นักวิทยาศาสตร์เสนอทฤษฎีใหม่ในอดีตโลกเราอาจเคยมีดวงจันทร์เป็นบริวาร 2 ดวง โดยจันทร์อีกดวงเล็กกว่าและมีขนาดเพียง 1 ใน 3 ของดวงในปัจจุบัน แล้วค่อยๆ ชนกันด้วยความเร็วต่ำกว่าเสียง เชื่อเป็นเหตุผลว่าทำไมอีกด้านที่หันเข้าหาเราจึงแบน ส่วนอีกด้านมีหลุมลึกและภูเขาสูงชันกว่า 3 กิโลเมตร
บีบีซีนิวส์ระบุว่ารายละเอียดของงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ (Nature) โดยนักวิจัยคาดหวังว่า ข้อมูลจากปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) จะสนับสนุนหรือหักล้างทฤษฎีนี้ได้ในปีหน้า ทั้งนี้ เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะเข้าใจว่า ทำไมดวงจันทร์ด้านที่มองเห็นจากโลกนั้นจึงแบน ส่วนอีกด้านจึงมีหลุมลึกและภูเขาที่สูงชันมากกว่า 3,000 เมตร
มีหลายทฤษฎีที่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงความแตกต่างของดวงจันทร์ทั้งสองด้าน หนึ่งในทฤษฎีเหล่านั้นคือแรงดึงของโลกกระทำต่อหินหนืด ซึ่งไหลอยู่ได้แผ่นเปลือกดวงจันทร์ ทำให้รูปร่างของดวงจันทร์เป็นเช่นนี้ หากแต่งานวิจัยนี้เสนอแนวคิดที่แตกต่างว่า การชนในอวกาศเป็นสาเหตุ โดยเมื่อประมาณ 4 พันล้านปีก่อนโลกถูกดาวเคราะห์ขนาดเท่าดาวอังคารพุ่งชน และเศษที่เหลือจากการชนกลายดวงจันทร์บริวารของเรา
หากแต่การชนครั้งนั้นยังทำให้เกิดดวงจันทร์อีกดวงที่มีขนาดเล็กกว่าและเกิดจากวัตถุเดียวกัน แล้วติดค้างอยู่ระหว่างแรงดึงดูดของโลกและดวงจันทร์ที่ใหญ่กว่า ซึ่ง ดร.มาร์ติน จูตซี (Dr.Martin Jutzi) จากมหาวิทยาลัยเบิร์น (University of Bern) สวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่าทฤษฎีที่มีอยู่ไม่สมเหตุสมผลต่อการมีดวงจันทร์อยู่เพียงดวงเดียว ส่วนทฤษฎีใหม่นั้นเข้ากันดีกับทฤษฎีกำเนิดโลกที่เกิดจากดาวเคราะห์อีกดวงพุ่งชน
หลังจากติดค้างอยู่ในแรงดึงดูดนานหลายล้านปี จันทร์ดวงเล็กกว่าก็เริ่มกระบวนการพุ่งชนจันทร์ดวงที่ใหญ่กว่าอย่างช้าๆ ด้วยความเร็ว 2.4 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งต่ำกว่าความเร็วเสียงที่เดินทางในของแข็งอย่างหิน โดย ดร.จูตซีกล่าวว่าเป็นการชนที่นุ่มนวล ซึ่งมีความสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงไม่เกิดการสั่นสะเทือนที่รุนแรงหรือเกิดการละลายขึ้น และระหว่างที่เกิดการชนกันนั้น จันทร์ดวงใหญ่กว่าน่าจะมี “มหาสมุทรหินหนืด” ที่มีแผ่นเปลือกปกคลุมอยู่ด้านบน
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการชนกันนั้นทำให้เกิดวัตถุบนแผ่นเปลือกดวงจันทร์ และยังทำให้เกิดการจัดเรียงหินหนืดใต้แผ่นเปลือกของดวงจันทร์ด้านที่หันเข้าหาโลกใหม่ โดยแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากการสำรวจของยานอวกาศลูนาร์โพรสเปกเตอร์ (Lunar Prospector) ของนาซา
ด้าน ดร.มาเรีย ซูเบอร์ (Dr.Maria Zuber) จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือเอ็มไอที (MIT) ในเคมบริดจ์ สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ขณะที่การศึกษาใหม่สาธิตให้เห็นความน่าจะเป็นมากกว่าเป็นการพิสูจน์ แต่ก็เสริมความเป็นไปได้ว่าการชนกันครั้งใหญ่นั้นทำให้โลกมีดวงจันทร์มากกว่า 1 ดวง
ดร.ซูเบอร์เชื่อว่าจะพิสูจน์ทฤษฎีนี้ได้ด้วยรายละเอียดโครงสร้างภายในของดวงจันทร์จากยานลูนาร์เรคอนเนสซองซ์ออร์บิเตอร์ (Lunar Reconnaissance Orbiter: LRO) ของนาซา กับแผนที่โน้มถ่วงความละเอียดสูง จากปฏิบัติการของยานเกรล (Gravity Recovery and Interior Laboratory: GRAIL) เพื่อศึกษาแรงโน้มถ่วงบนดวงจันทร์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีหน้า
หากแต่ ดร.จูตซีกล่าวว่านักวิทยาศาสตร์อยากจะได้ตัวอย่างของจริงจากดวงจันทร์ในด้านไกลมาพิสูจน์ทฤษฎีของพวกเขามากกว่า และคาดหวังว่าปฏิบัติการเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์หรือปฏิบัติการส่งมนุษย์ไปอวกาศจะช่วยพิสูจน์ทฤษฎีโลกมีดวงจันทร์มากกว่า 1 ดวงได้
ชมคลิปจำลองกำเนิดดวงจันทร์