แม้หลายคนจะไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในคืนนั้น แต่ผลพวงจาก "อุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล" ทำให้เราตระหนักได้ถึงความเลวร้ายอย่างถึงที่สุด ว่าจะเกิดอะไรตามมาได้บ้าง หากเกิดข้อผิดพลาดในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้ว่าผ่านไป 25 ปีแล้ว สิ่งที่เป็นยิ่งกว่าฝันร้าย ยังคงตามมาหลอกหลอนเราทุกคน
ก้าวเข้าสู่วันที่ 26 เม.ย.1986 ในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังหลับใหล เจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) กำลังจำลองภาวะขัดข้องภายในโรงไฟฟ้าขึ้นมาทดสอบ โดยการปล่อยให้เกิดพลังงานนิวเคลียร์เกินควบคุม แต่เหตุการณ์ก็กลับเกินกำลังที่พวกเขาจะควบคุมได้จริงๆ จนกลายเป็นการระเบิดที่ปลุกให้ทั่วโลกตื่นมาเผชิญสิ่งที่เป็นยิ่งกว่าฝันร้าย
ระเบิดปลุกความเลวร้าย
ระเบิดเมื่อเวลา 01.23 น.ของวันดังกล่าวได้ทำลายอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ย่อยยับ พร้อมกับปลดปล่อยสารกัมมันตรังสี 5% ของที่มีอยู่ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ มีคนงานเสียชีวิตทันที 1 รายหลังเกิดระเบิด ซึ่งเชื่อกันว่า ยังไม่มีใครพบร่างของเขา และมีอีกคนเสียชีวิตไม่นานหลังนำส่งโรงพยาบาล
จากนั้นไม่กี่อาทิตย์คนงานของโรงงานและเจ้าหน้าที่กู้ภัย 28 รายได้เสียชีวิตจากอาการที่เรียกว่า "ความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน" (Acute Radiation Syndrome: ARS) หรือ "พิษจากรังสี" (Radiation toxicity) หรือ "อาการเจ็บป่วยจากรังสี" (Radiation sickness)
พื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือ ยูเครน เบลารุส รัสเซีย รวมถึงยุโรปฝั่งตะวันตก ต่างได้รับผลพวงจากสารรังสีที่ปลดปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งเถ้าและฝุ่นรังสีฟุ้งกระจายไปไกลกินพื้นที่ 200,000 ตารางกิโลเมตร และสารกัมมันตรังสีเหล่านั้นยังคงส่งผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้
สำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นได้นำชื่อเสียงที่ไม่ดีมายัง มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ผู้นำสหภาพโซเวียตในขณะนั้น ซึ่งเขายอมรับว่า เกิดหายนะดังกล่าวอย่างไม่เต็มใจ อีกทั้งกว่าจะมีข่าวว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เวลาก็ล่วงผ่านไปแล้ว 3 วัน
ในปี 1986 และปี 1987 รัฐบาลโซเวียตได้ส่งคนกว่าครึ่งล้าน ซึ่งถูกเรียกว่า “ผู้สะสางสารกัมมันตรังสีขั้นสุดท้าย” (liquidator) เข้าไปทำความสะอาดโรงไฟฟ้า และลดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในพื้นที่รอบๆ ทุกวันนี้เอเอฟพีระบุว่า พวกเขายังคงได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษในฐานะที่มีความกล้าหาญโดยไม่คำนึงถึงตัวเอง
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ทำให้เมืองพริพยาต (Pripyat) ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของคนงานในโรงไฟฟ้า กลายเป็นเมืองร้างและถูกขนานนามว่าเป็น “เมืองผี” โดยเมืองดังกล่าวอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดอุบัติเหตุเพียง 3 กิโลเมตร แต่กว่าผู้คนจะได้รับคำสั่งให้อพยพ ก็ผ่านเหตุการณ์ไปแล้ววันครึ่ง ซึ่งการอพยพผู้คนเกิดขึ้นกันตอนเที่ยงของวันที่ 27 เม.ย.1986
คนหายไป-สัตว์ก็หายไป
แม้จะมีหลักฐานว่าสัตว์อย่างบีเวอร์ กวาง ม้าป่า เหยี่ยวและนกอินทรี ได้กลับเข้าไปในพื้นที่ต้องห้ามในรัศมี 30 กิโลเมตรรอบเชอร์โนบิล เพราะผู้คนได้หนีออกจากบริเวณดังกล่าว และการล่าสัตว์ก็เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ ศ.ทิม มูสซัว (Prof.Tim Mousseau) จากมหาวิทยาลัยเซาธ์แคโรไลนา (University of South Carolina) สหรัฐฯ นักชีววิทยาผู้ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพเชิงลึกรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กล่าวว่า ถึงอย่างไรเชอร์โนบิลก็ไม่ใช่สวรรค์สำหรับสัตว์ป่า
จากการศึกษาของเขาพบว่า ปริมาณสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นลดลง ความหลากหลายของแมลงต่างๆ ทั้งแมลงภู่ ตั๊กแตน ผีเสื้อและแมลงปอ ล้วนมีปริมาณลดลง
อีกทั้งจากการดักจับนก 550 ตัว จาก 48 ชนิดในพื้นที่ต่างกัน 8 จุด เพื่อประเมินขนาดสมองนก พบว่า นกที่อยู่ในบริเวณ “ฮอตสปอต” ที่มีการแผ่รังสีสูงนั้น มีขนาดสมองเล็กกว่านกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รังสีต่ำ 5% ซึ่งขนาดสมองที่เล็กลงนี้ เชื่อมโยงถึงความสามารถในการตระหนักรู้และเอาตัวรอด โดยการศึกษายังชี้ให้เห็นอีกว่า ตัวอ่อนของนกจำนวนมากไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้
ยอดเสียชีวิตจากรังสี 4,000 ราย
เมื่อปี 2005 หลายองค์กรในสหประชาชาติ (UN) ซึ่งรวมทั้งองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation: WHO) สรุปยอดผู้เสียชีวิตที่คาดว่าได้ผลกระทบจากรังสีทั้งหมด 4,000 ราย แต่คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาผลกระทบทางรังสีแห่งสหประชาชาติ (United Nations Scientific Committee on the Effects of Atomic Radiation: UNSCEAR) กล่าวว่า มีผู้รอดชีวิตจากพิษทางรังสีเพียง 19 ราย ที่เสียชีวิตก่อนปี 2006 ด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการได้รับรังสี
รายงานล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.2011 ของคณะกรรมการศึกษาผลกระทบทางรังสีระบุว่า มีผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ 6,000 ราย ซึ่งเป็นผลพวงจากการดื่มนมปนเปื้อนรังสีในวัยเด็ก และมี 15 รายที่ได้รับการพิสูจน์ว่า เสียชีวิตก่อนปี 2005 เนื่องจากการรับรังสีดังกล่าว แต่ไม่มี “หลักฐานที่ชวนให้เชื่อได้” ถึงผลกระทบอื่นๆ ต่อประชากรทั่วไปอันสืบเนื่องจากการได้รับรังสี
อย่างไรก็ดี กลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่าง "กรีนพีซ" (Greenpeace) ได้กล่าวหาหน่วยงานของสหประชาชาติว่า ประเมินความสูญเสียต่ำกว่าความเป็นจริง โดยกรีนพีซระบุว่า น่าจะประเมินยอดผู้ป่วยมะเร็งมรณะ อันมีสาเหตุจากเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลได้ถึง 93,000 ราย
“ฟูกูชิมะ” ย้ำชัดภาพร้าย “เชอร์โนบิล”
ผ่านไป 25 ปีภาพความน่าสะพรึงกลัวของอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลได้ย้ำชัดขึ้นมาอีก เมื่อเกิดเหตุขัดข้องในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ล้มเหลวในการทำงาน หลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง และสึนามิเข้าถล่มโรงไฟฟ้าจนเสียหาย ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.2011 จนนำไปสู่การระเบิดของก๊าซไฮโดรเจน ในอาคารเตาปฏิกรณ์หลายครั้ง รวมถึงการหลอมละลายบางส่วนของแกนปฏิกรณ์ และในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว
แม้ว่าคนงานฟูกูชิมะพยายามอย่างเต็มที่ ในการกอบกู้ระบบเพื่อป้องกันไม่ให้เตาปฏิกรณ์ระเบิด แต่พวกเขายังไม่สามารถควบคุมให้สถานการณ์กลับมาปกติ และทางการญี่ปุ่นได้ยกระดับความรุนแรงขึ้นเป็นระดับ 7 ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (International Nuclear Event Scale : INES) ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงเดียวกับเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล
อย่างไรก็ดี ทั้งสองเหตุการณ์นั้นต่างกันมาก สำหรับกรณีฟูกูชิมะนั้น เกิดจากแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในญี่ปุ่น และตามมาด้วยสึนามิขนาดใหญ่ ส่วนกรณีของเชอร์โนบิลนั้นถูกกล่าวโทษให้เป็นความผิดพลาดของคน
หลังเหตุการณ์เชอร์โนบิล ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติอันดับ 4 ของโลก ที่ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ใช้ ตามหลังสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอดีตสหภาพโซเวียต โดยมีเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 32 แห่ง และปัจจุบันมีทั้งหมด 55 แห่ง ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่ประเทศ 30% อีกทั้ง พลังงานฟอสซิลที่ลดน้อยลงและความกดดันในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ญี่ปุ่นต้องหาวิธีบรรจบความต้องการทางพลังงาน แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่านั่นหมายถึงการไม่ปฏิเสธพลังงานนิวเคลียร์
กระนั้นก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ฟูกูชิมะนี้ ทำให้ญี่ปุ่นต้องหันมาทบทวนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศกันใหม่ และอาจมีคำถามถึงแผนสร้างโรงไฟฟ้า 14 แห่งภายในปี 2030 ด้วย.