เหตุการณ์แผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ ทำให้เกิดสึนามิสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่เมืองชายฝั่งญี่ปุ่น เหตุภัยพิบัติล่าสุดที่เกิดขึ้นนี้ทำให้หลายคนเชื่อมโยงกับเหตุ “ปลาแอนโชวี” เกยตื้นนับล้านตัวในแคลิฟอร์เนีย ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันนี้ว่าอาจเป็นสัญญาณของภัยพิบัตินี้
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงได้นำข้อสังเกตดังกล่าวไปสอบถามความเห็นจาก ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักสมุทรศาสตร์จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งให้ความเห็นว่า ในความรู้ของเขานั้นเหตุการณ์ทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกันน้อยมาก เพราะปลาแอนโชวีไม่ใช้สนามแม่เหล็กในการนำฝูงเหมือนวาฬและโลมา เหตุเกยตื้นดังกล่าวน่าจะเกี่ยวกับปรากฏการณ์ลานิญญาหรือเรื่องของกระแสน้ำมากกว่า
ส่วนเหตุการณ์ทางทะเลใดบ้างที่จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเกิดแผ่นดินไหวนั้น นักสมุทรศาสตร์ของไทยกล่าวว่า อาจดูจากการเกยตื้นของวาฬและโลมาได้บ้าง แต่ไม่ใช่ 100% เพราะวาฬและโลมาเกยตื้น 100 ครั้ง อาจเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น
สำหรับเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่ญี่ปุ่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวัฏจักรแผ่นไหวของญี่ปุ่นจะเกิดความรุนแรงทุกๆ 60-70 ปีอยู่แล้ว และคนญี่ปุ่นก็รู้ดีว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เพียงแค่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่หนเดียวหรือเกิดตามมาอีกหลายเดือน โดยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นเกิดขึ้นเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยโอชิน แต่ครั้งนั้นคนไม่เยอะมากเท่าสมัยนี้จึงไม่เห็นความเสียหายมากเท่าสมัยนี้
หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆ ติดกันหลายครั้ง และก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นก็เกิดแผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์ แต่ ดร.ธรณ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ไม่กี่ครั้ง แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ต้องรุนแรงตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป โดยนับจากปี 2004 มีแผ่นดินไหวรุนแรงกว่า 8 ริกเตอร์ แค่ 3-4 ครั้งเท่านั้น
“แผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์นั้นรุนแรงประมาณ 6 ริกเตอร์ไม่ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ หากแต่เกิดแผ่นดินไหวที่กลางเมืองจึงเกิดความเสียหายมาก และภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง รวมถึงจำนวนคนที่มากขึ้น จึงทำให้รู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวถี่ขึ้นนั่นเอง” ดร.ธรณ์กล่าว
สำหรับเมืองไทยที่น่าห่วงคือผลกระทบจากแผ่นดินไหวในรูปสึนามิมากกว่าผลกระทบจากแผ่นดินไหวโดยตรง และไทยจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวโดยตรงหากเกิดแผ่นดินไหวแถวรอยเลื่อนใกล้ๆ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ เมืองไทยไม่น่าเป็นเป็นห่วงในเรื่องแผ่นดินไหวมากนัก เพราะในรอบ 100 ปีแผ่นดินไหวในเมืองไทยยังไม่เคยเกิน 6 ริกเตอร์
รวมเรื่องควรรู้ในพิบัติภัย-วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น