“สมัชชาวิทย์” เปิดประชุมปีที่ 9 ระดมความคิดพิจารณา “ร่างแผนวิทยาศาสตร์ฯ” 10 ปี ตั้งเป้าดันงบวิจัยจาก 0.2 % ขึ้นเป็น 1% ใน 5 ปี และอาจได้ถึง 2% ใน 10 ปี พร้อมเพิ่มสัดส่วนเอกชน-รัฐลงทุนวิจัยเป็น 70:30 ด้าน รมต.วิทย์ให้ความเห็นนักวิจัยคิดอย่างอิสระได้แต่ต้องสร้างสมดุลระหว่างงบประมาณอันจำกัดด้วย
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัด “การประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา” ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค.54 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยเวทีประชุมที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 นี้จะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำร่างนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2564) และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนจะเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อใดนั้น ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่าจะเสนอเมื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เห็นว่าพี่น้องประชาชนเห็นชอบในแผนที่มีระยะ 10 ปีนี้ พร้อมทั้งแจกแจงถึงเป้าหมายของแผนว่า ในระยะ 5 ปีจะดันให้มีงบลงทุนวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นจาก 0.2% ของจีดีพีเป็น 1% และอาจจะถึง 2% ในอีก 10 ปีหลังใช้แผน พร้อมทั้งตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนนักวิจัยต่อประชากรจาก 5: 10,000 คน เป็น 15:10,000 คนในอีก 5 ปี และ 25:10,000 ในอีก 10 ปีข้างหน้า และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนการวิจัยจากภาคเอกชนต่อภาครัฐ จากเดิมอยู่ที่ 40:60 เป็น 70:30 ในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วย
“เราได้ยินว่างานวิจัยและพัฒนาของเราอยู่บนหิ้ง แต่นักวิชาการก็บอกผมว่าอย่าจำกัดการทำงานของนักวิจัย ให้เขาคิดฝันไป เพราะหลายครั้งการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะเป็นจริง แต่ในงบประมาณที่จำกัดเราก็ต้องสร้างสมดุลเพื่อให้งานของเราใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจอย่างเดียวซึ่งเป็นวงจำกัดเกินไป แผนนี้อาจจะตอบโจทย์ของทุกคนไม่ได้ทั้งหมดแต่อยากให้ช่วยกันตอบโจทย์พี่น้องประชาชนให้ได้ดีมากขึ้น” ดร.วีระชัยกล่าว
ในความเห็นส่วนตัวของรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ ต่อการทำแผนครั้งนี้นั้นเน้นให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเห็นเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ใช่แค่เรื่องในห้องปฏิบัติการ ซึ่งการสร้างความตระหนักตรงนี้คาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น 2.ทำอย่างไรจะให้แผนนี้ใส่ใจปัญหาของประชาชนมากขึ้น เพราะหากไม่ทำแผนให้ใส่ใจต่อปัญหาประชาชนก็จะไปไม่ถึงไหน 3.ต้องประสานงานกับหน่วยงานของกระทรวงอื่นๆ ในภูมิภาค เพราะกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไม่มีหน่วยงานตามภูมิภาค และอาสาสมัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกลุ่มสำคัญที่จะเชื่อมกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไปถึงชุมชน
ดร.วีระชัยกล่าวด้วยว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้มีแผนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปแล้ว โดยแผนนี้จะเน้นนวัตกรรมที่เกิดจากองค์ความรู้ของการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะนวัตกรรมที่จดทะเบียนสิทธิบัตร