xs
xsm
sm
md
lg

หนูแรกเกิดสร้างเนื้อเยื่อหัวใจได้ใหม่ หลังถูกเฉือนออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยพบหนูแรกเกิดสามารถสร้างเนื้อเยื่อหัวใจได้ใหม่แม้จะถูกเฉือนเนื้อเยื่ออกไป (ภาพประกอบข่าวจากเนชันนัลจีโอกราฟิก )
เป็นเรื่องปกติสำหรับปลาและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ที่จะสร้างเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจขึ้นมาใหม่ แต่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หากแต่การทดลองของทีมนักวิทยาศาสตร์อังกฤษพบว่า ลูกหนูเกิดใหม่ สามารถสร้างกล้ามเนื้อหัวใจที่เสียหาย กลับมาใหม่ได้ภายใน 3 สัปดาห์

ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก ที่พบสัตว์เลี้ยงลูกนมสร้างกล้ามเนื้อหัวใจขึ้นมาได้ใหม่ ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ความเข้าใจต่อกระบวนการดังกล่าวนี้ จะช่วยในการรักษาหัวใจของมนุษย์ได้

งานวิจัยดังกล่าว เป็นผลงานของทีมวิจัยจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยเท็กซัสเซาท์เวสเทิร์น (University of Texas Southwestern Medical Center) ซึ่งได้ผ่าตัดนำเนื้อเยื่อหัวใจในส่วนล่างของหัวใจด้านซ้าย (left ventricular apex) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อถึง 15% ของกล้ามเนื้อหัวใจทั้งหมด ออกจากหัวใจของลูกหนูที่เพิ่งเกิดได้เพียง 1 วัน

ภายในเวลา 21 วันลูกหนูก็สร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาเติมหัวใจใหม่จนเต็ม และหลังจากผ่านไป 2 เดือน ปรากฏว่าหัวใจทำงานได้อย่างปกติ หากแต่เมื่อทดลองด้วยกระบวนการเดียวกันนี้กับลูกหนูที่มีอายุ 2 สัปดาห์ หัวใจกลับไม่สามารถสร้างเนื้อเยื่อได้ใหม่ ซึ่งการทดลองนี้ชี้ว่าความสามารถในซ่อมแซมตัวเองของหนูนั้นมีช่วงระยะเวลาสั้นๆ

ทั้งนี้ เชื่อกันว่า หลังเกิดเซลล์หัวใจของหนูนั้นมีช่องแคบๆ อยู่ภายใน ซึ่งสามารถที่จะซ่อมแซมหรือสร้างทดแทนได้ และการทดลองนี้ได้ชี้ว่าการซ่อมแซมเซลล์หัวใจเกิดขึ้นภายในกล้ามเนื้อหัวใจ

“ผลการทดลองของเราแสดงให้เห็นว่า กล้ามเนื้อหัวใจใหม่ที่สร้างขึ้นมาซ่อมแซมบริเวณที่ถูกตัดออกไปนั้น มาจากเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและการขนย้ายเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่มีอยู่แล้ว เราไม่มีหลักฐานว่ากล้ามเนื้อหัวใจเหล่านี้มาจากสเต็มเซลล์” บีบีซีนิวส์รายงานความเห็นของ ศ.อีริค โอลสัน (Prof.Eric Olson) นักวิจัยโครงการนี้

สำหรับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและปลาหลายชนิด โดยเฉพาะปลาม้าลายนั้นสามารถสร้างกล้ามเนื้อหัวใจได้ใหม่ไปจนกระทั่งโตเต็มวัย แต่งานวิจัยล่าสุดนี้ชี้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็มีความสามารถที่จะซ่อมแซมหัวใจตัวเองได้ แต่ภายใต้เวลาอันจำกัดหลังเกิดใหม่นั้น

ศ.โอลสันยังเชื่อด้วยว่า งานวิจัยในอนาคตจะแสดงให้เห็นว่า มนุษย์มีความสามารถเช่นเดียวกับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและปลา แม้ว่าพวกเขายังไม่มีแผนที่จะทำการทดลองกับเนื้อเยื่อหัวใจมนุษย์

“ไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่า ช่องว่างแบบเดียวกันนี้จะไม่มีอยู่ในหัวใจคน ทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับการพัฒนาและการทำงานต้นๆ ของหัวใจหนูนั้นเทียบเคียงได้กับหัวใจคน ดังนั้นเราจึงค่อนข้างมั่นใจว่า กระบวนการเดียวกันนี้มีอยู่ในมนุษย์ด้วย แม้ว่าความคิดนี้ยังต้องมีการพิสูจน์ก็ตาม” ศ.โอลสันให้ความเห็น

ศ.เจเรมี เพียร์สัน (Prof.Jeremy Pearson) ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิโรคหัวใจอังกฤษ (British Heart Foundation) กล่าวถึงการศึกษาครั้งนี้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสร้างหัวใจข้นมาใหม่นั้นไม่จำกัดเฉพาะปลาม้าลายหรือตัวนิวท์ส (newts) เท่านั้น แต่ให้ความเห็นอีกว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากเพื่อทำความเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในการเยียวยารักษาหัวใจ

“งานวิจัยที่น่าตื่นเต้นนี้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า ตัวอ่อนหนูสามารถเยียวยาหัวใจที่เสียหายของตัวเองได้เหมือนปลาและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งงานนี้เพิ่มน้ำหนักให้ความเห็นว่า การเข้าใจกระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างไรนั้น จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะรักษาหัวใจของคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วได้” ศ.เพียร์สันกล่าว

อย่างไรก็ดี ศ.โฮลสันยอมรับว่า อาจมีปัญหารออยู่ เพราะสิ่งที่ได้ผลดีในหัวใจที่มีความดันต่ำของปลาม้าลายนั้น อาจจะไม่ได้ผลในหัวใจหลายห้องที่มีความดันสูงของมนุษย์ ตัวอย่างเช่นการแทรกกล้ามเนื้อหัวใจเข้าไปอาจกระตุ้นให้หัวใจเกิดการเต้นผิดจังหวะได้
มวิจัย (ซ้ายไปขวา) ดร.อีริค โอลสัน , เฮแชม ซาเดก (Hesham Sadek) และ เอ็นโซ พอร์เรลโล (Enzo Porrello) ภาพจากไซน์เดลี
ปลาม้าลายสามารถสร้างกล้ามเนื้อหัวใจใหม่ได้จนโต (บีบีซีนวิส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น