เพราะมนุษย์ต้องการติดต่อสื่อสารกันแต่สมัยโบราณ ดังนั้นจึงได้คิดหาวิธีต่างๆ เพื่อให้บรรลุความประสงค์นี้ เช่น จุดกองไฟบนยอดเขาในเวลากลางคืนเพื่อส่งสัญญาณให้เพื่อนที่อยู่ไกล ได้รู้ว่าขณะนี้กองทัพศัตรูกำลังเคลื่อนที่ใกล้เข้ามาแล้ว หรือฝูงสัตว์ที่ต้องการจะล่านั้นได้หลบหนีไปแล้ว ในพุทธศตวรรษที่ 22 ชาวอังกฤษได้เคยส่งข้อความถึงกันโดยใช้สัญญาณ semaphore ด้วยการถือธงในมือทั้งสองข้างแล้วให้ตำแหน่งของธงที่ยื่นจากมือบอกตัวอักษรให้เพื่อนอ่านจนรู้ความหมายของคำ แล้วเพื่อนก็ส่งข้อความนั้นต่อให้คนต่อไปอ่าน ในปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ในสหรัฐอเมริกาได้มีการสร้างเสาสูงให้คนที่มีหน้าที่ส่งสัญญาณขึ้นไปบนเสาและให้คนรับสัญญาณใช้กล้องส่องทางไกลอ่านอักษรที่ส่งมาจนกระทั่งสัญญาณหมด แล้วเขาก็จะส่งสัญญาณต่อไปเรื่อยๆ เมื่อความต้องการด้านนี้มีมากขึ้น รัฐบาลอเมริกันจึงคิดสร้างเครือข่ายส่งข้อความทางไกลด้วยงบประมาณ 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ให้ติดตั้งเสาสูงเรียงเป็นระยะทางยาวประมาณ 1,500 กิโลเมตร แต่ไม่มีนักวิชาการหรือนักประดิษฐ์ใดสนใจเทคนิคนี้ ในปี 2380 มีชายคนหนึ่งได้นำเสนอโครงการ telegraph (โทรเลข) เขาคือ Samuel Finley Breese Morse
Samuel F.B. Morse เกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2334 (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ที่เมืองชาร์ลส์ทาวน์ รัฐแมสซาชูเซตส์ในสหรัฐอเมริกา บิดา Jedidish Morse มีอาชีพเป็นนักเทศน์ และมารดา Elizabeth Breese เป็นแม่บ้าน Morse เป็นคนเคร่งศาสนาตลอดชีวิตเหมือนพ่อ เมื่ออายุ 16 ปี เขาได้ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเยล ขณะเรียนที่นั่นคนอเมริกันทั้งประเทศกำลังตื่นเต้นกับเรือกลไฟที่ Robert Fulton ประดิษฐ์ ซึ่งเดินทางรับส่งผู้โดยสารระหว่างออลบานีกับนิวยอร์ก
เมื่ออายุ 20 ปี Morse ได้เดินทางไปอังกฤษกับ Washington Allston เพื่อศึกษาศิลปะที่ Royal Academy of Art เพราะยุโรปยุคนั้นถือว่าคนที่ไม่ซาบซึ้งในศิลปะคือคนเถื่อนที่ไม่ได้รับการศึกษา ดังนั้นบรรดาคนมีฐานะสังคมสูงจึงนิยมมีภาพวาดประดับประดาเต็มบ้าน แต่คนอเมริกาคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องของคนชั้นต่ำ ดังนั้นเมื่อ Morse กลับถึงบ้านเกิดเมืองนอนในอีก 5 ปีต่อมา เขาจึงรู้สึกแปลกใจเมื่อพบว่าคนอเมริกันหันมาสนใจศิลปะการวาดภาพเหมือน ในขณะที่คนยุโรปกลับคิดว่าภาพประวัติศาสตร์มีคุณค่ายิ่งกว่าภาพเหมือน เมื่อสังคมมีรสนิยมเช่นนั้น Morse จึงยึดอาชีพจิตรกรภาพเหมือน โดยคิดราคาวาดภาพละ 60 ดอลลาร์ การวาดภาพได้ สัปดาห์ละ 4 ภาพ ทำให้เขามีรายได้ค่อนข้างดี
เมื่ออายุ 27 ปี Morse ได้สมรสกับ Lucretia Walker แห่งเมืองคองคอร์ด แล้วอพยพครอบครัวไปอยู่ที่เมืองชาร์ลส์ตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา และเลิกอาชีพจิตรกรวาดภาพเหมือน ไปรับงานจ้างวาดภาพประวัติศาสตร์เพื่อประดับห้องประชุมของสภาผู้แทนราษฎรที่วอชิงตัน เวลา 18 เดือนผ่านไปภาพที่วาดก็เสร็จแต่ไม่มีคนซื้อภาพเลย เมื่อเงินสะสมร่อยหรอไปทุกวัน ครอบครัวจึงต้องย้ายไปนิวยอร์ก เพื่อรับจ้างวาดภาพเหมือนของนายพล Lafayette ซึ่งขณะนั้นกำลังเยือนสหรัฐฯ แต่ Morse ไม่รู้สึกภูมิใจในภาพที่วาดนั้นเลย ทั้งๆ ที่อีก 2 ปีต่อมาชาวอเมริกันได้ยอมรับว่าเขาเป็นจิตรกรหนุ่มชั้นนำของประเทศผู้ได้วาดภาพ The Gallery of the Louvre ซึ่งเป็นภาพหนึ่งในบรรดาภาพที่มีชื่อเสียงของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์
เมื่ออายุ 38 ปี Morse ได้เดินทางไปยุโรปอีกเพื่อศึกษาศิลปะ และหนีความยากจนในอเมริกา หลังจากใช้เวลา 3 ปีในยุโรป Morse กับภรรยาได้เดินทางกลับอเมริกาด้วยเรือโดยสารชื่อ Scully ขณะอยู่บนเรือ Morse ได้เอ่ยกับกัปตันเรือว่า “เมื่อก้าวลงเรือคุณผมมีอาชีพเป็นจิตรกร แต่เมื่อก้าวขึ้นจากเรือผมจะเป็นนักประดิษฐ์” ทั้งนี้เพราะขณะอยู่บนเรือ Morse ได้สนทนากับเพื่อนโดยสาร เรื่องปรากฏการณ์การเหนี่ยวนำไฟฟ้าของ Faraday แล้ว Morse ก็ตระหนักได้ทันทีว่าเขาสามารถใช้สัญญาณไฟฟ้าในการสื่อสารได้ แต่ตนไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้เลย
เมื่อกลับถึงอเมริกา Morse ได้เริ่มทดลองเรื่องไฟฟ้าเป็นงานอดิเรกที่บ้านของน้องชาย ส่วนงานประจำนั้นคือเป็นศาสตราจารย์ศิลปะและการออกแบบที่มหาวิทยาลัย City of New York เพราะเงินเดือนที่ได้รับไม่มาก Morse จึงต้องหาเงินเพิ่มเติม โดยการสร้างเครื่องส่งสัญญาณและได้นำแบตเตอรี่ แท่งเหล็ก และลวดมาต่อเป็นวงจร แต่ไม่ได้ผลอะไร จึงไปขอความช่วยเหลือจาก Leonard Gale แห่งภาควิชาเคมี ผู้คุ้นเคยกับผลงานของ Joseph Henry ผู้พบวิธีเหนี่ยวนำไฟฟ้าพร้อมๆ กับ Faraday อุปกรณ์ส่งสัญญาณของ Morse ส่งกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะๆ แต่ Morse ใช้แบตเตอรี่เพียงตัวเดียวจึงส่งสัญญาณได้ไม่ชัดและไม่ไกล คือประมาณ 500 เมตรเท่านั้นเอง
ต่อมา Morse ได้รู้จักกับ Stephen Vail ผู้เป็นเจ้าของโรงงานถลุงเหล็กที่นิวเจอร์ซีย์ และเป็นคนที่เลื่อมใสในความเป็นนักประดิษฐ์ของ Morse มาก Vail จึงมอบเงินแก่ Morse ในการวิจัยโดยมีเงื่อนไขว่า Morse ต้องอนุญาตให้ลูกชายที่ชื่อ Alfred Vail ผู้มีความสามารถด้านการออกแบบมาช่วย Vail จึงออกแบบเครื่องโทรเลขให้ Morse แต่พ่อของเขาได้ขอให้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ในนามของ Morse
ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2380 Morse วัย 46 ปี ได้ขอทุนวิจัยจากประธานรัฐสภาสหรัฐฯ Francis O.J. Smith เพื่อประดิษฐ์เครื่องโทรเลข ต่อมา Smith ได้ลาออกจากตำแหน่งมาช่วย Morse ทำงาน อีกทั้งได้นำ Morse ไปจดสิทธิบัตรของสิ่งที่เขาประดิษฐ์ด้วย
เมื่อเดินทางถึงอังกฤษ Morse ได้รับการบอกกล่าวว่า Charles Wheatstone ก็ประดิษฐ์เครื่องโทรเลขได้แล้ว และในฝรั่งเศสมีข่าวว่า Carl August von Steinheil ประดิษฐ์ได้เช่นกัน ส่วนในรัสเซีย Baron Pavel Luovich Schilling ก็สร้างเครื่องโทรเลขได้ตั้งแต่ปี 2468 แต่พระเจ้าซาร์ทรงไม่เห็นด้วยที่จะให้ประชาชนที่อยู่ไกลกันติดต่อกัน เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความเป็นเอกราชของชาติ และราชบัลลังก์ พระองค์จึงทรงมีพระบรมราชโองการห้ามสร้างเครื่องมือที่จะใช้ทำลายความมั่นคงของชาติอย่างเด็ดขาด
Morse เดินทางกลับอเมริกา และประสบความลำบากมาก เพราะไม่มีเงินถึงขนาดต้องอดมื้อกินมื้อ Morse จึงกล่าวเตือนบรรดาศิษย์ว่าอย่าริเป็นจิตรกร เพราะนั่นคือการคิดจะเป็นขอทานที่ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำใจของคนที่ไม่เคยรู้จักความงามของศิลปะ และแม้แต่สุนัขเลี้ยงในบ้านก็ยังกินดีอยู่ดีกว่าจิตรกรมาก ต่อมาเมื่อ Gale ขอลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วย Morse จึงเดินทางไปขอความอนุเคราะห์จาก Joseph Henry ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และ Henry ก็ได้มอบแนวคิดและอุปกรณ์ที่ได้ออกแบบให้ Morse นำไปปรับใช้ในเครื่องส่งสัญญาณจนส่งไปได้ไกลเป็นกิโลเมตร โดยที่ความดังของสัญญาณไม่ลดเลย ถึงกระนั้นรัฐสภาสหรัฐฯ ก็ยังไม่สนับสนุนโครงการนี้ Morse วัย 52 ปี รู้สึกทนไม่ได้กับเสียงหัวเราะเยาะของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อรู้สึกผิดหวังมากจึงเดินทางกลับนิวยอร์กโดยมีเงินติดกระเป๋าเพียง 37 เซ็นต์เท่านั้นเอง
ที่นิวยอร์ก Morse ได้ทราบข่าวว่าประธานาธิบดี John Tyler แห่งสหรัฐฯ ได้อนุมัติโครงการโทรเลขของเขาแล้วด้วยงบประมาณ 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ติดตั้งเสาโทรเลขระหว่างบัลติมอร์กับวอชิงตันซึ่งเมืองทั้งสองอยู่ห่างกัน 70 กิโลเมตร Morse จึงออกแบบอุปกรณ์ให้ตัวส่งสัญญาณมีแป้นเคาะแบบคานโยก สำหรับเปิดและปิดกระแสไฟฟ้า ส่วนตัวรับสัญญาณมีลักษณะเป็นแผ่นจานที่มีลูกตุ้มติดดินสอที่แขวนอยู่เหนือแถบกระดาษที่เลื่อนไปๆ ขณะเครื่องทำงาน ลูกตุ้มนี้สามารถเคลื่อนที่ขึ้นลงได้ด้วยแท่งแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อให้ดินสอสามารถเขียนจุดหรือขีดบนกระดาษให้ผู้รับเห็น อ่านและแปลรหัสเป็นตัวอักษรต่อไป จากนั้น Morse ได้นำอุปกรณ์ของเขาไปทดลองให้วุฒิสมาชิกและผู้พิพากษาหลายคนที่วอชิงตันดูเขาติดต่อสื่อสารกับ Vail ที่บัลติมอร์
ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2387 Morse ได้ส่งประโยคอมตะว่า “What hath God Wrought”ถึง Vail ได้สำเร็จ อีก 2 สัปดาห์ต่อมา เมื่อพรรคเดโมแครตจัดการประชุมพรรคที่เมืองบัลติมอร์ Morse ได้ส่งข่าวการประชุมทางโทรเลขไปลงหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่นั้นใครๆ ก็หันมาใช้โทรเลขส่งข่าวสารถึงกัน เช่นในปี 2391 คนอเมริกันได้อ่านข่าวสงครามในเม็กซิโกอย่างรวดเร็ว การสื่อสารด้วยโทรเลขทำให้ Morse กลายเป็นอัจฉริยะนักประดิษฐ์ของโลก ถึงจะมีการฟ้องร้องเรื่องสิทธิบัตรจากนักประดิษฐ์หลายคนเช่น Charles Wheatstone และ William Crooke แต่ Morse ก็ชนะความหมด
แม้ Morse จะเอาชนะนักประดิษฐ์คนอื่นๆ ในแง่ของกฎหมายได้ แต่เมื่อ Vail เขียนบทความลงในหนังสือชื่อ The American Electro-Magnetic Telegraph โดยไม่กล่าวถึงความช่วยเหลือที่ได้รับจาก Henry เลย ทำให้ Henry รู้สึกไม่พอใจมากจึงได้กล่าวท้วงติง แต่ Morse ก็ไม่นำพาที่จะให้เครดิตแก่ Henry Henry จึงประกาศตัดสัมพันธ์กับ Morse เพราะรู้สึกเจ็บใจมาก จึงได้ขอให้รัฐสภาสหรัฐฯ สอบสวนเรื่องนี้ในปี 2401 รัฐสภาได้ออกแถลงการณ์ตำหนิ Morse เรื่องไม่ให้เครดิตแก่ Henry เมื่อ Morse เสียชีวิตในปี 2415 ทั้งๆ ที่รัฐสภาให้เกียรติจัดงานศพให้แก่ Morse แต่ Henry ก็ปฏิเสธที่จะไปคารวะศพของ Morse ที่โลกรู้จักในนามบุรุษผู้ประดิษฐ์เครื่องรับ-ส่งโทรเลข
ณ วันนี้โลกยังจดจำรหัสมอร์สที่สำคัญคือ SOS (Save Our Ship หรือ Save Our Souls) รหัสของคำนี้คือ (..._ _ _ ...) โดย S แทนด้วยจุด 3 จุด และ O แทนด้วยขีด 3 ขีด อันเป็นรหัสสากลสำหรับขอความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ ได้ใช้หลังเกิดอุบัติภัยเรือ Titanic จมในปี 2455 ลุถึงปี 2538 หน่วยรักษาการณ์ชายฝั่งทะเลของสหรัฐฯ ได้ประกาศยกเลิกการใช้อุปกรณ์สื่อสารทางทะเลด้วยรหัสมอร์ส เพราะช้าและไม่สะดวกในการส่งสัญญาณ
ในปี 2418 (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) คนไทยเริ่มรู้จักโทรเลขและได้ใช้ในอีก 8 ปีต่อมา เมื่อโลกมีโทรศัพท์ใช้ในปี 2419 หลังจากนั้นโทรเลขก็เริ่มลดบทบาทลงเรื่อยๆ ครั้นเมื่อมีโทรศัพท์ทางไกลใช้ โทรเลขก็ลดยิ่งความนิยมลงไปอีก จนในที่สุดการสื่อสารด้วยโทรเลขแทบไม่มีเลย ในปี 2523 เมื่อมีการพัฒนาระบบโทรศัพท์ให้สามารถส่งแฟกซ์ รวมถึงการพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์จนสามารถส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ ข้อที่เคยดีของโทรเลขคือการมีหลักฐานการติดต่อที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็หมดความหมาย จากในปี 2528 ที่คนไทยส่งโทรเลข 8.32 ล้านฉบับ เมื่อถึงปี 2551 สถิติการส่งโทรเลขของคนไทยลดลงเหลือ 36,000 ฉบับเท่านั้นเอง และเมื่อวันที่ 30 เมษายน ปี 2552 ประเทศไทยก็ได้ประกาศยกเลิกระบบการสื่อสารด้วยโทรเลขแล้ว หลังจากที่สิ่งประดิษฐ์ของ Morse ได้รับใช้คนไทยมานาน 125 ปี
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
"หนังสือ สุดยอดนักฟิสิกส์โลก โดย ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
มีจำหน่ายแล้วตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ในราคา 220 บาท"