หมอธีระวัฒน์เผย ครึ่งหนึ่งของโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เป็นโรคสมองอักเสบ สาเหตุหลักเกิดจากไวรัสติดจากสัตว์สู่คน ยิ่งน่าห่วงมากหากแพทย์วินิจฉัยได้ล่าช้า ทำให้เชื้อโรคมีเวลาแพร่ระบาดมากขึ้น ระบุต้องพัฒนาทั้งคนทั้งเทคโนโลยี พร้อมเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังสัตว์พาหะด้วย แนะควรทำแผนที่ถิ่นอาศัยของสัตว์ในประเทศไทย ใช้เฝ้าระวังได้แทบทุกโรค
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรคติดเชื้อของคนในปัจจุบันเกิดจากสัตว์มากถึง 3 ใน 4 และมีสาเหตุมากจากสัตว์ป่ามากกว่าสัตว์เลี้ยง เพราะปัจจุบันมนุษย์มีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้นจากการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง ซึ่งในจำนวนโรคติดเชื้อที่มาจากสัตว์ทั้งหมด เป็นโรคที่มีความรุนแรงมากถึงชีวิตราว 13% และ 37% มีอาร์เอ็นเอไวรัส (RNA virus) เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งรวมถึงโรคไข้สมองอักเสบด้วย
"โรคไข้สมองอักเสบถือว่าน่าเป็นห่วงมากในเวลานี้ เพราะ 50% ของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ เป็นโรคสมองอักเสบ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดจากสัตว์มาสู่คน จากการที่มนุษย์นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงมากขึ้น หรือมีตัวพาหะนำโรคเป็นแมลงและสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น ยุง หนู เห็บ หมัด ค้างคาว และที่น่ากลัวมากคือแพทย์ส่วนใหญ่ที่ดูแลรักษาคนไข้ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เชื้อโรคมีโอกาสแพร่กระจายไปมากขึ้น โดยแพทย์และพยาบาลถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด เพราะเป็นด่านแรกที่ต้องเจอกับคนไข้" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เผยในระหว่างการบรรยายพิเศษเรื่อง "โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่เกิดในระบบประสาทและสมอง" ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2553 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยกตัวอย่างกรณีแพทย์และพยาบาลในบังกลาเทศจำนวนมากต้องเสียชีวิตด้วยโรคสมองอักเสบจากไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) โดยได้รับเชื้อมาจากคนไข้ เพราะไม่สามารถวินิจฉัยโรคและให้การรักษาคนไข้ได้ทันท่วงที ฉะนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องรู้จักธรรมชาติของโรคเหล่านั้น ต้องบอกได้ว่าเป็นโรคที่ผิดปกติหรือไม่ได้อย่างรวดเร็ว หากพบอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ต้องรีบแจ้งให้ทีมระบาดวิทยาเร่งสืบสวนหาสาเหตุของโรคโดยด่วน
ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมองให้มีความไวและความจำเพาะต่อโรคมากยิ่งขึ้น เพราะคอมพิวเตอร์สมองที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว แพทย์จึงต้องอาศัยการสังเกตลักษณะอาการของโรคหรือความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนไข้
"ณ ขณะนี้เรามีการพูดถึงโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ แต่ยังไม่เคยมีการบรรจุความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียน ดังนั้นต้องพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ สัตวแพทย์ และหน่วยเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา เพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคให้ได้เร็วที่สุด ถึงแม้บางโรคจะยังไม่มียารักษา แต่อย่างน้อยก็เป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าโรคดังกล่าวกำลังใกล้มาถึงเราแล้ว" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เผยอีกว่า พื้นที่ที่มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดโรคอุบัติใหม่โรคอุบัติซ้ำส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งการที่เราจะสามารถคาดการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่โรคอุบัติซ้ำได้ ต้องสามารถวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงหรือที่เรียกว่า ฮอตสปอต (Hot spot) ได้ว่ามีพื้นที่ไหนบ้าง มีไวรัสอะไรบ้าง มีสัตว์อะไรเป็นแหล่งเพาะเชื้อ อะไรเป็นสัตว์นำโรค และกลุ่มคนประเภทไหนที่มีโอกาสติดเชื้อโรคเหล่านั้นบ้าง ต้องมองให้รอบด้าน
"ประเทศไทยต้องมีการวางแผนในการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ถ้าเกิดมีโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คนระบาดในประเทศข้างเคียง เช่น พม่า, กัมพูชา ประเทศไทยต้องรู้ว่าในบ้านเรานั้นมีสัตว์ชนิดนั้นอยู่หรือไม่ มีอยู่ที่ไหน เป็นสปีชีส์เดียวกันหรือไม่ ซึ่งไทยยังไม่มีการเฝ้าระวังโรคในลักษณะนี้ และยังไม่ให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังสัตว์พาหะ แต่จะพุ่งเป้าไปที่การเฝ้าระวังผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตเสียมากกว่า อีกทั้งยังให้ความสนใจเฝ้าระวังเฉพาะบางโรคเท่านั้น ทำให้บางโรคที่ไม่ได้เฝ้าระวังมีโอกาสแพร่ระบาดสูงกว่า" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เสนอแนะว่า น่าจะมีการจัดทำแผนที่ฐานข้อมูลสัตว์ที่พบในประเทศไทยว่ามีสัตว์อะไร พบที่ไหนบ้าง มีจำนวนชุกชุมในฤดูกาลไหน ซึ่งจะช่วยให้เรารู้ได้ว่าพื้นที่ไหนหรือจังหวัดใดอาจมีการระบาดของโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ และควรต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยนำมาประกอบกับข้อมูลของประชากรในจังหวัดนั้นๆ ก็จะสามารถทำให้เราเฝ้าระวังได้ทุกโรคโดยไม่ต้องรอให้มีการตายเกิดขึ้น นอกจากนั้นยังต้องสร้างความตระหนักให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเองจากโรคได้ เช่น กรณีของโรคพิษสุนัขบ้า ต้องทำให้คนมีวินัยในการเลี้ยงสุนัข