xs
xsm
sm
md
lg

เวลา

เผยแพร่:   โดย: บุรินทร์ กำจัดภัย

เมื่อนึกถึงคำว่าเวลาแล้วเราคิดว่ามันคืออะไรกัน เวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์เราทึกทักเอาเองกันว่ามีตัวตนหรือมันมีอยู่จริงๆ ถ้าการมีตัวตนอยู่ของเวลายึดถือจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆเป็นหลักแล้ว ดังนั้นคำถามมันก็จะอยู่ที่ว่า เรารับรู้การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆได้อย่างไร

การรับรู้ย่อมขึ้นอยู่กับความจริงที่เรารับรู้อีกนั่นแหละว่า มันเป็นภววิสัยหรืออัตตวิสัย ภววิสัยคือแนวคิดที่เชื่อว่าความจริงเป็นเช่นนั้นเอง มีอยู่อย่างนั้นจริงแม้เราไม่ได้ไปสัมผัสรับรู้มัน ความจริงก็ยังคงเป็นเช่นนั้น ส่วนอัตตวิสัยคือแนวคิดที่เชื่อว่าสิ่งใดๆจะถือว่าเป็นความจริงแล้วนั้น เราต้องสามารถรับรู้ด้วยประสบการณ์ได้ว่ามันเป็นอย่างนั้น หากเราไม่รับรู้โดยตรงจากประสบการณ์มันก็ยังไม่ใช่ความจริง

สำหรับความจริงประเภทภววิสัยนั้นมีข้อโต้แย้งคือว่าถ้าความจริงเป็นเช่นนั้นโดยที่เราไม่รับรู้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันมีของมันอยู่อย่างนั้น (นักคิดก็ตอบกันไปว่ารับรู้ได้โดยการหยั่งรู้ (ปัญญาญาณ-insight)) เช่นเราหยั่งรู้ว่ามิติกว้าง ยาว สูง และเวลานั้นมีอยู่จริง นักคิดแนวนี้เชื่อว่าการรับรู้ด้วยประสบการณ์นั้นอาจถูกบิดเบือนได้ เช่นแนวคิดเรื่องแบบ (form) แห่งความจริงแท้ของ Plato เป็นต้น

ด้านอัตตวิสัยก็มีข้อโต้แย้งเช่นกัน ความจริงที่เรารับรู้ได้โดยประสบการณ์นั้นอาจไม่ใช่ความจริงแท้ มันอาจเป็นโลกสมมติผ่านประสาทสัมผัสลวงหรืออาจเป็นความฝันดังเช่นในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ก็ได้ นักคิดแบบอัตตวิสัยก็ตอบกันไปว่าเราไม่มีทางพิสูจน์ได้อยู่ดีว่าทั้งหมดนี่เป็นความจริงหรือความฝัน

สำหรับผมแล้วความจริงมีสองแบบดังที่ว่านี้ ดังนั้นการรับรู้ก็เป็นสองแบบ ความหมายของเวลาจึงมีสองลักษณะคือ เวลาที่เป็นภววิสัย กับเวลาที่เป็นอัตตวิสัย

ในแบบภววิสัย เวลาเป็นไปตามที่พรรณนาโดยทฤษฎีสัมพัทธภาพ คือเวลาเป็นมิติหนึ่งเช่นเดียวกับมิติกว้าง ยาว สูง เวลาก็จะมีค่าเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไหลไปข้างหน้าเรื่อยๆ

ในแบบอัตตวิสัย เวลาเกี่ยวข้องกับการรับรู้ของเราโดยตรง ดังนั้นหลายคนจึงคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับความรู้สึก เช่นเวลาแห่งความสุข ทำไมช่างผ่านไปเร็วไวเสียเหลือเกิน ผมมีตัวอย่างเรื่องเวลาแบบอัตตวิสัยมาเล่าให้ฟังกัน ผมจะถือว่าตามลักษณะอัตตวิสัย เวลาอาจถือเวลาเชิงจิตวิทยาก็ได้

การที่ผมหรือพวกเราที่ทำงานอยู่กรุงเทพหรือเมืองใหญ่กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดปีละครั้ง เห็นสภาพความเปลี่ยนแปลงของบ้านเกิดอย่างมาก ในเวลาเพียงปีเดียว เรามักคิดว่าเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน พวกเรากลับบ้านน้อยครั้งไปหรือเปล่า

ท่านคิดว่าเวลาขึ้นกับความมากน้อยในความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เราพิจารณาอยู่ หรือขึ้นกับความถี่บ่อยครั้งในการรับรู้ข้อมูล ?

ผมคิดว่า ปัจจัยของการรับรู้เวลาแบบอัตตวิสัย (อาจเรียกว่าเวลาเชิงจิตวิทยา) นั้นคือทั้งสองอย่าง

1) หากความเปลี่ยนแปลงของระบบมีมากๆ เราจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก คือกินระยะเวลาไปมาก
ที่เป็นเช่นนี้เพราะสำหรับมนุษย์มักจะตระหนักถึงเวลาก็ต่อเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ และ

2) หากเราได้รับรู้ ตรวจวัด (probe) เฝ้าสังเกตระบบด้วยความถี่มากคือบ่อยมากเวลาที่เรารู้สึกก็จะผ่านไปช้าๆ คือกินระยะเวลาไปน้อยๆ

นั่นคือว่า

ระยะเวลาที่รู้สึก แปรผันกับ ปริมาณการเปลี่ยนแปลงของระบบที่สนใจจดจ่อ
ระยะเวลาที่รู้สึก แปรผกผันกับความถี่ในการรับรู้ (probe) ข้อมูล

ดังนั้นขณะที่เราทำอะไรด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายเช่น การรอซื้อสินค้า การไปนั่งประชุมอันแสนน่าเบื่อ จะเห็นได้ว่า (1) ระบบที่เราเห็นและรับรู้ เช่น ความยาวคิวยืนซื้อของ หรือเรื่องราวของการประชุม นั้นเปลี่ยนแปลงไปน้อยมากๆ และ (2) เราเอาใจเราไปพิจารณาจดจ่อกับเหตุการณ์ต่างๆในห้องประชุมบ่อยครั้งมาก (เช่นเมื่อไรจะเลิกนะ)

หากเรามีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ชนิดหนึ่งที่มีความถี่ในการรับรู้สิ่งรอบๆตัวมันได้ด้วยความถี่สูงกว่ามนุษย์ 100 เท่า ดังนั้นเวลา 1 วันของเราจึงเป็น 100 ของมัน

หากพวกเราหลายคนเคยนั่งสมาธิ อาจมีความรู้สึกคล้ายกับผม ผมเคยนั่งสมาธิวันละห้านาที แต่ในห้วงห้านาทีนั้น ใจผมรับรู้ ตระหนัก ตลอดเวลาผมทำสมาธิไม่เก่ง ใจผมจึงสงบช้า เวลาห้านาทีนั้นมีอะไรเข้ามาในความคิดมากมายและเป็นห้านาทีที่ผมพยายามจะตัดทุกอย่างออก ให้เหลือเพียงจังหวะของลมหายใจเข้าออก information ที่เข้ามาและพยายามตัดออกมีมากมายเหลือเกิน สำหรับเวลาห้านาทีจึงเป็นเวลาที่ผมรู้สึกว่านานขึ้นกว่าเดิมมาก ดังนั้นหากเราสามารถเพ่งจิตให้ทำงานเร็วถี่ขึ้นเท่าใด เราจะรู้สึกว่าเวลานั้นช้าลง เราจะรับรู้ว่าทุกอย่างดำเนินไปช้าลง หากแต่เราต่างหากที่ประมวลผลเร็วขึ้น อย่างไรก็ดีความเร็วและความถี่ในการรับรู้ของมนุษย์ก็ยังจำกัดอยู่ด้วยอัตราเร็วและของการส่งสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ผ่านเซลประสาท (neuron) และไซแนปส์ (synapse)
(เช่นในการมองเห็นของแมว เซลล์ retinal ganglion ในตาของแมวส่งผ่านข้อมูลได้ประมาณ 20-40 บิตต่อวินาทีเท่านั้น) และจำกัดด้วยความถี่ของสัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมอง

เราเรียนรู้รับรู้สิ่งใหม่ๆต่างๆโดยการเปรียบเทียบจากประสบการณ์เก่าๆที่รู้มาก่อน เราจะรู้ทันทีว่าประสบการณ์ใดเคยผ่านมาแล้ว หรือที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นประสบการณ์ครั้งแรก ยิ่งอายุมากขึ้นเมื่อเราพานพบสิ่งใหม่ เราก็มักจะนำไปเทียบกับประสบการณ์ที่มีอยู่ เมื่อเราอายุมากขึ้นเราก็มักจะอยู่กับอดีตและอนาคตซึ่งบันทึกเอาไว้ในสมองเรา ต่างแตกจากเด็กเล็กๆซึ่งยังมีความจำน้อยนิดและมักจะอยู่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้า จดจ่อเอาความถี่ในการรับรู้อยู่กับสิ่งปัจจุบัน เวลาของเด็กจึงเดินช้า แต่สำหรับผมแล้ว ผมจับจดกับปัจจุบันน้อยลง เราแต่ละคนต่างแบกเอาอดีตรุงรังมามากขึ้น จึงมีความถี่ในการรับรู้ปัจจุบันน้อยลง เวลาจึงผ่านไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ เวลาในช่วงมัธยมปลายของผมผ่านไปอย่างช้าๆ ผมรู้สึกว่าช่วงเวลา ม.1 ถึง ม. 6 ของผมนานมากและก็ดีมากเสียด้วย เวลา 6 ปีของชีวิตมัธยมของผมเมื่ออายุ 17 ปี คิดเป็น 6/17 = 35% ความจำอดีตก่อนหน้านั้นมีปริมาณ 65% ซึ่งไม่มากนักที่จะนำมาคิดจับจดถึงอดีตจึงคิดถึงแต่ปัจจุบันและอนาคตเป็นหลัก

แต่ในชีวิตวัยทำงานหลังปริญญาเอกเวลา 6 ปีช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว ระยะเวลา 6 ปีเป็นเวลาเพียง 16% ของคนอายุ 36 ความจำอดีตก่อนหน้านั้นมีปริมาณ 84% ซึ่งมากพอที่จะนำมาคิดจับจดจับจ้อง ความถี่ในการ probe วัดเหตุการณ์ในปัจจุบันจึงลดลง ก็เลยบ่นเสมอว่าเพราะเหตุใดเมื่อเราอายุมากขึ้นเวลาจึงผ่านไปเร็วไวกว่าเมื่อแต่ก่อน และแน่นอนว่ากรอบทางสังคมที่พันธนาการเราจนขาดเสรีในการจินตนาการ ความวิตกกังวลต่างๆอย่างผู้ใหญ่ก็เพิ่มมากขึ้นเสียจนจิตใจลดระดับความถี่ในการรับรู้ปัจจุบันลงไปอย่างมาก เราก็ยิ่งรู้สึกว่าเวลาเดินเร็วขึ้น

ในระบบกายภาพบางชนิดเช่นในแก้ว มีการพบว่าลวดลายบนถ้วยแก้วที่เป็นวัตถุโบราณจากสมัยโรมันมีสภาพบิดเบี้ยวไปจากภาพเดิมที่ควรจะเป็น คำอธิบายก็คือแก้วนั้นอาจพิจารณาว่าเป็นของเหลวได้ แต่ด้วย time scale ที่มันจะไหลไปนั้นยาวนานมากนับพันปี ดังนั้นเมื่อพิจารณาเวลาผ่านไปนานพันปี เนื้อลวดลายบนแก้วจึงเคลื่อนตัวไปได้

กระบวนการในธรรมชาติมากมากที่ดูผิวเผินไม่น่าจะเป็นกระบวนการที่เกิดซ้ำเป็นรอบๆ หรือคาบได้ เช่น การเปลี่ยนแกนหมุนของโลกซึ่งเกิดขึ้นทุกหลายหมื่นปี ดังนั้นหากเราเกิดเป็นยุงสักตัวซึ่งมีช่วงอายุขัยไม่เกิน 20 วัน ก็ย่อมไม่อาจที่จะรับรู่ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรายวันซึ่งสำหรับมันแล้วดูจะไร้แบบแผนนั่นเป็นส่วนหนึ่งของฤดูกาลที่มันไม่รู้เลยว่ากินเวลาครบรอบในหนึ่งปี

ดังนั้น time scale จึงเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งเราอาจตัดสินหรือบอกอะไรไม่ได้เกี่ยวกับคุณสมบัติของบางสิ่งในทันที เพราะเราอยู่ในภูมิเวลาที่แตกต่างกัน มีกรอบทางความคิดที่แตกต่างกัน ประสบการณ์ที่มาในอดีตต่างๆ กัน ทัศนะต่อโลกต่างๆกัน และต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ในระยะยาว

แม้ไม่อยากให้เวลาของตัวเองเดินเร็วนัก เป้ของผมก็พะรุงพะรังพอสมควรด้วยอดีตที่เปี่ยมด้วยความหมาย มิใช่แค่เหตุผล

***********
เกี่ยวกับผู้เขียน



บุรินทร์ กำจัดภัย

สำเร็จการศึกษาด้านฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาจากประเทศอังกฤษ
มีอาชีพเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี ปัจจุบันทำงานวิจัยและสอนในฐานะอาจารย์ประจำที่สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐานหรือ IF มหาวิทยาลัยนเรศวร

Perspective 7 เป็นบทความเกี่ยวกับทรรศนะของตัวผู้เขียนเองซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต่อธรรมชาติ สังคม และปรัชญา ทรรศนะเหล่านี้นำเสนอในหลายประเด็นผ่านหลายเรื่องราวจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองโดยผ่านเลนส์ตาของวิทยาศาสตร์

“สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าศีลธรรมและจารีต คือสติและการรู้จักตัวตนของตัวเอง"
กำลังโหลดความคิดเห็น