“เอดิสัน” เป็นนักประดิษฐ์ที่ชาวโลกรู้จักกันดี ในฐานะผู้คิดค้นหลอดไฟได้เป็นคนแรกของโลก แล้วเขายังมีนวัตกรรมอันเป็นผลงานสร้างสรรค์อีกมากมาย และในช่วงเวลา 84 ปีที่เขายังมีลมหายใจ เอดิสันยังได้มองไกลถึงนวัตกรรมของเขา ว่าจะทำให้โลกอนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ในวันเกิดครบรอบปีที่ 164 ของ "โทมัส เอดิสัน" (Thomas Edison) เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2011 ที่ผ่านมา “เนชันแนลจีโอกราฟิก” จึงได้นำเรากลับไปย้อนทบทวน “คำคาดการณ์” ของเอดิสัน เมื่อครั้งที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ลงนิตยสาร “คอสโมโปลิแทน” (Cosmopolitan : ที่สมัยนั้นยังเป็นนิตยสารทั่วไป) โดยเป็นการรวบรวม และอธิบายขยายความเพิ่มเติมจากหนังสือ “เอดิสัน : ชีวิตแห่งการคิดค้น” (Edison: A Life of Invention)
ไปดูกันกว่า คำทำนายของ “เอดิสัน” เมื่อ ปี 1911 มีอะไรเกิดขึ้นจริงแล้วบ้างในปี 2011
หนังสือจะทำจากโลหะ
เอดิสันได้จินตนาการว่า หนังสือในอนาคตจะไม่ใช้กระดาษ หากแต่เป็นโลหะนิเกิลแทน และหนังสือนิเกิลนี้จะมีราคาถูกกว่า แข็งแรงกว่า และยังเป็นวัสดุที่ยืดหยุ่นได้มากกว่ากระดาษ
แน่นอนว่าเอดิสันไม่มีทางรู้จัก “หมึกอิเล็กทรอนิกส์” (e-ink) ที่กลายเป็นตัวอักษรแห่งโลกดิจิทัล แต่เขาก็ได้มองไกลไปเกินกว่าหนังสือที่เขาถือไว้ในมือเสียอีก และนิเกิลก็ใช้ทำสแตนเลสสตีลเป็นมันวาว เหมือนอุปกรณ์อิเล็กทริกส์ ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ที่เราแทบจะใช้แทนหนังสือกันไปแล้ว
เครื่องยนต์จะมาแทนคนงาน
ในปี 1911 เอดิสันบอกคอสโมโปลิแทนว่า เครื่องจักรกลทั้งหลาย จะสามารถสร้างและประกอบสิ่งของต่างๆ ทดแทนการใช้มือคนได้อย่างแน่นอน
“วันที่ช่างเย็บผ้าตามท้องถนน จะนั่งหน้าดำคร่ำเคร่งด้นตะเข็บ กำลังจะหมดลง” เขาทำนาย และเห็นว่า เครื่องจักรกลจะเข้าไปแทนที่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งก็เป็นอย่างภาพที่เราเห็นกันในโลกยุคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
โทรศัพท์จะฉลาดขึ้น
แม้เอดิสันจะไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ แต่เขาก็พัฒนาโทรเลขแบบใช้เสียงขึ้น (phonograph) อันเป็นพื้นฐานให้นำไปสู่สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “โทรศัพท์” และเมื่อนั้นเอดิสันก็เชื่อว่า ในอนาคตจะมีการประยุกต์ใช้งานโทรศัพท์ได้อีกหลากหลายมากมาย
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีทางด้านโทรศัพท์ ที่พัฒนาได้ก้าวไกลจนถึงทุกวันนี้ และจะก้าวไกลไปกว่าที่เราจะจินตนาการได้ ก็เพราะพื้นฐานที่มาจากโทรเลขแบบเสียงของเอดิสันนั่นเอง
โลกนี้จะมีแต่คอนกรีต
ผลจากการการสร้างเตาเผาแบบต่อเนื่อง ทำให้เอดิสันได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมซีเม็นต์ จนนำไปสู่การใช้คอนกรีตอย่างแพร่หลาย ตอนนั้น เอดิสันบอกว่าผู้คนเสียสติ ที่สร้างตึกด้วยก้อนอิฐประกอบเข้ากับแท่งเหล็ก ทำไมถึงไม่ใช้คอนกรีตเทให้เข้ากับโครงสร้างเหล็กหรือเหล็กเส้น
เขายังทำนายอีกว่า หลังจากปี 1941 สิ่งปลูกสร้างทั้งหลายจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นคฤหาสน์สวยหรู หรือตึกสูงระฟ้า คอนกรีตจะทำให้โครงสร้างเหล่านี้ดำรงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน
ในช่วงปี 1920 ตึกระฟ้าทั้งหลายก็ได้ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กจริง อย่างที่เอดิสันว่าไว้ แต่หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่าสถาปนิกยุคใหม่นิยมออกแบบตึกสูง ที่มีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นกรอบเหล็กติดผนังกระจก มากกว่าคอนกรีตเสริมเหล็กไปเสียแล้ว
เฟอร์นิเจอร์ไม้จะหายไป
เอดิสันบอกคอสโมโปลิแทนว่า เฟอร์นิเจอร์เหล็กจะถูกนำมาประดับบ้าน วางแทนที่เฟอร์นิเจอร์ไม้ ขณะที่สภาพสังคมในตอนนั้น แทบนึกถึงภาพแท่งเหล็กที่ตั้งประดับบ้านไม่ออกเลยด้วยซ้ำ
“เด็กๆ ในรุ่นถัดไป จะได้นั่งเก้าอี้สูง ทำจากเหล็กกล้า และรับประทานอาหารบนโต๊ะเหล็กเช่นกัน พวกเขาจะไม่รู้จักเฟอร์นิเจอร์ไม้ นั่นก็เพราะอัลลอยมีน้ำหนักเบาและถูกกว่าไม้ และยังนำไปทำลวดลายได้ง่ายกว่าไม้มะฮอกานีหรือไม้ชนิดอื่นๆ” เอดิสันกล่าวไว้
อีกทั้งในช่วงปี 1920 - 1930 เหล่าผู้ผลิต ก็เริ่มทดลองสร้างเฟอร์นิเจอร์เหล็กให้กับสถานที่ทำงานต่างๆ มากขึ้น แม้ว่าตามบ้านจะยังคงใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้อย่างแพร่หลายก็ตาม
ไฟฟ้าจะขับเคลื่อนรถไฟแทนไอน้ำ
รถจักรไอน้ำเพิ่งก่อกำเนิดก่อนเอดิสันเกิดเพียงครึ่งศตวรรษ แต่เอดิสันในวัยหนุ่มกลับบอกว่า ในไม่ช้ารถจักรไอน้ำจะหมดไป และเทคโนโลยีกังหันน้ำจะช่วยสร้างกระแสไฟฟ้าให้วิ่งบนรางรถไฟได้ และจะก้าวข้ามไปจากยุคไอน้ำ
แค่เพียงศตวรรษเดียว ที่เอดิสันทำนายไว้ เราก็ได้ประจักษ์ชัดว่ารถจักรไอน้ำได้สิ้นสุดลงแล้ว แถมยังมีรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าเข้ามาแทนที่
ยุคทองของการเล่นแร่แปรธาตุ
เหล่านักเล่นแร่แปรธาตุมีความพยายามที่จะสร้างทองคำเทียมมาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม แม้แต่เอดิสันก็ให้ความสนใจ ซึ่งเขาพูดถึงสิ่งนี้ ก่อนจะมีอุตสาหกรรมผลิตทองในสหรัฐฯ เสียอีก
เอดิสันเกือบทายถูกว่า เราจะสามารถสร้างทองได้เอง เพราะมีนักวิทยาศาสตร์สามารถจัดเรียงอะตอม จนเป็นทองสังเคราะห์ได้สำเร็จในห้องปฏิบัติการ
ทว่า การสร้างทองเทียมได้ก็หาใช่เรื่องน่าตื่นเต้น เพราะโลกยุคปัจจุบันเราสามารถสร้างวัตถุเทียมขึ้นได้อีกมากมายหลายชนิด
เทคโนโลยีทำชีวิตไม่มีจน
“ความยากจนนั้น คือโลกที่ผู้คนใช้แต่มือ ทว่าตอนนี้มนุษย์เริ่มใช้สมองของพวกเขาแล้ว ดังนั้นความยากจนกำลังจะหมดลง” มุมมองของโทมัส เอดิสันต่อความยากจน โดยเขาเชื่อว่านับจากยุคของเขา ที่มีการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมกันอย่างมากมาย จะส่งผลให้ความยากจนค่อยๆ หมดไป
เอดิสันมองประโยชน์ของเทคโนโลยีว่า จะช่วยสร้างความก้าวหน้าทางธุรกิจ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ทั้งความร่ำรวยและความดีงาม อันจะทำให้ความยากจนหดหายไป ซึ่งยังไม่ใช่โลกในปี 2011 เป็นแน่แท้
คำทำนายของเอดิสันมองจากพื้นฐานสังคมในยุคนั้น และวิเคราะห์แนวโน้มอนาคต ที่อาจจะไปถึงแล้ว หรือยังไปไม่ถึง
แต่ที่แน่ๆ มุมมองของเขาในฐานะนักประดิษฐ์คนสำคัญของโลก ที่มีผลงานจดสิทธิบัตรนับพันชิ้น ในวัย 50 ต้นๆ เขาได้กลายเป็นเมธีนวัตกร นักคิดค้นสำคัญของชาติอเมริกัน (และโลก) ซึ่งในยุคของเขานั้นมีความศรัทธาต่อการใช้เทคโนโลยีสร้างความก้าวหน้า ผลงานของเขาหลายสิ่ง ที่ยังคงกลายเป็นรากฐานและมีอิทธิพลต่อนวัตกรรมในยุคปัจจุบัน.