xs
xsm
sm
md
lg

รัฐในฐานะกลุ่มผลประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เมื่อเรานำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในบ้านเรา สังคมไทยยังเป็นสังคมเกษตรกรรม ลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือ การมีการรวมกลุ่มโดยมีกลุ่มที่หลากหลายเรียกว่า กลุ่มอิทธิพล และกลุ่มผลประโยชน์

สังคมไทยในอดีตกาลไม่มีกลุ่ม มีแต่มูลนาย และไพร่อันเป็นรากฐานสำคัญของการมีระบบอุปถัมภ์ การเคลื่อนไหวที่ทำเป็นกลุ่มในอดีต นอกจากกบฏที่นานๆ จะเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว ก็มีการลุกฮือของพวกอั้งยี่ รัฐไทยไม่นิยมให้มีการรวมกลุ่ม แม้จะยอมให้มีการจัดตั้งสมาคมได้ แต่ก็มีข้อห้ามไม่ให้สมาคมเกี่ยวข้องกับการเมือง ดังนั้นความสัมพันธ์ทางสังคมแบบทางขวางที่เป็นปัจจัยสำคัญของการรวมกลุ่มจึงไม่มี มีแต่ความสัมพันธ์แบบผู้อุปถัมภ์ และลูกน้อง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางดิ่ง และมีลักษณะเฉพาะเจาะจง ผู้อุปถัมภ์อาจมีลูกน้องจำนวนมาก แต่ลูกน้องเหล่านั้นก็ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน พวกเขาอาศัยใบบุญของเจ้านาย เป็นความสัมพันธ์เฉพาะตัว

ตรงกันข้ามกับสังคมตะวันตก ซึ่งมีกลุ่มมากมายหลากหลาย พวกช่างเหล็ก ช่างไม้ก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพ ต่อมาเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม พวกผู้ใช้แรงงานก็เป็นกลุ่มที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน กลุ่มนายทุน และพวกพ่อค้าก็มีการรวมกลุ่ม กลุ่มเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในสังคมตะวันตกเป็นไปในลักษณะที่รัฐมีบทบาทเป็นกลไกการเมืองที่กำหนดกฎกติกาต่างๆ ในรูปของกฎระเบียบ และกติกาให้กลุ่มต่างๆ ปฏิบัติ การแข่งขันทางเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี มีรัฐทำหน้าที่เป็นกรรมการคอยควบคุมดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม รัฐจึงมีความเป็นกลาง หรือสังคมก็มีความคาดหวังและข้อเรียกร้องที่ให้รัฐมีความเป็นกลาง ยุติธรรม และมีการเปิดช่องทางให้ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงอำนาจรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน

ทฤษฎีประชาธิปไตยแบบพหุนิยมมีสมมติฐานเช่นนี้ การจรรโลงระบอบประชาธิปไตยหมายถึง การรักษาความเป็นกลางของรัฐไว้ ไม่ปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้ายึดกุมอำนาจ และใช้อำนาจนั้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

แต่รัฐไทยกลับเป็นกลุ่มผลประโยชน์เสียเอง ที่คอยควบคุมกีดกันไม่ให้กลุ่มอื่นๆ นอกระบบราชการเติบโต เนื่องจากพลังทางเศรษฐกิจเป็นพลังของชนเชื้อสายจีน รัฐจึงไม่ต้องการให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ดังนั้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีการรวมกลุ่มของพ่อค้าจึงเกิดขึ้นยาก และความสัมพันธ์แบบผู้อุปถัมภ์ และลูกน้องก็ขยายวงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการกับพ่อค้าด้วย

รัฐในฐานะกลุ่มผลประโยชน์ได้จัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดำเนินการทางธุรกิจหลายอย่าง กิจการที่เอกชนน่าจะทำได้ รัฐก็เป็นผู้จัดทำเสียเอง

เนื่องจากสังคมไทยขาดพื้นฐานทางกลุ่มแบบตะวันตก พรรคการเมืองแบบพรรคมวลชนจึงไม่เกิดขึ้น มีแต่พรรคที่มีผู้นำเป็นใหญ่ และเป็นพรรคที่เน้นการเลือกตั้งเป็นสำคัญ และเนื่องจากรัฐเป็นศูนย์รวมของผลประโยชน์มหาศาล ทั้งสัมปทาน ใบอนุญาต กิจการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณ นักการเมือง และพรรคการเมืองจึงช่วงชิงที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อควบคุมและเข้าถึงผลประโยชน์เหล่านี้

พรรคการเมืองไทย จึงไม่มีกลุ่มอิทธิพล หรือกลุ่มผลประโยชน์เป็นฐาน เพราะกลุ่มผลประโยชน์ที่ใหญ่โตที่สุดคือรัฐ เมื่อนักการเมืองมีอำนาจ พวกเขาจึงเข้าไปแบ่งผลประโยชน์กับกลุ่มข้าราชการในการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ และเข้าไปก้าวก่ายกับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ

รูปธรรมของการช่วงชิงประโยชน์จากรัฐที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนแปลงการเป็นเจ้าของหุ้นจากรัฐมาสู่มือนายทุน โดยอาศัยตลาดหุ้นเป็นกลไกสำคัญ

พัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมเช่นนี้ จึงต่างไปจากตะวันตก ตรงที่รัฐไม่ได้เป็นกลาง และเข้าไปมีบทบาทในการจัดการผลประโยชน์เสียเอง แทนที่จะเป็นผู้ออกกติกาแต่เพียงอย่างเดียว

ถ้าเช่นนั้น รัฐมีผลประโยชน์อะไรที่ต้องรักษา คำตอบก็คือ อำนาจ ผลประโยชน์ของรัฐคืออำนาจ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะให้รัฐกระจายอำนาจ ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปในเรื่องการกระจายอำนาจได้รับการต่อต้านมากที่สุดจากข้าราชการกระทรวงมหาดไทย อย่างดีรัฐก็แบ่งอำนาจไปให้ท้องถิ่นต่างๆ แต่จะไม่โอนถ่ายอำนาจลงไปอย่างเต็มที่

ในฐานะที่รัฐเป็นกลุ่มผลประโยชน์ เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงเป็นกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์โดยตรง ในสมัยหนึ่งทหารอากาศเป็นผู้ควบคุมบริษัทการบินไทย ทหารเรือดูแลการท่าเรือฯ และทหารบกเข้าไปดูแลการขนส่งทางบก นอกจากนั้นกองทัพยังมีผลประโยชน์ร่วมอย่างมหาศาลในการจัดซื้ออาวุธอีกด้วย

เมื่อการเมืองไทยขาดปัจจัยด้านกลุ่มผลประโยชน์ภายนอกรัฐ การวิเคราะห์การเมืองไทย จึงต่างไปจากการวิเคราะห์การเมืองตะวันตก ที่มีกลุ่มหลากหลายแข่งขัน และถ่วงดุลกันเอง การเมืองไทยเป็นการเข้าช่วงชิงอำนาจรัฐ และอาศัยอำนาจรัฐเข้าถึงผลประโยชน์ต่างๆ อำนาจทางการเมืองจึงเป็นอำนาจที่เข้าไปทำให้ผลประโยชน์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเคยได้รับกลายเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มทุนทางการเมือง ดังเช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น กรณีรัฐบาลทักษิณที่ใช้อำนาจรัฐออกกฎหมาย และแก้สัญญาคมนาคม ตลอดจนอาศัยการให้เงินกู้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทของตน ก็เป็นตัวอย่างอันดี และการรัฐประหารของคณะทหารก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการแย่งชิงอำนาจที่ดูแลผลประโยชน์นั้น กลับคืนมานั่นเอง

ในที่สุดแล้ว การเมืองก็คือการแย่งชิงอำนาจรัฐระหว่างกลไกอำนาจรัฐกับกลุ่มทุนที่จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง โดยอาศัยระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เป้าหมาย หากเป็นเพียงเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจรัฐเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น