ไม่ง่ายหากจะอธิบายว่า “แสงซินโครตรอน” คืออะไร? และฝรั่งเศสก็เผชิญปัญหาเดียวกันนี้จนต้องผลิตชุดลองเพื่อปูพื้นความรู้แก่เยาวชน ผ่านการทดลองเรื่องคลื่น แสง เสียง และแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเด็กไทยมีโอกาสได้ลองเล่นและสัมผัสชุดการทดลองเดียวกันนี้ใน “งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ 54”
เป็นโอกาสดีสำหรับเยาวชนไทยและผู้สนใจวิทยาศาสตร์ที่มีจะโอกาสได้สัมผัสชุดทดลองเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน จาก สถาบันซินโครตรอน-โซเลย (Synchrotron-SOLEIL) ประเทศฝรั่งเศส ภายในงาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2554 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-21 ส.ค.54 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
เซลีน ลอรี (Celine Lolry) เจ้าหน้าที่สื่อสารวิทยาศาสตร์และตัวแทนหนึ่งเดียวจากสถาบันซินโครตรอน-โซเลย บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า นำการทดลองร่วมจัดแสดงในมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งนี้เพราะต้องการมีความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยและฝรั่งเศส และบอกด้วยว่าการเผยแพร่เรื่องซินโครตรอนที่ฝรั่งเศสเป็นเรื่องยากและมีปัญหาในการดึงดูดให้คนสนใจ เพราะคนมองว่าฟิสิกส์เหมือนเป็นเรื่องยาก จับต้องได้ยากและเป็นนามธรรม
“พูดถึงซินโครตรอนคนตกใจ ไม่รู้เรื่องแต่ถ้าพูดถึงแสง คลื่น แม่เหล็ก ซึ่งเป็นพื้นฐานของซินโครตรอนจะทำให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เลยเอาของใกล้ตัวมาให้เรียนรู้ ที่ฝรั่งเศสมีคนเข้าร่วมมหกรรมวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย แต่สำหรับที่โซเลยจะรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นเข้าชมนิทรรศการซินโครตรอนของสถาบัน เพราะเด็กมีพื้นฐานบ้างแล้ว แต่เด็กอ่อนกว่านั้นยังไม่เรียนเรื่องอะตอมเลย จึงค่อนข้างมีปัญหา แต่เราก็อยากให้เด็กเล็กๆ ได้เริ่มต้นเรียนรู้บ้าง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ” ลอรีกล่าว
พร้อมกันนี้ลอรีได้กล่าวถึงมหกรรมวิทยาศาสตร์ที่ฝรั่งเศสว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1991 จากแนวคิดริเริ่มของรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ที่ต้องการให้เผยแพร่วิทยาศาสตร์ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเมื่อประสบความสำเร็จก็จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่นั้น โดยลักษณะงานจะเป็นกิจกรรมที่ทั้งเมืองและองค์การท้องถิ่นทั่วประเทศต้องร่วมกันจัดขึ้นอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่ 15 ต.ค.เป็นต้นไป และเมื่อมีโอกาสเยือนเมืองไทยและได้เห็นรูปแบบการจัดงานวิทยาศาสตร์นั้นทำให้เธอมีมุมมองต่อการจัดงานที่เปลี่ยนไป
“รูปแบบการจัดงานของฝรั่งเศสจะเน้นการทดลองและอุปกรณ์มากว่า เด็กๆ มาถึงก็ทดลองอย่างจริงจัง แต่ที่เมืองไทยมีความเป็นแฟนตาซี อลังการ มีดารามาร่วมงาน มีกิจกรรม มีเกม และมีความเป็นศูนย์กลางมากกว่า” ลอรีกล่าว แต่ไม่ฟันธงว่ารูปแบบไหนดีกว่ากัน แต่ประสบการณ์ล่าสุดก็ให้มุมมองใหม่แก่เธอ และอาจเป็นแนวทางในการสร้างแรงดึงดูดให้คนทั่วไปหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ได้มากกว่านี้ ทั้งนี้ แม้ฝรั่งเศสจะมีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาสาสตร์และมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน แต่ก็อยากให้เด็กเล็กๆ และคนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้
อุปกรณ์ที่สถาบันโซเลยนำมาร่วมแสดงในมหกรรมวิทยาศาสตร์มีทั้ง เครื่องกำเนิดคลื่นบนเส้นเชือก อุปกรณ์สาธิตการเกิดคลื่นกลและส้อมเสียง เธเรมิน (Theremin) เครื่องดนตรีที่มีกำเนิดมาจากอุปกรณ์ตรวจจับการบุกรุกของรัสเซีย อุปกรณ์สำหรับแสดงอำนาจแม่เหล็ก ผงตะไบเหล็กสำหรับสาธิตอำนาจและเส้นแรงแม่เหล็ก ลำโพงสาธิตคลื่นเสียงที่ความถี่ต่างๆ อุปกรณ์สาธิตการลอยตัวของแม่เหล็ก
ชุดทดลองเหล่านี้จัดแสดงในนิทรรศการ Franco-Thai and Technology Pavilion ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ โดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) สถาบันซินโครตรอน-โซเลย และบริษัทสยามมิชลิน จำกัด ด้วยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส และอาจมีความร่วมมือในการจัดแสดงชุดทดลองนี้ในไทยต่อไป
อ่านเพิ่มเติม
- วางแผนเที่ยวมหกรรมวิทย์ '54