิขสิทธิ์เป็นของตนเอง แต่ยานประดิษฐ์เหล่านั้นไม่มีเบรกเหมือนของ Drais ดังนั้นผู้ขี่จึงประสบอุบัติเหตุบ่อย เพราะชนกับจักรยานอื่นเนืองๆ และเมื่อสภาพของถนนในสมัยนั้นก็ไม่ดีนัก ดังนั้นการสัญจรด้วยจักรยานจึงเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างปลอดภัยยาก แต่ครั้นจะแบ่งพื้นที่ของถนนให้คนขี่จักรยานใช้โดยเฉพาะ ก็มีปัญหาว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการล่วงละเมิดสิทธิ์ของคนเดินถนน

ดังนั้นในปี 1818 ผู้ว่าราชการแห่งนคร Milan ในอิตาลีจึงประกาศห้ามผู้คนใช้จักรยานอย่างเด็ดขาด

ลุถึงปี 1819 นคร London และ New York ก็ออกแบบกฎหมายห้ามการใช้จักรยานบนทางเท้า ตั้งแต่นั้นมาความนิยมของจักรยานก็เริ่มเสื่อม

จนถึงช่วงปี ค.ศ. 1860 จักรยานก็ได้หวนกลับมาสู่ความนิยมอีก เพราะยานได้รับการออกแบบให้มีการทรงตัวดีขึ้น ผ่อนแรงได้มากขึ้นและไปได้เร็วขึ้น

ในส่วนของ Drais เอง เขายังใช้ชีวิตนักประดิษฐ์ต่อไป และได้ออกแบบเครื่องพิมพ์ดีด กับเตาไม้ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ เมื่อ Drais มีอายุ 45 ปี บิดาได้เสียชีวิตลงและ Drais ถูกศัตรูที่อิจฉาใส่ไคล้ว่าเขาต่อต้านสถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรงโดยได้สนับสนุนให้มีการปฏิวัติ

ในปี 1848 เมื่อกองทหารปฏิวัติเคลื่อนพลเข้า Baden ท่านผู้ครองนครได้ขอร้องให้รัฐ Prussia ส่งทหารมาช่วย ทหาร Prussia ได้พำนักอยู่ที่ Baden นาน 7 ปี จากนั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ยุยงประชาชนให้ประณาม Drais ว่าเป็นคนเสียสติ และเป็นโรคจิตอย่างรุนแรงจึงสมควรถูกจำขัง อีกทั้งให้ตัดเงินบำนาญที่ Drais ได้รับ นอกจากนี้ เวลา Drais ไปที่ใด เขาก็จะถูกฝูงชนห้อมล้อม และขับไล่ จนต้องหลบหนีไป Brazil

Drais จบชีวิตอย่างอนาถา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1851 ขณะอายุ 66 ปี ที่บ้านเกิดและหลังจากที่เขาจากไปแล้ว ศัตรูของ Drais ก็ได้ลบทุกสิ่งทุกอย่างที่ Drais ทำ ออกจากประวัติศาสตร์เยอรมัน

จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลเยอรมันจึงได้เริ่มฟื้นฟูความทรงจำเรื่อง draisine ของ Drais อีก

คุณหาอ่านเนื้อหาเรื่องนี้เพิ่มเติมได้จาก หนังสือชื่อ Bicycle: The History โดย David V. Herlihy ที่จัดพิมพ์โดย Yale University Press (2005) หนา 470 หน้า ราคา 35 ดอลลาร์

สุทัศน์ ยกส้าน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

"หนังสือ "สุดยอดนักเคมีโลก"
โดย ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
มีจำหน่ายที่ศูนย์ประชุมสิริกิตติ์ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 5 - 16 ตุลาคมนี้
ที่บูธสำนักพิมพ์สารคดี ในราคา 199 บาท จากราคาปก 240 บาท"
จักรยาน 4 ล้อ สำหรับพนักงานรถดับเพลิง
จักรยาน farthing and penny
ไฮค์ปาร์ก อังกฤษ ปี 1895 จักรยานทำให้สตรีมีเสรีภาพในการเดินทางมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น