xs
xsm
sm
md
lg

กำลังคนขาดแคลน “มหิดล” เปิดหลักสูตรสร้าง “นักนิติวิทยาดิจิทัล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.รวิน ระวิวงศ์
กำลังคนขาดแคลน แต่อาชญากรรมเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของคอมพิวเตอร์ “มหิดล” เร่งเปิดหลักสูตรปริญญาโทสร้าง “นักนิติวิทยาดิจิทัล” และหลักสูตรระยะสั้นแก่ผู้ทำงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมตั้งเป้า 2 ปีสร้างห้องปฏิบัติการครอบคลุมงานนิติวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ เน็ตเวิร์ก มือถือและความมั่นคงบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์

ผศ.รวิน ระวิวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัจจุบันเรากำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคนและเครื่องมือในการพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ไม่มีหลักสูตรที่สอนทางด้านนิติวิทยาดิจิทัลโดยตรง ทางมหิดลจึงได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโททางด้านนี้เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้

ทั้งนี้ ตั้งเป้าผลิตบุคลากรปีละ 40 คน แต่จำนวนดังกล่าวยังไม่เพียงพอกับความต้องการ และไทยยังต้องการบุคลากรทางด้านนี้อยู่มาก ซึ่ง ผศ.รวินกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า นักนิติวิทยาดิจิทัลในเมืองไทยนั้นมีอยู่จำนวนน้อยมากและไม่ได้จบทางด้านนี้โดยตรง โดยบุคลากรที่มีอยู่กระจายตัวอยู่ตามหน่วยงานของรัฐ เช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เป็นต้น

สำหรับหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรวิศวกรรมมหาบัณฑิต ซึ่งผู้สนใจศึกษาต่อต้องมีพื้นฐานความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยนอกจากเรียนทางด้านเทคโนโลยีแล้วยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายและการพิสูจน์หลักฐาน ดังนั้น คณาจารย์สำหรับหลักสูตรนี้จึงมีทั้งอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาดิจิทัลจากหน่วยงานต่างๆ มาเป็นอาจารย์พิเศษ

นอกจากนี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดลยังได้เปิดหลักสูตรระยะสั้นด้านนิติวิทยาดิจิทัล แก่บุคลากรในสายอาชีพนี้ เช่น ทนายความ ผู้พิพากษา เป็นต้น รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการนวัตกรรมและการเรียนรู้ด้านนิติวิศวกรรม ซึ่งจะเริ่มที่ห้องปฏิบัติการสืบค้นและกู้ข้อมูลบนคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ก่อน และภายใน 2 ปีจะเปิดห้องปฏิบัติการที่ครอบคลุมงานนิติวิทยาดิจิทัลด้านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ และความมั่นคงบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์

ทางด้าน นายดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่า ปัจจุบันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์มีเยอะมากขึ้นตามการขยายตัวของคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน และมีคนทำผิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงแรกๆ ผู้กระทำผิดเป็นเหล่าแฮคเกอร์ที่มีความรู้ แต่ปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยโปรแกรมแฮก ระบบสำเร็จที่มีวางจำหน่าย

“อันตรายจากคอมพิวเตอร์นั้นมีหลายระดับ เช่น ระดับร้ายแรงเป็นการแฮคข้อมูล ขโมยข้อมูลไปขาย หรือระดับเล้กๆ เป็นการเจาะระบบเข้าไปเล่นๆ เป็นต้น” นายดลกล่าว และบอกด้วยว่ากฎหมายคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นจับกุมแฮคเกอร์ได้เพียงไม่กี่คน ส่วนการกระทบผิดอื่นๆ เช่น ส่งต่อภาพโป๊ ถ่ายคลิปอนาจาร เป็นต้น ใช้กฎหมายอาญาจัดการได้

ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกาบอกอีกว่า การรวบรวมหลักฐานทางดิจิทัลนั้นเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ที่คนอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ และหลักฐานทางดิจิทัลนั้นศาลให้การรับฟังแล้วชั่งน้ำหนักร่วมกับพยานแวดล้อมอื่น แต่ไม่สามารถใช้หลักฐานดิจิทัลชี้ขาดความผิดได้ และต้องมีมาตรฐานการจัดเก็บหลักฐานศาลจึงจะรับฟัง อีกทั้งเขายังเปรียบหลักฐานทางดิจิทัลเหมือนกับหยดเลือด ซึ่งต้องพิจารณาต่อว่าเป็นหยดเลือดจากการถูกทำให้ตายหรือฆ่าตัวตายเอง

พร้อมกันนี้นายดลได้ยกตัวอย่างว่า ฮาร์ดดิสก์อาจเก็บข้อมูลภาพอนาจารไว้โดยที่เจ้าของไม่ทราบ แล้วเจ้าพนักงานกู้ออกมาได้ ส่งผลให้ตกเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งกรณีเช่นนี้ในต่างประเทศศาลจะกำหนดให้การเก็บหลักฐานจากฮาร์ดดิสก์ต้องใช้โปรแกรมเฉพาะตามที่ศาลกำหนด หากแต่เมืองไทยยังไม่มีมาตรฐานเช่นนั้น จึงต้องเร่งสร้างมาตรฐานขึ้นมา อย่างไรก็ดีศาลยังคงรับฟังพยานหลักฐาน แต่หากมีเหตุให้สงสัยก็ต้องยกฟ้อง
นายดล บุนนาค
กำลังโหลดความคิดเห็น