นาซาส่ง "เอนเดฟเวอร์" กระสวยอวกาศน้องเล็กสุดท้อง ออกเดินทางครั้งสุดท้ายได้สำเร็จ พร้อมขนกล้องศึกษาสเปกตรัม เก็บข้อมูลให้ "เซิร์น"ตรวจจับปฏิสสารและพลังงานมืดในเอกภพ
กระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ออกเดินทางจากศูนย์อวกาศเคนนาดี แหลมคานาเวรัล มลรัฐฟลอริดา สู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) แล้ว เมื่อเวลา 19.56 น.ของวันที่ 16 พ.ค.2011 ตามเวลาประเทศไทย พร้อมลูกเรือประจำยานอีก 6 นาย หลังต้องเลื่อนกำหนดมานาเกือบ 2 สัปดาห์ เหตุเพราะไฟฟ้าขัดข้อง
มาร์ก เคลลี (Mark Kelly) รับหน้าที่บัญชาการเที่ยวบินเอสทีเอส-134 (STS-134) อันเป็นรหัสการเดินทางครั้งสุดท้ายของเอนเดฟเวอร์ เขาได้นำพายานอายุ 19 ปีทะยานขึ้นฟ้า ท่ามกลางผู้สังเกตการณ์กว่า 500,000 คน รวมถึงกาเบรียล กิฟฟอร์ดส์ (Gabrielle Giffords) วุฒิสมาชิกแห่งมลรัฐแอริโซนา ภรรยาของเคลลี ที่ถูกยิงที่ศรีษะ แต่รอดชีวิตแบบไร้การรับรู้มาตลอดกว่าปี ก็เพิ่งจะรู้สึกตัวเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเธอได้เดินทางมาชมการปฎิบัติหน้าที่ของสามีในครั้งนี้ด้วย
การเดินทางของเอนเดฟเวอร์ในครั้งนี้ มีกำหนดปฏิบัติภารกิจนอกโลกเป็นเวลา 16 วัน โดยนอกจากจะขนส่งเครื่องอุปโภคและอุปกรณ์ที่จำเป็นสู่ไอเอสเอสแล้ว ยังจะมีการทดลองทางด้านฟิสิกส์ดาราศาสตรด้วย
ครั้งนี้ เอนเดฟเวอร์ได้นำกล้องศึกษาสเปกตรัมเอเอ็มเอส (AMS : Alpha Magnetic Spectrometer) มูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไปค้นหาศึกษา "ปฏิสสาร" (antimatter) และ "พลังงานมืด" (dark energy) ในเอกภพ
กล้องเอเอ็มเอสตัวดังกล่าว พัฒนาขึ้นโดยเซิร์น (CERN) องค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป โดยออกแบบขึ้นเพื่อตรวจวัดปฏิสสารในอวกาศ ทว่าในช่วงสุดท้ายที่ติดตั้งสวิตซ์แม่เหล็ก ส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลง จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่า เมื่อกล้องเอเอ็มเอสถูกนำไปใช้จริงที่อวกาศ จะมีศักยภาพในการตรวจจับปฏิสสารได้เท่ากับภาคพื้นดินหรือไม่
ครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย ยังนับเป็นการบินครั้งที่ 25 ของเอนเดฟเวอร์ น้องเล็กแห่งฝูงกระสวยอวกาศนาซา ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนชาแลนเจอร์ (Challenger) ที่ครบรอบ 25 ปีแห่งโศกนาฎกรรมไปเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา