xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาวิธี “หมีจำศีล” เลียนแบบกู้ชีวิตผู้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพหมีดำอเมริกันจากวารสารไซน์ซึ่งไม่ได้ระบุวันที่เผยแพร่ภาพ ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษากระบวนการจำศีลของหมีที่มีอัตราการเผาพลาญพลังงานต่ำ เพื่อค้นหาตัวยาที่จะนำไปสู่การรักษาโรคหัวใจวายหรือโรคเส้นเลือดในสมอง และโรคอื่นๆ (เอพี)
“หมีจำศีล” เป็นตัวกรนที่เสียงดัง ในภาวะดังกล่าวเจ้าสัตว์อ้วนปุยมี่ชีวิตอยู่ได้นานหลายเดือนโดยไม่ต้องกินอาหารในการหลับช่วงฤดูหนาวแม้ยังคงตั้งท้องอยู่ก็ตาม เสียงดังกะทันหันอาจปลุกพวกมันขึ้นมาได้ แต่ก็ยังคงเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยอยู่ดี

ธรรมชาติของหมีจำศีลนี่เองเอเอฟพีบอกว่าได้จุดประกายให้นักวิทยาศาสตร์สนใจว่าร่างกายของหมีนั้นทำงานอย่างไรระหว่างการจำศีล ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยเหลือแพทย์ในการกู้ชีพผู้ป่วยที่อยู่ภาวะบาดเจ็บ

“การทำงานระหว่างจำศีลของหมีนั้น ค่อนข้างคล้ายกับระบบปิด สิ่งที่พวกมันต้องการอย่างเดียวคืออากาศ” ไบรอัน บาร์นส์ (Brian Barnes) จากสถาบันชีววิทยาอาร์คติก (Institute of Arctic Biology) ของมหาวิทยาลัยอลาสกาแฟร์แบงก์ส (University of Alaska Fairbanks) กล่าว

จากการไขรหัสเกี่ยวกับอัตราการเผาพลาญพลังงานระดับต่ำของหมีเป็นเวลา 5-7 เดือน เอเอฟพีบอกว่า นักวิจัยคาดหวังที่จะได้ค้นพบเงื่อนงำในการรักษาชีวิตผู้คน ซึ่งทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยสาหัส อย่างเช่นอาการหัวใจวาย หรือ โรคหลอดเลือดสมอง

“อาการบาดเจ็บดังกล่าว เป็นปัญหาความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน การลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนของคุณไปยังสมองลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ความต้องการยังอยู่ในระดับสูง และคุณจะต้องไปถึงโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด"

"ถ้าเราสามารถเผยวิธีที่สัตว์จำศีลหยุดความต้องการเผาผลาญพลังงานลงได้ นั่นหมายความเราสามารถรักษาใครก็ตามที่เจ็บป่วยได้ด้วยลดความต้องการเผาผลาญพลังงานเพื่อให้เข้ากับการป้อนพลังงานเผาพลาญที่น้อยลง” บาร์นส์อธิบาย

ด้วยวิธีดังกล่าวผู้ป่วยจะถูกทำให้อยู่ในสภาวะสมดุล และสามารถยืดเวลาออกไปได้เหมือนที่สัตว์จำศีลแสดงให้เห็น

งานวิจัยเกี่ยวกับหมีจำศีลของบาร์นส์และทีม ซึ่งนำโดย โออิวินด์ โทเอียน (Oivind Toien) จากสถาบันชีววิทยาอาร์คติก ได้ตีพิมพ์ลงวารสารไซน์ (Science) และงานของพวกเขา ยังพบข้อมูลใหม่นั่นคือ อัตราการเผาผลาญพลังงานนั้น ลดลงดิ่งกว่าที่เคยรับรู้กันมาก่อน นั่นคือลดต่ำลงถึง 75% แต่อุณหภูมิร่างกายของหมีกลับลดลงแค่ 5-6 องศาเซลเซียส

อีกทั้ง ยังพบว่าหมีตัวหนึ่งที่พวกเขาศึกษานั้นกำลังตั้งท้องอยู่ด้วย และอุณหภูมิร่างกายของเธอก็ไม่ต่างจากหมีตัวอื่น ระหว่างหลับใหลในช่วงฤดูหนาว

หมีที่นำมาศึกษาครั้งนี้คือหมีดำอเมริกัน (American black bears) 5 ตัว ซึ่งถูกจับโดยกระทรวงการประมงและการล่าสัตว์อลาสกา (Alaska Department of Fish and Game) เนื่องจากทุกตัวก่อความรำคาญให้แก่ประชากรมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์ได้จำลองถ้ำที่ใช้ในการจำศีล และให้หมีทั้งหมดเข้าไปอยู่ โดยจับภาพความเคลื่อนไหวด้วยกล้องอินฟราเรด เครื่องส่งสัญญาณถูกติดอยู่บนหมีแต่ละตัวเพื่อวัดกิจกรรมบนกล้ามเนื้อ เช่น อาการสั่นเทิ้ม เป็นต้น ทั้งนี้หายใจเพียงนาที 1-2 ครั้ง และอัตราการเต้นของหัวใจของหมีระหว่างการจำศีลก็ต่ำมาก

“บางครั้งทิ้งช่วงห่างถึง 20 นาทีระหว่างจังหวะการเต้นของหัวใจแต่ละครั้ง” โทเอียนกล่าว แต่หมีเหล่านั้น ก็สูญเสียมวลกระดูกไปอย่างมากเช่นกัน แต่สูญเสียกล้ามเนื้อเพียงเล็กน้อยระหว่างการจำศีล

ทั้งนี้ดูเหมือนว่าหมีเหล่านั้นไม่เคลื่อนไหวเลย อย่างไรก็ดี พวกมันก็มีกลวิธีทำให้เนื้อเยื่อ กระดูกและกล้ามเนื้อยังรู้สึกว่าทำงานอยู่

ดังนั้น ทีมวิจัยจึงสนใจอย่างมาก ในการค้นหาสัญญาณระดับโมเลกุล สำหรับพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งกลวิธีที่ว่านั้น อาจจะทำให้เราค้นพบยาตัวใหม่ซึ่งนำการเลียนแบบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมีมาใช้ในคนได้
ถ้านักวิทยาศาสตร์ไขปริศนาการจำศีลของหมีได้ อาจนำไปสู่การพัฒนายารักษาโรคบางอย่างได้เช่นกัน (เอเอฟพี)
นักวิทยาศาสตร์พบว่าระหว่างที่หมีจำศีลนั้นอัตราการเผาพลาญพลังงานลดลงถึง 75% และหมีที่ตั้งท้องก็มีภาวะเช่นเดียวกัน (Press Association)
กำลังโหลดความคิดเห็น