xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมญี่ปุ่นต้องฉีด “ไนโตรเจน” ให้เตาปฏิกรณ์?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นความเสียหายของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา (เอเอฟพี)
ญี่ปุ่นระดมฉีด “ไนโตรเจน” ให้เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 เพื่อป้องกันการระเบิดจาก “ไฮโดรเจน” ที่สะสมมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เตาปฏิกรณ์หมายเลขอื่นๆ ระเบิดไปแล้วหลายแห่ง ทำไมต้องฉีดก๊าซเฉื่อยดังกล่าวเข้าไป? มีหลายคนสงสัย

หลังจากเจ้าหน้าที่ บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ เท็ปโก ควบคุมการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนสารรังสีไม่ให้ลงสู่ทะเลได้แล้ว แต่ยังต้องต่อสู้กับความเสี่ยงที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 จะระเบิด จากการสะสมของก๊าซไฮโดรเจนที่มากขึ้นอีก ซึ่งไฮโดรเจนที่สะสมมากขึ้นนี่เอง จะเป็นเหตุให้เตาปฏิกรณ์หลายแห่งในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ (Fukuchima Daichi) เกิดระเบิดขึ้น ทางป้องกันคือ ระดมฉีดก๊าซไนโตรเจนซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยเข้าไปในเตาปฏิกรณ์

ดร.สมพร จองคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์และอดีตผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลจากการที่แท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ไม่แช่น้ำในระดับปกติ ซึ่งทำให้แท่งเชื้อเพลิงที่ร้อนจัดโผล่พ้นน้ำ แล้วแผ่ทั้งรังสีและความร้อนออกมา เป็นความร้อนสะสมมากขึ้น ก่อนที่แท่งเชื้อเพลิงจะเกิดการหลอมละลาย (meltdown)

ทั้งนี้ แท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 เป็นแท่งเชื้อเพลิงแบบเก่า ซึ่งมีความสูงประมาณ 4 เมตร และแท่งเชื้อเพลิงที่ร้อนจัดนี้ ต้องแช่อยู่ในน้ำให้ท่วมสูงไม่น้อยกว่า 7-8 เมตร แต่การมีน้ำรั่วไหลออกมาทำให้แท่งเชื้อเพลิงชูพ้นน้ำ แล้วแผ่รังสีและความร้อนออกมาดังกล่าว

ความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้เซอร์โคเนียมไฮโดรด์ที่ห่อหุ่มเม็ดเชื้อเพลิงเกิดการออกซิเดชัน (oxydation) กับโมเลกุลของน้ำ โดยไฮโดรเจนหลุดไปทาง และออกซิเจนหลุดไปทาง ออกซิเจนที่หนักกว่า จะอยู่เบื้องล่าง ส่วนไฮโดรเจนที่เบากว่าจะลอยขึ้น เมื่ออะตอมไฮโดรเจนเจอกับอะตอมไฮโดรเจนด้วยกัน จึงเกิดเป็นก๊าซไฮโดรเจนขึ้น

หากไฮโดรเจนที่แยกออกไปแล้ว กลับมาเจอออกซิเจนอีกครั้ง ดร.สมพรกล่าวว่า จะทำให้เกิดการระเบิดขึ้น ทางเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเท็ปโกจึงจำเป็นต้องฉีดไนโตรเจนเข้าไป เพื่อลดโอกาสที่ไฮโดรเจนจะสัมผัสกับออกซิเจน จนเกิดการระเบิดเหมือนในกรณีเตาปฏิกรณ์หลายๆ เตา ที่ระเบิดไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ คนงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ต้องควบคุมอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์เพื่อป้องกันการหลอมละลายที่จะทำให้สารรังสีกระจายสู่สิ่งแวดล้อม หลังจากที่ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ไม่ทำงานเนื่องจากถูกสึนามิถล่ม ในวันที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่เท็ปโกกำลังฉีดเรซินใกล้กับอาคารเตาปฏิกรณ์ เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของรังสี (เอเอฟพี)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ญี่ปุ่นหยุดน้ำปนเปื้อนรังสีรั่วไหลลงสู่ทะเลได้แล้ว (6 เม.ย.54)
- พบน้ำเปื้อนรังสีใต้เตานิวเคลียร์ญี่ปุ่นสูง5ล้านเท่า ปลาใกล้โรงไฟฟ้าก็มีรังสี 4000 เท่า (5 เม.ย.54)
- เท็ปโกเริ่มระบายน้ำกัมมันตภาพรังสีกว่า 10,000 ตันลงทะเลหวังเหลือที่กักเก็บเพิ่ม (4 เม.ย.54)
- เท็ปโกพบน้ำปนเปื้อนรังสีจากเตาปฏิกรณ์เบอร์ 2 รั่วไหลลงสู่ทะเล (2 เม.ย.54)
กำลังโหลดความคิดเห็น