xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว “นักนิวเคลียร์” รุ่นใหญ่-รุ่นใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายไปขวา) รศ.มลุลี และ ดร.ดุลยพงศ์
สทน.เปิดตัว 2 นักนิวเคลียร์รุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ “นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่น” และ “นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์รุ่นใหม่” โดยเตรียมมอบรางวัลในงานประชุมวิชาการนิวเคลียร์ ครั้งที่ 12 วันที่ 6-7 ก.ค.นี้

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ที่มีผลงานโดดเด่น ประจำปี 2554 ใน 2 รางวัล คือ รางวัลนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่น ได้แก่ รศ.มลุลี ตัณฑวิรุฬห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ รางวัลนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดาวรุ่ง ได้แก่ ดร.ดุลยพงศ์ วงศ์แสวง อาจารย์ประจำภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับตัวอย่างผลงานของ รศ.มลุลี ได้แก่ งานด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์คลีนิก ที่เน้นการป้องกันอันตรายจากรังสี โดยมีผลงานหลักๆ คือ โครงการเฝ้าระวังผลกระทบทางรังสีจากการรักษาผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ด้วยไอโอดีน -131 และ โครงการตรวจสอบการปนเปื้อนไอโอดีน -131 ในระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเฝ้าระวังระดับการปนเปื้อนไอโอดีน-131 ในน้ำทิ้งที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ส่วนตัวอย่างผลงานวิชาการและงานวิจัยของ ดร.ดุลยพงศ์ ได้แก่ งานวิจัยเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย โดยเฉพาะวัสดุเชื้อเพลิง งานวิจัยเกี่ยวกับวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ งานวิจัยเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบอุณหภูมิสูงที่ใช้ก๊าซระบายความร้อน งานวิจัยเกี่ยวกับการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีในอากาศ และงานวิจัยสกัดยูเรเนียมจากน้ำทะเล เป็นต้น

ทั้งนี้ รศ.มลุลี และ ดร.ดุลยพงศ์ จะรับมอบโล่ห์รางวัลภายในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ครั้งที่ 12 ที่ สทน.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นระหว่าง 6-7 ก.ค.54 ณ โรงแรมแชงกรีล่า โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และทรงร่วมบรรยายพิเศษแก่ผู้ร่วมประชุม และภายในงานยังมีนิทรรศการ การบรรยาย การเสวนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์จากต่างประเทศ อาทิ การบรรยายพิเศษจากสถาบันวิจัยพลังงานปรมาณูแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KAERI) และองค์การพลังงานปรมาณูแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAEA) เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น