xs
xsm
sm
md
lg

Marie Curie นักเคมีสตรีแห่งปีเคมีสากล 2011 (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

สองสามีภรรยาในห้องปฏิบัติการ
โลกภายนอกเริ่มตื่นเต้นกับข่าวที่นักเคมีสตรีคนหนึ่งได้บุกเบิกโลกวิทยาศาสตร์ ทุกคนหันมาสนใจเรเดียม และอยากรู้จักสองสามีภรรยาตระกูล Curie บรรดานักทัศนาจรที่มาเยือนปารีสจะแวะมานั่งฟัง Marie ขณะเธอสอนหนังสือ นักหนังสือพิมพ์ และช่างภาพต่างต้องการถ่ายภาพของเธอในทุกอิริยาบถ ประชาชนบางคนต้องการลายเซ็นของเธอ ในสื่อต่างๆ จะมีทั้งข่าวจริง และข่าวไม่จริงของเธอ แม้กระทั่งแมวที่เธอเลี้ยง ประชาชนก็อยากรู้จัก Marie กับ Pierre เริ่มไม่มีเวลาส่วนตัว และรู้สึกไม่สบายใจ เพราะต้องการอยู่เงียบๆ มากกว่า แต่สังคมไม่ยินยอมอนุญาต ทั้งสองได้รับจดหมายเชิญให้ไปปราศรัยตามที่ต่างๆ และในโอกาสต่างๆ บ้านก็ถูกจัดให้มีที่รับแขก สำหรับนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญๆ ที่ต้องการมาเยือน และแขกบ้านแขกเมืองก็ต้องการรู้เรื่องของตระกูล Curie Lord Kelvin นักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังของอังกฤษก็ได้แวะมาเยี่ยมและเชิญ Marie กับ Pierre ให้ไปรับเหรียญ Davy ซึ่งเป็นรางวัลที่สำคัญที่สุดของสมาคม Royal Society ที่ London รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ประกาศมอบสายสะพาน Legion of Honor แก่ Pierre Curie ในฐานะที่ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ แต่ Pierre ปฏิเสธเกียรตินี้ เพราะเขาต้องการห้องปฏิบัติการยิ่งกว่าสายสะพาย

ในเดือนตุลาคม 1903 Pierre และ Marie ได้รับข่าวว่าได้พิชิตครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับ Becquerel จากผลงานการศึกษากัมมันตรังสี (radioactivity ซึ่งเป็นคำที่ Marie บัญญัติขึ้น) และทั้งสองใช้เงินรางวัล 70,000 ฟรังค์ที่ได้รับในการชำระหนี้ที่เกิดจากการซื้อสารเคมีต่างๆ เพื่อใช้ในการทดลอง และตัดสินใจไม่จดสิทธิบัตรใดๆ ในการค้นพบเรเดียม เพราะมีความเห็นว่า เงินไม่สามารถทำให้คนทั้งสองเป็นสุขยิ่งขึ้นแต่อย่างใด และมีความคิดว่าการค้นพบ ทางวิทยาศาสตร์ควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาชีวิตมนุษย์เท่านั้น

ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1904 ครอบครัว Curie ได้สมาชิกคนใหม่เป็นผู้หญิงชื่อ Eve Denise

ในเดือนกุมภาพันธ์ 1905 Marie และ Pierre ได้สกัดเรเดียมเพื่อส่งไปให้แก่โรงพยาบาล Vienna ใน Austria เพื่อขอบคุณรัฐบาลออสเตรียที่ได้จัดส่ง pitchblende มาให้วิจัย และในวันที่ 3 กรกฎาคมของปีเดียวกัน Pierre ก็ได้ข่าวว่าตนได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ Academy of Sciences ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุด สำหรับนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส

ครอบครัว Curie เริ่มมีความสุขขึ้น แต่ก็มีได้ไม่นาน เพราะเมื่อถึงเวลาบ่ายของวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1906 ในวันนั้นฝนตกหนัก ได้มีคนมาเคาะประตูบ้านเลขที่ 108 ถนน Boulevard Kellermann ที่ครอบครัว Curie อยู่ แล้วบอกว่า หลังจากที่ Pierre ได้จบการบรรยายที่คณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Sorbonne เรื่องอะตอม โมเลกุล และกัมมันตรังสีแล้ว ขณะเดินข้ามถนน Dauphine เขาเดินใจลอยและถูกรถม้าชนจนหกล้ม แล้วถูกรถบรรทุกขนาด 8 ตันชนซ้ำ จนกะโหลกศีรษะแตกตายคาที่

ทันทีที่ Marie ได้ข่าวนี้เธอรู้สึกช็อคมาก ทั้งๆ ที่เธอไม่มีน้ำตา เธอได้เพ้อหลายครั้งว่าเขาตาย ตายจริงๆ เหรอ นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เธอรู้สึกเหงาเป็นที่สุด สังคมภายนอกทั้งกษัตริย์ คณะรัฐมนตรี บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่รู้จักเธอ และ Pierre ต่างได้ส่งข้อความ จดหมาย และช่อดอกไม้มาแสดงความเสียใจ รัฐบาลฝรั่งเศสได้เสนอมอบเงินบำนาญให้เธอ เพราะคิดว่า เธอคงจบชีวิตการเป็นนักเคมี แต่ Marie ปฏิเสธเงินบำนาญ โดยอ้างว่า เธอยังทำงานหาเงินเลี้ยงลูก 2 คนได้ และเธอจะทำงานเคมีต่อไปเพื่อ Pierre

สภามหาวิทยาลัย Sorbonne ได้ลงมติให้ Marie เข้าครองตำแหน่งศาสตราจารย์แทน Pierre ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะมหาวิทยาลัย Sorbonne ไม่เคยมีศาสตราจารย์ผู้หญิง การตัดสินใจนี้ทำให้นักวิชาการอาวุโสหลายคนในมหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วย หลายคนอ้างว่า เธอประสบความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงเพราะสามี ดังนั้นในอีกไม่นาน เธอก็จะหมดน้ำยา

คำติติงทั้งหลายทำให้ Marie ประกาศรับตำแหน่งศาสตราจารย์ และในการเข้าครองตำแหน่งนี้ ประเพณีของมหาวิทยาลัยมีว่า ศาสตราจารย์คนใหม่ต้องแสดงปาฐกถาบรรยายผลงานของตน และกล่าวถึงผลงานของผู้ที่ตนจะเข้าครองตำแหน่งด้วย

ข่าวการจะแสดงปาฐกถาของ Marie ที่มหาวิทยาลัย Sorbonne ได้รับการต้อนรับเกินความคาดหวังของทุกคน เพราะสังคมทุกหมู่เหล่าและทุกชั้นวรรณะต่างได้แจ้งความประสงค์จะเข้าฟัง อาทิ รัฐบุรุษ ดาราภาพยนตร์ กษัตริย์ ราชินี และนักวิทยาศาสตร์ เช่น Lord Kelvin, William Ramsay (นักเคมีอังกฤษรางวัลโนเบลปี 1904) ประธานาธิบดี Fallieres แห่งฝรั่งเศสกับภริยากษัตริย์ Carlos และพระราชินี Amelia แห่งโปรตุเกส หลายคนเดินทางจากต่างประเทศมาเพื่อเข้าฟังการบรรยาย และให้เกียรติแก่ Marie Curie

เมื่อถึงเวลาบ่ายโมงครึ่ง Marie ในชุดสีดำไว้ทุกข์ได้เดินเข้ามาในห้องบรรยายทางประตูด้านข้าง เธอดูเศร้า ทุกคนในห้องประชุมลุกขึ้นยืน และปรบมือเสียงดังก้องห้องบรรยาย เธอยกมือขึ้นเล็กน้อย ให้ทุกคนสงบเงียบ แล้วนั่งลง บรรยากาศในห้องบรรยายเงียบ จนแทบจะได้ยินเสียงเข็มหมุดตก แล้ว Marie ก็เริ่มการบรรยายด้วยน้ำเสียงต่ำที่ฟังชัด แม้เธอจะพูดฝรั่งเศสด้วยสำเนียงโปแลนด์ก็ตาม แต่ทุกคนก็เข้าใจ และตั้งใจฟัง เธอได้เริ่มการบรรยายด้วยเนื้อหาที่ Pierre ได้พูดไว้ก่อนเขาเสียชีวิต เธอมิได้กล่าวถึงความโศกเศร้าของเธอเลย เนื้อหาเกี่ยวกับ polonium และ radium ที่คนทั้งสองพบ และเมื่อเธอบรรยายจบ ทุกคนปรบมือ คนฟังที่อยู่นอกห้องบรรยายซึ่งเข้าฟังในห้องไม่ได้ ก็ลุกขึ้นปรบมือ Marie เดินออกจากห้องบรรยายอย่างเงียบๆ เหมือนเมื่อตอนเธอเดินเข้ามา และเธอรู้ว่าทุกคนรู้สึกประทับใจในการบรรยายครั้งประวัติศาสตร์ของเธอ โดยเฉพาะพี่สาวของเธอ Dr. Dlushka แห่งเมือง Zakopane ในโปแลนด์ และพี่ชาย Dr. Sklodowska แห่ง Warsaw ซึ่งได้เดินทางมาฟังด้วย

ข่าวการได้ครองตำแหน่งศาสตราจารย์เคมีแห่งมหาวิทยาลัย Sorbonne ได้ทำให้ Dmitri Mendeleev ซึ่งกำลังใกล้เสียชีวิตที่เมือง St. Petersberg ในรัสเซียด้วยโรคปอดอักเสบรู้สึกยินดี สำหรับ Andrew Carnegie มหาเศรษฐีแห่งอเมริกา เมื่อได้ข่าวศาสตราจารย์ Marie Curie ก็ได้จัดส่งทุนวิจัยมาให้นักศึกษาในความดูแลของ Marie เพื่อใช้ในการทำวิจัยด้วย

เป้าหมายชิ้นต่อไปของ Marie คือ ต้องสกัดเรเดียมบริสุทธ์ออกมาให้ได้ เธอได้ทุ่มเทชีวิตเพื่อเรื่องนี้อย่างเต็มตัว โดยไม่เข้าสังคม ไม่ดูละคร ไม่ดูโอเปราเลย ชาวฝรั่งเศสแทบไม่ได้ข่าวใดๆ ของเธอ จนถึงปี 1910 เมื่อ Marie ผ่านกระแสไฟฟ้าไปในสารละลายของ radium chloride เธอได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ขั้วลบ ซึ่งทำด้วยปรอท เธอจึงเก็บคราบสารประกอบที่ซึ่งไปเผาในหลอดซิลิกาที่มีแก๊สไนโตรเจนบรรจุอยู่ภายใต้ความดันต่ำ และปรอทได้ระเหยกลายเป็นไอออกมา เหลือแต่เรเดียมบริสุทธิ์สีขาว

ผลงานชิ้นนี้ทำให้ Marie ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 1911 และได้ทำให้เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์คนเดียวในโลกที่รับรางวัลโนเบลทั้งสาขาฟิสิกส์ และสาขาเคมี

หลังจากนั้นเธอได้รับการทาบทามให้สมัครเป็นสมาชิกของ Academy of Sciences ที่ Pierre เคยเป็นสมาชิกเมื่อปี 1905 แต่สถาบันนี้ไม่เคยรับสตรีใดๆ เข้าเป็นสมาชิกเลย การอภิปรายโดยบรรดาสมาชิกเรื่องสมาชิกภาพของ Marie Curie ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง จนในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 2 คะแนนไม่ให้ Marie Curie เป็นสมาชิก และรับศาสตราจารย์ Edourd Bramley ผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจจับคลื่นวิทยุเข้าเป็นสมาชิก

Marie รู้สึกเสียใจที่ถูกสถาบัน Academy of Sciences ปฏิเสธด้วยประเด็นเพศของเธอ เมื่อถึงฤดูร้อนปี 1913 Marie ได้เดินทางไป Warsaw เพื่อจัดตั้ง Radium Institute ขึ้นที่นั่น และเดินทางกลับในฤดูใบไม้ร่วง

ในปี 1914 เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขณะกองทัพเยอรมันรุกเข้าใกล้ถึง Sorbonne Marie ได้หลบหนีไป Bordeaux เพื่อนำเรเดียมของเธอไปซุกซ่อนไม่ให้ตกอยู่ในเงื้อมมือของทหารเยอรมัน แล้วเดินทางกลับปารีส เพื่อปลุกระดมสตรี 150 คน ให้ออกช่วยกองทัพโดยการทำงานพยาบาลช่วยวิเคราะห์บาดแผลทหาร ด้วยรังสีเอ็กซ์ บุตรสาว Irene วัย 17 ปี ของเธอก็ได้เข้าร่วมโครงการด้วย ส่วน Marie วัย 47 ปี ได้เริ่มเรียนขับรถยนต์รับส่งทหารที่บาดเจ็บ

เมื่อเยอรมนีแพ้สงครามโลก Marie ได้นำเรเดียมที่เธอนำไปซุกซ่อนที่ Bordeaux กลับปารีส เพื่อนำไปใช้ที่ Radium Institute ชองฝรั่งเศสซึ่งมีเธอเป็นผู้อำนวยการ และตั้งอยู่บนถนน Pierre Curie

ในปี 1921 เมื่อมีคนถามเธอว่า เธออยากได้อะไรมากที่สุด เธอตอบว่า เรเดียม 1 กรัม เพื่อใช้เอง ทั้งๆ ที่เธอเป็นผู้พบเรเดียม แต่เธอกลับไม่มีเรเดียมใช้

ทันทีที่รู้ข่าวความต้องการของเธอ รัฐบาลอเมริกันได้ประกาศจะมอบสิ่งที่เธอต้องการ โดยมอบให้ Joseph Flannery เป็นหัวหน้าหน่วยขุดทราย carnotite ในเหมืองทางตอนใต้ของของรัฐ Colorado ซึ่งเป็นทรายที่มีเรเดียมอุดมสมบูรณ์ ชาวเหมือง 300 คน ได้ขุดทรายหนัก 500 ตัน ขึ้นมาเพื่อแปรสภาพ และสกัดหาเรเดียม สำหรับให้เป็นของขวัญแก่ Marie Curie ผู้จะเดินทางจากฝรั่งเศสมารับด้วยตนเองที่อเมริกา

ในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1921 ที่ห้องรับรองในทำเนียบขาว ประธานาธิบดี Hoover เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำอเมริกา รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์แห่งโปแลนด์ คณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษาศาลสูงสุด และนักวิทยาศาสตร์อเมริกันที่มีชื่อเสียง ได้มีโอกาสต้อนรับสุภาพสตรีร่างบอบบางผู้สวมชุดดำ และมีผ้าคลุมไหล่สีดำ ดวงตาสีฟ้าของเธอ กลมกลืนกับผมสีดอกเลาที่ถูกดัด ภายในห้องรับรองที่อบอวลกลิ่นดอกไม้ชนิดที่เธอโปรด ท่านประธานาธิบดีได้มอบเรเดียม 1 กรัมให้ Marie Curie เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ตามที่เธอประสงค์

เมื่อกลับจากอเมริกา เธอได้มอบเรเดียมให้โรงพยาบาลได้ใช้รักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นมะเร็ง และได้ทราบว่าทางโรงพยาบาลในโปแลนด์ก็ไม่มีเรเดียมใช้ เพื่อนๆ ได้แนะนำให้เธอไปขอเรเดียมจากอเมริกาอีก แต่แพทย์ประจำตัวห้ามเธอเดินทาง เพราะเธอกำลังอ่อนแอมาก และเป็นโรคโลหิตจาง แต่เธอต้องการไป จึงเดินทางอย่างเงียบๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกเหนื่อยมาก

วันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ.1929 เรือโดยสารนำ Marie Curie เดินทางถึงท่าเรือเมือง New York และเข้าเมืองทันทีโดยไม่ต้องผ่านด่านศุลกากรในฐานะบุคคลสำคัญ เธอบอกไม่ต้องการจับมือกับใคร เพราะจะทำให้เธอเหนื่อยมาก หลังจากการเลี้ยงต้อนรับที่ทำเนียบขาวแล้ว เธอได้แวะไปเยี่ยม National Academy of Sciences แห่งสหรัฐอเมริกา และรับเช็ค 50,000 ดอลลาร์ จากท่านประธานาธิบดี เพื่อไปซื้อเรเดียมจากเหมือง Katanga ในประเทศ Congo ของเบลเยียม นอกจากจะได้เรเดียมแล้ว เธอก็ยังได้ไปฉลองวาระครบ 50 ปี แห่งการประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าของ Edison ณ เมือง Detroit และรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัย Yale, California, Wellesley, Smith, Chicago และ Pennsylvania ด้วย

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน Marie Curie เดินทางกลับฝรั่งเศส ก่อนเธอกลับเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศมอบเงิน 1.5 ล้านฟรังค์ให้เธอสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยกัมมันตรังสี

สุขภาพของ Marie เริ่มทรุดลงๆ ตาทั้งสองข้างของเธอบอด และเมื่อโลกภายนอกเริ่มรู้ว่าเธอป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เธอก็ใกล้จะเสียชีวิตแล้ว

เมื่อถึงเวลาเที่ยงวันของวันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1934 สิริอายุ 68 ปี Marie ได้จากโลกไปอย่างเงียบๆ ศพของเธอถูกนำไปฝังใกล้ศพของ Pierre ที่สุสานเมือง Sceaux ในพิธีศพมีญาติ และเพื่อนร่วมงานที่รักเธอมาในพิธีไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

ครอบครัว Curie ยังสร้างผลงานที่โดดเด่นและสำคัญอีกมากมาย เช่นในปี 1935 ลูกสาว Irene ของเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกับสามีชื่อ Frederic Joliot จากผลงานการสร้างธาตุกัมมันตรังสีประดิษฐ์ ทั้งสองได้รับรางวัลหนึ่งปีหลังจากที่ Marie เสียชีวิต

ส่วนลูกสาวคนที่สองชื่อ Eve Curie นั้น ก็เป็นนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงก้องโลก เมื่อหนังสือที่เธอเขียนชื่อ Madame Curie ได้เป็นหนังสือเบสเซลเลอร์ และถูกนำไปแปลกว่า 50 ภาษา

ณ วันนี้ ศพของเธอกับ Pierre ได้ถูกนำไปฝังที่ Pantheon อันเป็นสถานที่เก็บศพของบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดของฝรั่งเศส

ปี 2011 นี้เป็นปีที่องค์การ UNESCO แห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีเคมีสากล และหนึ่งในกิจกรรมที่โลกทำ คือ เฉลิมฉลองวาระครบ 100 ปี แห่งการรับรางวัลโนเบลสาขาเคมีของ Marie Curie ครับ

สุทัศน์ ยกส้าน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อ่านเพิ่มเติมได้จาก Marie Curie: A Life โดย S. Quinn จัดพิมพ์โดย Saimon & Schuster, New York (1995)


"สุดยอดนักเคมีโลก"
โดย ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
ราคา 240 บาท
แต่จำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ในราคา 199 บาท

Madame Curie
กำลังโหลดความคิดเห็น