ในขณะที่การกอบกู้ระบบหล่อเย็นให้แก่เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น ที่เสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิยังคงดำเนินไป แนวคิดในการฝังกลบเตาปฏิกรณ์จากนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ก็ถูกเสนอผ่านรายการวิทยาศาสตร์ทางโทรทัศน์
ทั้งเพลิงไหม้ การระเบิดและการหลอมละลายบางส่วน ได้กระหน่ำสร้างความเสียหายให้แก่เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิ (Fukushima Dai-ichi) ของญี่ปุ่น ทั้ง 6 เครื่อง หลังผ่านภัยพิบัติ ทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ และมีทางเลือกไม่กี่ทาง ที่จะหยุดอันตรายจากความร้อนเกินพิกัดของวัสดุที่นั่นได้ รถบรรทุกของทหารระดมฉีดน้ำหลายตัน เพื่อลดความร้อนให้แก่เตาปฏิกรณ์ ส่วนคนงานของโรงไฟฟ้า ก็พยายามเดินเครื่องระบบทำความเย็น หลังจากติดตั้งสายไฟใหม่เข้าไป
สำหรับแนวคิดในการทำสุสานฝังเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจินี้ สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เป็นของ ศ.มิชิโอะ คากุ (Michio Kaku) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยซิตีคอลเลจออฟนิวยอร์ก (City College of New York) ซึ่งได้เผยแนวคิด ผ่านรายการโทรทัศน์ไซน์แชนแนล (Science Channel) ของสหรัฐฯ โดยเขาได้พูดถึงการโปรยส่วนผสมของกรดบอริก เพื่อลดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน การเททรายหรือแม้แต่คอนกรีต เพื่อผนึกวัสดุนิวเคลียร์
ความพยายามเพื่อทำตามในสิ่งที่เขาแนะนำ อาจต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายอาทิตย์ ดังนั้น เขาแนะนำว่าการเตรียมการ ควรจะเริ่มเดี๋ยวนี้ในกรณีที่สถานการณ์เข้าขั้นจำเป็นแล้ว โดยเขายังเห็นภาพกองทัพเฮลิคอปเตอร์และคนงานเททราย แล้วโบกปูนทับบ่อเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้ว และวัสดุนิวเคลียร์อื่นๆ ที่ได้รับความเสียหาย
หากแต่สำนักงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น และบริษัทผู้ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้รับคำแนะนำดังกล่าวไปพิจารณา โดย ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ (Hidehiko Nishiyama) จากสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม (Nuclear and Industrial Safety Agency) ของญี่ปุ่น ไม่เชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นทางเลือกที่ทำได้จริง
ส่วน เทรุอากิ โคบายาชิ (Teruaki Kobayashi) ผู้จัดการของบริษัท โตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์ (เทปโก) กล่าวว่า ไม่ได้ปฏิเสธแนวทาง ในการฝังเตาปฏิกรณ์ แต่คิดว่าแนวคิดดังกล่าวมีความเป็นไปได้ต่ำ
ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่า ในวันหนึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะถูกฝังกลบไปกับสุสานคอนกรีต ซึ่งกรณีดีงกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะยาวเมื่อการแผ่รังสีสงบลงแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นความเสี่ยงจากวิธีนี้ อย่างหนึ่งนั่นคือโครงสร้างที่ป้องกันการแผ่รังสีอยู่ตอนนี้ อาจจะเสียหาย หากถูกวัสดุหนักๆ เทลงไปทับ และจะเปิดช่องทางใหม่ให้อันตรายจากรังสีแผ่ออกมาได้
“เมื่อคุณทิ้งวัสดุหนักเป็นตันๆ ที่ความสูงหลายร้อยฟุตจากเฮลิคอปเตอร์นั่น คุณกำลังทำให้เกิดความเสียหายบางอย่าง มันอาจจะเป็นความเห็นแย่ๆ ซึ่งผมจะขอให้พวกเขาหยุด และคิดทบทวนสัก 3 รอบ ก่อนที่พวกเขาจะเทของหนักๆ ลงไป” อเล็กซ์ สิช (Alex Sich) วิศวกรนิวเคลียร์ จากมหาวิทยาลัยฟรานซิสแคน (Franciscan University) ในโอไฮโอ สหรัฐฯ ให้ความเห็น
ทั้งนี้ สิชเคยอาศัยอยู่ในเชอร์โนบิลและตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับหายนะที่เกิดขึ้นที่นั่น ซึ่งได้ระบุว่าเจ้าหน้าที่ของรัสเซียได้เททราย โคลนและวัสดุอื่นๆ ประมาณ 5,000 ตันจากเฮลิคอปเตอร์ในความพยายามที่จะฝังกลบเตาปฏิกรณ์ที่เป็นอันตราย และสำหรับสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นแตกต่างไปจากหายนะในอดีต
“เตาปฏิกรณ์ของญี่ปุ่นล้อมรอบไปด้วยวัสดุครอบหลายชั้น ที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดการแผ่รังสีจากแกนปฏิกรณ์ หากมีการเทของหนักๆ ลงไปทำให้หม้อความดันสูง ซึ่งอยู่ภายในให้เสียหาย และเผยแกนปฏิกรณ์ออกมา นั่นจะเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลเลย” สิชกล่าว
สิชแนะนำด้วยว่า อาจจะดีกว่า หากเราจะพ่นวัสดุดักจับฝุ่นเตาปฏิกรณ์จากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีที่เคยทำที่เชอร์โนบิล เนื่องจากฝุ่นนั้น สามารถแพร่กระจายไปได้ไกล และการติดเครื่องพ่นละอองอาจลดฝุ่นลงได้ แต่ก็จะทำให้คนงานได้รับรังสีมากขึ้นจากการติดตั้งเครื่องด้วย
ด้าน เอลเมอร์ ลูอิส (Elmer Lewis) จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) กล่าวว่า อีกความเสี่ยงคือ แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญของความกังวล ขณะที่การเททรายนับตันลงไปที่แท่งเชื้อเพลิง อาจกันการแผ่รังสีไม่ให้หลุดรอดออกมาได้
แต่วิธีการดังกล่าว ก็จะกันความร้อนไว้ และทำให้แท่งเชื้อเพลิงร้อนเร็วขึ้น โดยความร้อนอาจทำให้พื้นคอนกรีตแยกออก และทำแท่งเชื้อเพลิงหล่นลงไปในรอยแยกนั้น ซึ่งจะสร้างความยุ่งยากมากขึ้นในความพยายามควบคุมการแผ่รังสี
ลูอิสผู้ให้คำปรึกษาด้านปัญหาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในห้องปฏิบัติการแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่าการเทคอนกรีตฝังกลบเตาปฏิกรณ์นั้น ทำได้เมื่อวัสดุแผ่รังสีมีอุณหภูมิเย็นลงแล้ว ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาอีกหลายปี เมื่อถึงตอนนั้นจะเลือกใช้วิธีนี้ เมื่อพิสูจน์แล้วว่า การเคลื่อนย้ายวัสดุนิวเคลียร์จากอาคารอย่างปลอดภัยนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป จึงเลือกการฝังกลบได้ แต่ ณ จุดนี้ เขาและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การเททรายลงไปนั้นเสี่ยงเกินไป
เดวิด ลอชบวม (David Lochbaum) ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ จากสหภาพนักวิทยาศาสตร์ (Union of Concerned Scientist) และยังเป็นผู้เฝ้าระวังวิกฤตด้านพลังงานนิวเคลียร์ กล่าวถึงแนวคิดในการผนึกเตาปฏิกรณ์หรือบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงว่า จะทำได้ก็ต่อเมื่อ “ไม่เหลือความหวังแล้ว” แต่เขาเชื่อว่าความหวังยังมีอยู่.