เนคเทคพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยเด็กแอลดี ทดสอบใช้กับเด็กป่วยที่สถาบันสุขภาพเด็ก และนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ นำร่องแล้ว 2 โปรแกรมช่วยให้อ่าน-เขียนภาษาไทย คาดปี 55 ใช้งานได้ทั้งหมด 7 โปรแกรม พร้อมให้ รพ.หรือผู้ปกครองนำไปใช้พัฒนาเด็ก
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเด็กพิการและเด็กป่วย เมื่อวันที่ 9 มี.ค.54 ณ อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งมหาราชินี กรุงเทพฯ
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือดังกล่าวมีจุดประสงค์หลักเพื่อการดำเนินงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเด็กพิการและเด็กป่วยในรูปแบบต่างๆ ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผนวกเข้ากับศาสตร์ทางการแพทย์เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ผอ.สวทช. กล่าวด้วยว่า ทาง สวทช.ได้ดำเนินการพัฒนาวิจัยโครงการการติดตามผลการใช้งานโปรแกรมเพื่อช่วยการอ่าน การเขียน กระบวนการคิดและการคำนวณสำหรับเด็กป่วย และเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หรือ เด็กที่มีภาวะบกพร่องในทักษะการเรียน (Learning Disorder : LD)
“โปรแกรมดังกล่าวเป็นการพัฒนาขึ้น สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่แรกพบจนกระทั้งระดับมัธยมปลาย และเด็กพิการหรือเด็กป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลนาน จนไม่สามารถไปเรียนหนังสือตามปกติได้ ทำให้เด็กมีการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ที่ดีเหมือนได้อยู่ในห้องเรียน” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว
ดร.อรอินทรา ภู่ประเสริฐ หัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องมือช่วยการอ่าน การเขียน กระบวนการคิด และการคิดคำนวณ สำหรับผู้ที่มีปัญหาการเรียนรู้ เนคเทค อธิบายว่าการวิจัยพัฒนาโปรแกรมเพื่อช่วยเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้นั้นมีทั้งหมด 7 โปรแกรม คือ 1.โปรแกรมอ่านหนังสือไทยผ่านเครื่องสแกนเนอร์ 2.โปรแกรมเลือกศัพท์ไทย (Thai Talking Word Prediction) 3.โปรแกรมค้นหาศัพท์ไทย (Thai Word Search) 4. โปรแกรมตรวจคำผิดไทย (Thai Talking Spell Checker) 5. โปรแกรมพิมพ์ไทย (Thai Talking Word Processor) 6. โปรแกรมแต่งความไทย (Organization Writer) และ 7.โปรแกรมฝึกคณิตศาสตร์ (Talking Mathematics)
“เป็นการดำเนินงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 2552 ได้มีการนำไปทดสอบกับเด็กแล้ว 2 โปรแกรมแล้วคือ โปรแกรมเลือกศัพท์ไทยและโปรแกรมค้นหาศัพท์ไทย คาดว่าไม่เกินปี 55 โปรแกรมทั้ง 7 จะได้นำออกมาให้เด็กได้เรียนรู้กันอย่างแน่นอน” ดร.อรอินทรา กล่าว
ดร.อรอินทรา อธิบายว่า โปรแกรมเลือกศัพท์ไทย สามารถช่วยเสนอคำศัพท์ที่เด็กต้องการเขียน จะมีคำศัพท์รองรับประมาณ 50,000 คำ และคู่คำอีกประมาณ 50,000 คำ โปรแกรมดังกล่าวยังมีเสียงสังเคราะห์ภาษาไทย เพื่อให้เด็กสามารถตรวจสอบความถูกต้องของคำศัพท์ได้ และโปรแกรมนั้นยังสามารถเรียนรู้ ปรับปรุงข้อมูลคำศัพท์จากการใช้งานของผู้ใช้ได้อีกด้วย
ดร.อรอินทรา กล่าวว่า สำหรับ โปรแกรมค้นหาศัพท์ไทย สามารถช่วยให้เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ค้นหาคำศัพท์ที่ใกล้เคียงกับคำที่สะกดผิด จะมีคำศัพท์รองรับกว่า 30,000 คำ ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์คำศัพท์ตามเสียงอ่าน หรือตามคาดเดาลงบนโปรแกรม จากนั้นโปรแกรมจะมีการตรวจสอบหาคำศัพท์ที่ใกล้เคียงกับคำที่ผู้ใช้งานต้องการค้นหา
หากพิมพ์คำว่า “ทำมะชาด” โปรแกรมจะประมวลผลออกมาเป็นคำว่า “ธรรมชาติ” หรือ “รโงเรียน” โปรแกรมจะประมวลออกมาเป็น “โรงเรียน” เช่นกัน อีกทั้งโปรแกรมจะแสดงรายการคำศัพท์ใกล้เคียงให้ผู้ใช้ พร้อมกับเสียงของคำศัพท์ที่เลือก เพื่อให้สะดวกและเลือกคำศัพท์ได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ดี โปรแกรมทั้ง 2 นั้น ได้นำไปทดลองใช้กับเด็กป่วยที่รับการรักษาตัวที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งมหาราชินี และนำไปทดลองใช้กับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ของโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ เขตดินแดง กรุงเทพฯ แล้วกว่า 1 ปี
ดญ.ธิดา ทัศมี หรือ น้องโบว์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หนึ่งในเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ ของโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ กล่าวว่า ได้ใช้โปรแกรมเลือกศัพท์ไทย และโปรแกรมค้นหาศัพท์ไทย ตั้งแต่ชั้น ป.5 โปรแกรมทั้ง 2 จะช่วยในเรื่องของการค้นหาคำศัพท์ที่ยาก ทำให้ง่ายต่อการพิมพ์งาน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จะมีการเก็บรวบรวมข้อมูล และติดตามผลการใช้งานจากนั้นจะนำผลที่ได้ไปพัฒนาปรับใช้ให้เหมาะสม หากโรงพยาบาล หรือผู้ปกครองที่สนใจสามารถติดต่อมายังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อนำโปรแกรมดังกล่าวไปพัฒนาใช้กับเด็กต่อไป