เชื่อกันมาแต่โบราณว่า วันไหนเกิด “พระอาทิตย์ทรงกลด” วันนั้นเป็น “วันดี” แต่วันดีคืนดี เกิดแสงสีแปลกๆ ทาบบนท้องฟ้าก็ทำเอาคนที่เชื่อโชคลางอดหวั่นใจกับปรากฏการณ์ไม่ปกติไม่ได้ แต่หากมีใจเป็นวิทยาศาสตร์และรู้จักค้นข้อมูลและใช้เหตุผลไตร่ตรอง ก็จะพบว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็น “เรื่องปกติ” ในธรรมชาติ
ในเว็บไซต์ “แอตโมเฟียริก ออพติกส์” ของอังกฤษ ที่เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์แสงในชั้นบรรยากาศ กล่าวถึงปรากฏการณ์ทรงกลดบนท้องฟ้าว่า นอกจากจะเป็นปรากฏการณ์ที่ตกแต่งฟ้าให้สวยงามแล้ว ยังบอกเราถึงผลึกที่อยู่ในเมฆบนชั้นบรรยากาศได้ด้วย โดยปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดนั้น เกิดจากผลึกน้ำแข็งในเมฆเซอร์รัส (cirrus cloud) ซึ่งเป็นเมฆชั้นบนที่อยู่สูงขึ้นไป 5-10 กิโลเมตร
ผลึกน้ำแข็งนั้น ประพฤติตัวเหมือนผลึกอัญมณี เมื่อแสงอาทิตย์ผ่านผลึกแล้ว จะหักเหและสะท้อน จากนั้นลำแสงสีต่างๆ จะถูกส่งออกมา ซึ่งปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดนั้นประกอบขึ้นจากแสงวาบที่หักเหและสะท้อนออกมาจากผลึกน้ำแข็งหลายล้านผลึก
คนไทยอาจคุ้นเคยกับอาทิตย์ทรงกลดที่เป็นวงกลมล้อมรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งจัดเป็นอาทิตย์ทรงกลดแบบวงกลม 22 องศา (22° halo) แต่ยังมีอาทิตย์ทรงกลดอีกหลายแบบ ได้แก่
- อาทิตย์ทรงกลดแบบซันด็อก (sundogs) ที่คล้ายมีดวงอาทิตย์หลายดวงบนท้องฟ้า
- อาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งพาร์ฮีลิค (parhelic circle) ซึ่งมักเห็นเป็นวงกลมตัดผ่านดวงอาทิตย์และซันด็อกที่อยู่ขนาบข้างดวงอาทิตย์
- อาทิตย์ทรงกลดแบบสัมผัสบน (Upper tangent arc) กับอาทิตย์ทรงกลดแบบสัมผัสล่าง (Lower tangent arc) ซึ่งเห็นเป็นเส้นโค้งสัมผัสทรงกลดแบบวงกลม 22 องศา
- เส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล (CircumZenithal Arc) หรือเส้นโค้ง CZA ซึ่งคล้ายกับรุ้งกลับหัว โดยจะเห็นเหนือตำแหน่งของดวงอาทิตย์ขึ้นไป อาทิตย์ทรงกลดประเภทนี้ถูกจัดให้เป็นประเภทสวยที่สุดด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นจัดอยู่ในประเภทที่เกิดขึ้นได้บ่อย (Frequent Halos) และยังมีอาทิตย์ทรงกลดแบบอื่นอีกที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง
นอกจากปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดที่สร้างสีสวยบนท้องฟ้าแล้ว ยังมี “รุ้งกินน้ำ” ที่เกิดจากการหักเหและสะท้อนของแสงผ่านหยดน้ำฝน ซึ่งเป็นอีกปรากฏการณ์ทางแสง ที่คนไทยคุ้นเคยดี และน่าจะคุ้นเคยมากกว่าแสงอาทิตย์ทรงกลดด้วย
หลายครั้งที่ปรากฏแสงสี 7 แสง เราจึงเรียกสิ่งที่เห็นอย่างไม่ลังเลว่า “รุ้ง” ดังปรากฏการณ์ “รุ้งกลับหัว” (upside-down rainbow) ที่ตกเป็นข่าวดัง แท้จริงแล้วคืออาทิตย์ทรงกลดชนิดเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากแอตโมเฟียริก ออพติกส์ระบุด้วยว่า ปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดนั้น เกิดขึ้นได้บ่อยกว่าการเกิดรุ้ง
เฉพาะในยุโรปและบางส่วนของสหรัฐฯ นั้นเกิดปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดเฉลี่ยถึงอาทิตย์ละ 2 ครั้ง โดยอาทิตย์ทรงกลดแบบวงกลม 22 องศาและปรากฏการณ์ซันด็อกจะเกิดขึ้นบ่อยสุด
ในขณะที่หลายคนคิดว่าอาทิตย์ทรงกลดจะเกิดขึ้นเฉพาะในวันพิเศษเท่านั้น แต่หากหมั่นสังเกตท้องฟ้าอาจได้เจอปรากฏการณ์แสงสวยๆ บ่อยขึ้นก็ได้
เช่นเดียวกับ วิทยา ศรีชัย กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ที่สนใจปรากฏการณ์รุ้งและอาทิตย์ทรงกลดมาตั้งแต่เด็กเพราะสีสันที่สวยงาม และมักแหงนมองฟ้าอยู่บ่อยครั้งว่าจะได้เห็นหรือไม่ พร้อมทั้งพกกล้องถ่ายรูปติดตัวไว้บันทึกภาพเมื่อมีโอกาสอยู่เสมอ
ด้าน อ.สิทธิชัย จันทรศิลปิน นักวิชาการหัวหน้าฝ่ายท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ ซึ่งเคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ มีความเห็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับความเชื่อของคนไทยต่อปรากฏการณ์ว่า ในวันที่เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว มักมีอากาศไม่ร้อนจัด ท้องฟ้าแจ่มใส และไม่มีฝนตกอย่างปุบปับ จึงเป็นโอกาสเหมาะแก่การจัดกิจกรรมหรือประเพณีกลางแจ้ง
ดังนั้น ในสภาพท้องฟ้าแจ่มใสเดียวกันนี้ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปรากฏการณ์ “อาทิตย์ทรงกลด” ขึ้นได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ปรากฎการณ์อาทิตย์ทรงกลดจะกลายเป็นสัญญลักษณ์ของวันดีๆ เพราะเรามีโอกาสทำกิจกรรมกลางแจ้ง และได้แหงนมองฟ้าในบางเวลานั่นเอง.