แผ่นดินไหววัดความเสียหายได้เป็น “ริกเตอร์” ในกรณีเหตุการณ์นิวเคลียร์ก็มีการวัดระดับความเสียหายไว้เช่นกัน โดยความรุนแรงสูงสุดคือระดับ 7 ซึ่งนอกจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่ “เชอร์โนบิล” ญี่ปุ่นยังยกระดับความรุนแรงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะให้เป็น "ระดับสูงสุด" นี้ด้วย
ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์นิวเคลียร์นั้น วัดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES: International Nuclear Event Scale) ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 ระดับ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ทบวงการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ไอเออีเอ) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) แจกแจงถึงระดับความรุนแรงไว้ดังนี้ ระดับ 1-3 จัดเป็นอุบัติการณ์ (incident) และระดับ 4-7 จัดเป็นอุบัติเหตุ (accident) ส่วนระดับ 0 ลงไปไม่มีนัยที่สำคัญ (no safety significance)
มาตรวัดระดับความรุนแรงนี้ ใช้สำหรับประเมินเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ที่ใช้ทั่วไป และเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารกับประชาชน ในเกณฑ์ที่สอดคล้องกับประเด็นความปลอดภัยของรายงานอุบัติการณ์และอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ โดยใช้กับเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางด้านนิวเคลียร์ ตั้งแต่การขนส่ง การจัดเก็บ และการใช้ประโยชน์จากสารรังสีและแหล่งกำเนิดรังสี แต่มาตรวัดนี้ไม่ใช้กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ อย่างเช่นการแผ่รังสีของก๊าซเรดอน (radon) เป็นต้น
จากการจัดระดับความรุนแรงตามมาตราดังกล่าว ทำให้เหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด เป็นความรุนแรงที่สุดตามมาตรานี้ และล่าสุดสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ (Fukuchi Daiichi) ได้ยกขึ้นเป็นระดับ 7 เทียบเท่าอุบัติเหตุนิวเคลียร์ร้ายแรงเมื่อ 25 ปีก่อน
ส่วนเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ (Three Mile Island) ของสหรัฐฯ ระเบิด จัดเป็นความรุนแรงระดับ 5
สำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์นิวเคลียร์ 7 ระดับ ประเมินจากการประเมินผล 3 อย่าง ไล่จากการสูญเสียการป้องกันเชิงลึก (defence in depth degradation) ผลกระทบ ณ สถานที่ตั้งโรงงาน (on-site effect) และ ผลกระทบนอกสถานที่ตั้งโรงงาน (off-site effect)
ระดับ 1 - เหตุผิดปกติ (Anomaly)
ผลกระทบต่อการป้องกันเชิงลึก - มีการได้รับรังสีเกินขีดจำกัดประจำปีตามกฎหมายกำหนด, มีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับองค์ประกอบความปลอดภัย แต่ยังมีความสามารถในการป้องกันเชิงลึก และมีการสูญหายหรือเกิดการขโมยอุปกรณ์รังสี ชุดรังสีสำหรับเดินทางหรือแหล่งกำเนิดรังสีในระดับที่ไม่สูงมาก หากแต่การจัดระดับความรุนแรงนี้ก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ซึ่งยากที่จะวัดได้ตรงๆ ว่าเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในระดับ 1 หรือต่ำกว่านั้นซึ่งไม่มีนัยสำคัญ
ระดับ 2 - อุบัติการณ์ (Incident)
ผลกระทบต่อการป้องกันเชิงลึก - มีความผิดพลาดในการจัดเตรียมด้านความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีสืบเนื่องตามมา, พบแหล่งกำเนิดรังสีสูงที่ไม่มีเจ้าของ แต่อุปกรณ์ห่อหุ้มไม่ได้รับความเสียหาย, การห่อหุ้มสำหรับวัสดุกำเนิดรังสีสูงไม่เพียงพอ
ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - ระดับการแผ่รังสีในบริเวณปฏิบัติงานมากกว่า 50 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง, มีการปนเปื้อนในบริเวณที่ไม่ควรจะมีการแผ่รังสี
ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรังสีเกิน 10 มิลลิซีเวิร์ต, ผู้ปฏิบัติงานด้านรังสีได้รับรังสีในปริมาณมากกว่าขีดกำจัดประจำปีที่กฎหมายกำหนด
ระดับ 3 - อุบัติการณ์รุนแรง (Serious incident)
ผลกระทบต่อการป้องกันเชิงลึก - เกิดอุบัติเหตุใกล้ๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยไม่มีมีการเตรียมระวังเรื่องความปลอดภัย, แหล่งกำเนิดรังสีที่ผนึกไว้อย่างดีสูญหายหรือถูกขโมย, ขนส่งแหล่งกำเนิดรังสีสูงผิดพลาด โดยไม่มีกระบวนการรับมือที่ดีพอ
ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - มีการปลดปล่อยรังสีในพื้นที่ดำเนินงานมากกว่า 1 ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง, มีการปนเปื้อนสูง ในบริเวณที่ไม่ควรจะมีการแผ่รังสี แต่มีโอกาสต่ำที่คนทั่วไปจะได้รับรังสีจากบริเวณดังกล่าว
ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีระดับรังสีสูงกว่าที่ขีดจำกัดที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านรังสี 10 เท่า, การแผ่รังสีส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระดับที่ไม่ทำให้ถึงตาย
ระดับ 4 - อุบัติเหตุที่มีผลกระทบในระดับท้องถิ่น (Accident with local consequences)
ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - แท่งเชื้อเชื้อเพลิงหลอมละลายหรือแท่งเชื้อเพลิงได้รับความเสียหายและมีการปลดปล่อยสารรังสีปริมาณเล็กน้อย , มีการปลดปล่อยสารรังสีปริมาณสูงภายในพื้นที่และมีโอกาสสูงที่ประชาชนจะได้รับสารรังสีในปริมาณสูงด้วย
ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีการปลดปล่อยสารรังสีในระดับต่ำและต้องวางแผนรับมือ ,มีการควบคุมอาหารในพื้นที่, มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย
ระดับ 5 - อุบัติเหตุพร้อมผลกระทบในวงกว้าง (Accident with wider consequences)
ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - เกิดความเสียหายรุนแรงที่แกนปฏิกรณ์, สารรังสีปริมาณมากถูกปล่อยออกมา และมีโอกาสสูงที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชน และยกระดับความรุนแรงขึ้นไปอีกหากเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงมากขึ้นหรือเกิดเพลิงไหม้
ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - การจำกัดการปลดปล่อยวัสดุนิวเคลียร์ จำเป็นต้องมีการรับมือที่ได้รับการวางแผนอย่างดี, มีผู้เสียชีวิตหลายรายจากการได้รับรังสี
ระดับ 6 - อุบัติเหตุรุนแรง (Serious accident)
ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีการปลดปล่อยสารรังสีออกมาจำนวนมาก และต้องบรรลุผลในการรับมือตามแผน
อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ระดับนี้ เคยเกิดขึ้นครึ่งหนึ่งกับโรงงานแปรสภาพเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว (nuclear waste reprocessing facility) สำหรับการทหาร ในเมืองมายัค (Mayak) ของอดีตสหภาพโซเวียต เมื่อ 29 ก.ย.1957 ซึ่งเกิดปัญหาระบบทำความเย็นล้มเหลวในโรงงาน ทำให้มีวัสดุรังสีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม 70-80 ตัน แต่ผลกระทบต่อประชากรในท้องถิ่นเป็นอย่างไรนั้น ไม่ทราบทั้งหมดแน่นชัด
ระดับ 7 - อุบัติเหตุรุนแรงที่สุด (Major accident)
ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีการปลดปล่อยวัสดุรังสี ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมออกไปเป็นวงกว้าง และต้องบรรลุผลในการรับมือซึ่งมีการวางแผนและจัดเตรียมไว้
หลังเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลและทรีไมลไอส์แลนด์ ทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนามาตรวัดความรุนแรงของอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ ซึ่งมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์นี้ ได้รับการกำหนดขึ้นมาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ ที่รวมตัวกันครั้งแรกเมื่อปี 1989 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างไอเออีเอและสำนักงานพลังงานนิวเคลียร์หรือเอ็นอีเอ (Nuclear Energy Agency: NEA) ในสังกัดองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือโออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)
นับแต่นั้น ทางไอเออีเอได้ร่วมมือกับสำนักงานพลังงานนิวเคลียร์ของเอ็นอีเอ พร้อมด้วยการสนับสนุนจากกว่า 70 ประเทศในการกำหนดมาตรานี้ขึ้นมา และมีการปรับปรุงมาตรานี้หลายครั้ง โดยมีประชุมเชิงเทคนิคทุก 2 ปี สำหรับการเข้าร่วมในระบบนี้เป็นไปโดยสมัครใจ ซึ่งตัวแทนประเทศต่างๆ ที่ร่วมกำหนดมาตราวัดความรุนแรงของเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์นี้จะร่วมถกเถียงและตัดสินใจในการประยุกต์ใช้มาตรานี้.