xs
xsm
sm
md
lg

“สาธิตราม” พยายามจนได้ชัยคว้าแชมป์จรวดขวดน้ำหลังพลาดมา 4 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 9 (Thailand Water Rocket Championship 9 ) รอบชิงชนะเลิศ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คลองห้า จ.ปทุมธานี ในวันที่ 27 เม.ย. 54 ที่ผ่านมา
ปิดฉากลงแล้วสำหรับการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ ครั้งที่ 9 ซึ่ง “สาธิตราม” สามารถคว้าชัยในประเภทยิงแม่นและเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันระดับเอเชียกับอีก 11 ประเทศที่สิงคโปร์ ทั้งนี้ เป็นชัยชนะหลังจากพลาดหวังมาแล้วถึง 4 ปี

เข้าสู่ปีที่ 9 สำหรับการแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับประเทศ (Thailand Water Rocket Championship 9) ซึ่ง ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้ติดตามชมการแข่งขัน รอบชิงชนะเลิศเมื่อวันที่ 27 เม.ย.54 ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)  คลองห้า จ.ปทุมธานี โดยปีนี้มีผู้สมัครเข้าแข่งขันกว่า 1,800 ทีม

จากการให้ข้อมูลของ ดร.พิชัย สนแจ้ง ผอ.อพวช. แต่ละทีมที่แข่งขันมีสมาชิกได้ตั้งแต่ 3-5 คน ซึ่งหลังรับสมัครผู้เข้าแข่งขันทั่วจากทั่วประเทศแล้ว ได้แข่งขันคัดเลือกให้เหลือ 40 ทีมสุดท้าย เพื่อเข้ามาแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ระดับๆ ละ 20 ทีม คือ ระดับมัธยมและประถม และแยกประเภทแต่ละระดับออกเป็น ประเภทยิงไกล และ ประเภทแม่นยำ สำหรับผู้ชนะในประเภทแม่นยำระดับมัธยมจะได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันจรวดระดับเอเชียที่ประเทศสิงคโปร์

“การแข่งขันทั้ง 2 ประเภทนั้นผู้เข้าแข่งขันจะต้องใช้จรวดขวดน้ำที่ประดิษฐ์จากวัสดุและอุปกรณ์ที่คณะกรรมการฯ เตรียมให้เท่านั้น” ดร.พิชัย ให้ข้อมูล และยังบอกด้วยว่าการแข่งขันนั้น ทาง อพวช.ได้ให้เด็กมาเข้าค่ายตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 54 ในการเข้ามาประดิษฐ์จรวดขวดน้ำ ตลอดจนการทดลอง ทดสอบ และการนำเสนอผลงานของแต่ละทีมให้แก่เพื่อนๆ ในค่าย

ทั้งนี้ ในการแข่งขันมีรางวัลชนะเลิศทั้งหมด 4 รางวัล คือ รางวัลประเภทแม่นยำ รางวัลประเภทยิงไกล รางวัลประเภทคะแนนรวม (จากการแข่งขันทั้ง 2 ประเภท) และรางวัลการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์จรวดขวดน้ำ และจากการเดินสำรวจสนามแข่งขันในครั้งนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ พบว่ามีฐานปล่อยจรวดขวดน้ำ ที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ 2 ฐาน คือฐานปล่อยจรวดประเภทยิงแม่น และฐานปล่อยจรวดประเภทยิงไกล

สำหรับการแข่งขันประเภทแม่นยำนั้น ผู้เข้าแข่งขันต้องนำจรวดขวดน้ำที่ประดิษฐ์เองมาเติมน้ำ โดยแต่ละทีมสามารถกำหนดปริมาณน้ำที่เติมในขวดเอง แล้วนำมาประกอบกับฐานที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะอัดแรงดันด้วยใช้เครื่องปั๊มลม แล้วเล็งเป้าหมายด้วยสายตา จากนั้นจึงปล่อยจรวดขวดน้ำออกไปให้เข้าเป้าในระยะที่ใกล้ที่สุด ถึงจะเป็นผู้ชนะ การแข่งขันประเภทนี้ทำการปล่อยได้ 3 ครั้ง โดยบันทึกสถิติครั้งที่ดีที่สุด

มาที่การแข่งขันในประเภทความยิงไกล มีลำกับขั้นตอนก่อนปล่อยจรวดขวดเหมือนกับการแข่งขันประเภทแม่นยำ หากแต่การแข่งขันประเภทนี้ตัดสินจากระยะทางที่จรวดตก หากตกได้ไกลที่สุดจะเป็นผู้ชนะ โดยผู้เข้าแข่งขันสามารถปล่อยจรวดได้ทั้งหมด 2 ครั้ง และบันทึกสถิติที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ดี การแข่งขันทั้ง 2 ประเภท ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องสวมหมวกนิรภัยเพื่อความปลอดภัย และมีเวลา 3 นาที สำหรับให้เยาวชนได้ติดตั้งจรวดขวดน้ำกับฐาน และปล่อยจรวดออกไป การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศนั้นได้เริ่มการแข่งขันมาตั้งแต่เวลา 08.30 น. และเสร็จสิ้นในเวลา 15.30 น.

ปีนี้แชมป์ประเภทยิงแม่นระดับมัธยมศึกษา ตกเป็นของ “ทีมเฮิร์ตซ์” (Hertz) จาก ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มัธยม) กรุงเทพฯ ซึ่งสมาชิกทีมประกอบด้วย นายอรรถนนท์ เลิศดำรงศิริ, นายณัฐชนน วิเศษปรีชา, น.ส.อาภาวดี สกุลรัตน์, น.ส.เพ็ชรรัตน์ ธรรมญาณรังสี และนายเพ็ชร ธรรมญาณรังสี โดยพวกเขาสามารถยิงจรวดเข้าเป้าใกล้ที่สุดด้วยระยะ 0.19 เมตร

แม้จะชวดรางวัลมาแล้วถึง 4 ปี แต่ทีมเฮิร์ตซ์ก็ยังไม่ลดละความพยายามที่จะเข้ามาแข่งขันอีก จนในที่สุดสามารถความสำเร็จคว้าชัยไปครองได้ และนอกจากจะได้แชมป์ประเภทยิงแม่นแล้ว พวกเขายังคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทคะแนนรวม ทำได้ 139.59 คะแนน และได้ที่ 2 ของประเภทการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์จรวดขวดน้ำ ถือว่าเป็นทีมที่กวาดรางวัลไปมากที่สุดในปีนี้

ทั้งนี้ ทาง อพวช.สนับสนุนผู้ชนะเลิศประเภทแม่นยำซึ่งจะเป็นตัวแทนประเทศในการแข่งขันระดับเอเชียที่สิงคโปร์ได้เพียง 1 ราย ซึ่ง ผู้ที่จะเดินทางไปแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร่วมกับอีก 11 ประเทศ คือ น.ส.เพ็ชรรัตน์ หรือ น้องพิ้งกี้ สมาชิกทีม Hertz ซึ่งเธอได้บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ถึงการแข่งขันจรวดขวดน้ำว่า ทำให้ได้ความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมสมาธิในการการตัดสินใจปล่อยจรวดแต่ละครั้ง และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งหากเกิดปัญหาระหว่างแข่งขันต้องรีบแก้ไขให้ทันต่อเวลาตามกติกากำหนด

แม้ว่าสมาชิกในทีมนี้จะเป็นนักกีฬา และยังบางคนยังเป็นสมาชิกวงโยธวาทิตของโรงเรียน จึงไม่ค่อยได้มีเวลามาฝึกซ้อมร่วมกัน แต่น้องพิ้งกี้ได้เผยเคล็ดลับว่า พวกเขาใช้เวลาที่มีอยู่น้อยนิดอย่างคุ้มค่า รวมถึงความพยายาม อดทน และฝึกซ้อมอย่างหนัก จนทำให้ทีมถึงจุดหมายที่ต้องการในที่สุด ส่วนการเตรียมตัวที่จะต้องไปแข่งที่ประเทศสิงคโปร์นั้น เธอเผยว่าจะตั้งใจฝึกซ้อมและจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วย

สำหรับแชมป์ประเภทแม่นยำระดับประถมศึกษาตกเป็นของ “ทีมประสาทนิกร 1” จาก ร.ร.วัดประสาทนิกร จ.ชุมพร ด้วยการยิงเข้าเป้าใกล้ที่สุดในระยะ 0.16 เมตร สมาชิกทีมนี้ประกอบด้วย ด.ช.ธีรภัทร ภุมรินทร์, ด.ช.พงษ์สิทธิ์ ชุมพงษ์, ด.ช.พงศกร มะหมัดเหม, ด.ช.ชานิยะ มณีนวล และ ด.ช.พงษ์ศิริ สังข์สะอาด

มาที่แชมป์ประเภทยิงไกลระดับมัธยมตกเป็นของ “ทีมเบญจมานุสรณ์ 2” จาก ร.ร.เบญจมานุสรณ์ จ. จันทบุรี ยิงไกลสุดด้วยสถิติ 177.23 เมตร ทีมนี้ประกอบด้วย นายสัมฤทธิ์ เนินมาก, นายพงศกร นาคช่วย, นายนัยสิทธิ์ สอดสี,นายภานุพงศ์ หงส์คู และ นายสุรสันต์ ทองศรี

เทคนิคการยิงไกลของทีมนี้ นายสัมฤทธิ์ หรือน้องเอ้ บอกว่า เทคนิคการทำให้จรวดพุ่งไปไกลนั้นต้องใส่น้ำในปริมาณ 1 ใน 3 ของขวด เมื่อประกอบกับฐานปล่อยเรียบร้อยแล้วต้องให้อยู่ในมุม 45 องศา จากพื้น และการใส่แรงดันเข้าไปในขวดต้องอัดเข้าไปในปริมาณที่พอดี หากอัดลมเข้าไปในปริมาณมากเกินจะทำให้ขวดระเบิดก่อนได้ จากการทดลองวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด จะสามารถยิงไปได้ในระยะที่ไกลที่สุด

สำหรับประเภทยิงไกลระดับประถมศึกษา “ทีมพุ่งจู๊ด 2” จาก ร.ร.บางชวดอนุสรณ์ จ. ปทุมธานี คว้าแชมป์ในรายการนี้ไปด้วยการยิงไกลสุดด้วยสถิติ 174.95 เมตร ทีมนี้ประกอบไปด้วย ด.ช.เมธี แดงอ่ำ,ด.ญ.สุภาพร สายทอง, ด.ช.สหรัฐ ภิรมย์เพ็ฐ, ด.ช.ทรงพร ถั่วทอง และ ด.ช.อมรเทพ จันทร์แก้ว

แม้ว่าจะพลาดรางวัลการแข่งขันจรวดขวดน้ำในการแข่งขัน 2 ครั้ง ที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ “ทีมฉกรรจ์ บี” จาก ร.ร.เขาฉกรรจ์วิทยาคม จ. สระแก้ว สามารถคว้าแชมป์รางวัลการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์จรวดขวดน้ำระดับมัธยม ด้วยคะแนนเต็ม 50 คะแนน สมาชิกในทีมนี้ประกอบด้วย นายพัสกร จุลพล, นายสมควร เดชนุวัฒนชัย, นายชัชวาล สิทธิชุม, นายทิวา กาวจัตุรัส และ นายพงษ์ศักดิ์ คชสาร 

มาที่  “ทีมรักษ์ตานี” ของ ร.ร.เทศบาล 4 วัดนพวงศาราม จ. ปัตตานี เข้ามาแข่งขันเป็นครั้งแรก สามารถคว้าแชมป์ในประเภทคะแนนรวมระดับประถมศึกษา ทำคะแนนได้ 84.16 คะแนน พ่วงด้วยรางวัลชนะเลิศการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์จรวดขวดที่สามารถเอาชนะใจกรรมการด้วยคะแนนเต็ม 50 คะแนน ต่อด้วยการคว้ารางวัลที่ 2 ของประเภทยิงแม่นด้วย

ด.ญ.นฤมล นุ่มนวล หรือ น้องพลอย สมาชิกในทีมรักษ์ตานี บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า การที่ได้เข้ามาร่วมการแข่งขันในครั้งนี้นอกจากความสนุกสนาน ยังได้เพื่อนใหม่จากทั่วประเทศที่เราไม่เคยรู้จัก และเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังได้ข้อคิดว่า แข่งขันนี้ที่ทำให้ทุกคนรู้จักนำสิ่งของรอบ ๆ ตัวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือเหลือใช้แล้ว มาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่ตามต้องการได้

นอกจากน้องพลอยแล้ว สมาชิกทีมรักษ์ตานีประกอบด้วย ด.ญ.สุทิศา ศรีสุวรรณ์, ด.ญ.กนกพรรณ คงทน, ด.ญ.นัทฉัตร ไชยแสงศรี และด.ญ.นูรุลฮูดา ศาสนภิบาล

ทีมที่ชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาจาก อพวช. สำหรับประเภทความไกลและคะแนนรวม ทีมละ 20,000 บาท ประเภทแม่นยำ 10,000 บาท และประเภทการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์จรวดขวดน้ำ 5,000 บาท นอกจากนั้น ยังมีโล่เกียรติยศและของรางวัลจากผู้สนับสนุนการแข่งขัน อาทิ ทรู วิชั่นส์, เป็ปซี่, นิตยสารการศึกษาวันนี้,หนังสือพิมพ์โลกวันนี้,นิตยสาร Exit และรายการ My Sci.

ดร.พิชัย เสริมว่า การแข่งขันจรวดขวดน้ำจะทำให้เด็กได้ฝึกทักษะทางด้านความคิด การตัดสินใจ การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นการนำศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มารวมกัน เหมือนเป็นการทำวิจัยย่อยในระดับเยาวชน ซึ่งเริ่มตั้งแต่การประดิษฐ์จรวดขวดที่เหลือใช้ การออกแบบ ตลอดจนเทคนิคต่างๆ ที่จะทำให้ผลงานมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายมากที่สุด

“กระบวนการคิดดังกล่าวนั้นจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต ไม่เพียงแต่ทางด้านอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ หมอ ครู นักกฎหมาย ตลอดจนนักข่าว ก็ยังสามารถนำประสบการณ์เหล่านี้มาปรับใช้ได้เช่นกัน”ดร.พิชัย ให้ความเห็น
ก่อนเข้าสู่การแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสวมหมวกนิรภัยเพื่อความปลอดภัย
ฐานปล่อยจรวดขวดของประเภทยิงแม่น
การแข่งขันประเภทยิงไกลระดับประถมศึกษารอบชิงชนะเลิศที่มีขึ้นในวันที่ 27 เม.ย.54 ที่ผ่านมา การประกวดครั้งนี้ผู้เข้าแข่งขันต้องประดิษฐ์จรวดขวดจากวัสดุ อุปกรณ์ที่คณะกรรมการฯ จัดเตรียมให้เท่านั้น
การแข่งขันประเภทยิงแม่นระดับมัธยมรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องสวมหมวกนิรภัย เพื่อป้องกันอันตรายจากการแข่งขันด้วย
“ทีมHertz” จากร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มัธยม) กรุงเทพฯ คว้าแชมป์ประเภทยิงแม่นระดับมัธยมศึกษา ยิงเข้าเป้าใกล้ที่สุดด้วยระยะ 0.19 เมตร พร้อมทั้งคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทคะแนนรวม 139.59 คะแนน และรองชนะเลิศอันดับ 1 การนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์จรวดขวดน้ำไปครอง
“ทีมพุ่งจู๊ด 2” จาก ร.ร.บางชวดอนุสรณ์ จ. ปทุมธานี สามารถคว้าแชมป์ประเภทยิงไกลระดับประถมศึกษา ยิงไกลสุดด้วยสถิติ 174.95 เมตร
สมาชิก “ทีมรักษ์ตานี” ของ ร.ร.เทศบาล 4 วัดนพวงศาราม จ. ปัตตานี สามารถคว้าแชมป์ในประเภทคะแนนรวมระดับประถมศึกษา ด้วยคะแนน 84.16 คะแนน พ่วงด้วยรางวัลการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์จรวดขวดด้วยคะแนนเต็ม 50 คะแนน  และคว้ารางวัลที่ 2 ของประเภทยิงแม่นด้วย
โฉมหน้าสมาชิก “ทีมฉกรรจ์ บี” จากร.ร.เขาฉกรรจ์วิทยาคม จ. สระแก้ว ที่คว้าแชมป์รางวัลการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์จรวดขวดน้ำระดับมัธยม ด้วยคะแนนเต็ม 50 คะแนน
นางสาวเพ็ชรรัตน์ หรือ น้องพิ้งกี้ หนึ่งใน ทีมHertz จะได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปแข่งขันจรวดขวดน้ำระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร่วมกับอีก 11 ประเทศ ปีนี้สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ
ดร.พิชัย สนแจ้ง ผอ.อพวช. การแข่งขันจรวดขวดน้ำจะทำให้เด็กได้ฝึกทักษะทางด้านความคิด การตัดสินใจ การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นการนำศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มารวมกัน เหมือนเป็นฝึกการทำวิจัยย่อยในระดับเยาวชนนั่นเอง
นายสัมฤทธิ์ หรือน้องเอ้ สมาชิก “ทีมเบญจมานุสรณ์ 2”  เผยเทคนิคการยิงไกลต้องใส่น้ำในปริมาณ 1 ใน 3 ของขวด และต้องตั้งจรวดขวดทำมุม 45 องศา จากพื้น และใส่แรงดันเข้าไปในปริมาณที่สมดุล แค่นี้ก็สามารถยิงไปได้ในระยะที่ไกลแล้ว
ด.ญ.นฤมล นุ่มนวล หรือ น้องพลอย  สมาชิกในทีม “ทีมรักษ์ตานี” บอกว่า การแข่งขันครั้งนี้ให้ข้อคิดดีดีกับเยาวชนทุกคนในการนำสิ่งของรอบๆ ตัวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือเหลือใช้แล้ว มาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ต้องการได้
โฉมหน้าผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทรางวัลของระดับมัธยมศึกษา
โฉมหน้าผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทรางวัลของระดับประถมศึกษา
สมาชิก “ทีมประสาทนิกร 1”  จาก ร.ร.วัดประสาทนิกร อ.หลังสวน จ.ชุมพร  คว้าแชมป์ประเภทยิงแม่นระดับประถมศึกษา ด้วยการยิงเข้าเป้าในระยะ 0.16 เมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น