ชี้วิทยาศาสตร์ช่วยลดช่องว่างคุณภาพชีวิตประชาคมอาเซียน ใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคระบาดและภัยพิบัติต่างๆ ผนึกความเข้มแข็งให้ภาคสังคมในอาเซียน และยังช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าให้แก่ประเทศสมาชิก
ภายในงาน “120 ปี กรมวิทยาศาสตร์บริการ” เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 54 ณ อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ดร.สุนทร ชัยยินดีภูมิ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ (กต.) ได้กล่าวบรรยายถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนาคุณภาพชีวิตในประชาคมอาเซียนว่า หลายคนมองว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้ววิทยาศาสตร์ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคระบาด หรือภัยพิบัติต่างๆ ได้ และยังช่วยลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียนได้อีกด้วย
ดร.สุนทรยกตัวอย่างว่า หากลาวหรือกัมพูชามีเทคโนโลยีตรวจสอบสินค้าที่ได้คุณภาพและมีมาตรฐาน ผู้บริโภคจะมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของสินค้าที่นำเข้าโดยไม่ต้องตรวจสอบซ้ำให้เสียเวลา แต่ตอนนี้การพัฒนาของแต่ละประเทศยังไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงต้องทำให้แต่ละประเทศมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน เพื่อเดินหน้าและผนึกกำลังความเข้มแข็งในประชาคมอาเซียนต่อไป
“การสนับสนุนของประชาคมอาเซียนทางด้านวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งหากเป็นมิติทางการเมืองแล้วจะเห็นภาพความขัดแย้งหรือในมิติทางเศรษฐกิจจะเห็นภาพการเสียเปรียบทางการค้า ทำให้การเจรจาตกลงในเรื่องต่างๆ มีความซับซ้อน แต่สำหรับวิทยาศาสตร์นั้นจะไม่เห็นภาพของความขัดแย้งเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงสามารถตกลงความร่วมมือในเรื่องต่างๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น” ดร.สุนทรกล่าว
สำหรับงาน “120 ปี กรมวิทยาศาสตร์บริการ” นี้ จัดขึ้นระหว่าง 23-24 มิ.ย. 54 ณ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยี ซ.โยธี ซึ่งภายในงานยังมี การเสวนาจากศูนย์ทดสอบต่างๆ ของ วศ. การเปิดให้เข้าชมห้องปฏิบัติการของกรม และการออกร้านของผู้ประกอบการที่เ้ข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการทดสอบจาก วศ.