xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.จี้รัฐเก็บภาษีผู้ป่วยต่างชาติอุดสมองไหล สมาคม รพ.เอกชนหวั่นกระทบท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาฯ สปสช.ดันเก็บภาษีต่างชาติรักษาพยาบาลในประเทศ เตรียมหารือ “เหลิม” เสนอเป็นทางออกแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบท เชื่อเก็บภาษีผู้ป่วยต่างชาติไม่กระทบเมดิคัลฮับ ไทยยังแข่งขันได้ ด้านสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หวั่นคนไข้น้อยลง กระทบการท่องเที่ยว

วันที่ 28 ตุลาคม นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบทว่า ขณะนี้พยายามที่จะผลักดันมาตรการการจัดเก็บภาษีคนไข้ชาวต่างชาติในการรักษาพยาบาลในประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ได้มีการเสนอความเห็นไปแล้วก่อนหน้านี้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐเป็นผู้ลงทุนในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อแพทย์มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะด้านแล้ว ทรัพยากรบุคคลเหล่านี้กลับไปให้การบริการรักษาชาวต่างชาติในโรงพยาบาลเอกชนที่เก็บค่ารักษาพยาบาลสูง แพทย์ได้รับค่าตอบแทนมากจนเกิดการสมองไหล

“ไม่คิดว่าการเก็บภาษีคนไข้ต่างชาติจะเป็นการผลักภาระค่าบริการทางการแพทย์ เพราะรัฐบาลลงทุนไปเยอะ มีการส่งแพทย์ไปเรียนต่างประเทศ แต่แพทย์กลับถูกดูดไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนให้บริการเฉพาะคนไข้ต่างชาติ เพราะได้เงินค่ารักษาจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาคนไทยด้วยกัน ที่ผ่านมาไม่ทราบว่ามีการเก็บภาษีหรือไม่ ถ้ามีอยู่แล้วก็ควรจะมีการเก็บภาษีเพิ่มเพื่อนำเงินมาแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท เอาเงินมาช่วยเหลือประชาชนคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ”นพ.วินัยกล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ส่วนการเก็บภาษีอาจพิจารณาจากจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ละแห่งโดยต้องคำนวณงบประมาณค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่นำไปใช้ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ เช่น การพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทน การผลิตและพัฒนาบุคลากร แล้วจึงพิจารณาว่าจะเก็บภาษีจากโรงพยาบาลในสัดส่วนจำนวนเท่าใด แต่ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน และหากมีโอกาสตนจะนำเสนอแนวคิดนี้ ให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาและผลักดันในแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า สปสช.มีหน้าที่ในการสร้างระบบประกันสุขภาพที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ แต่หากประเทศไทยยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ก็ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ เพราะแพทย์ไม่พอซึ่งโรงพยาบาลเอกชนคงไม่ได้ดึงแพทย์มาจากโรงพยาบาลชุมชนทีเดียว แต่เป็นวงจรอุบาทว์ที่โรงพยาบาลเอกชนชักจูงแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ไป โรงเรียนแพทย์ก็ไปดึงแพทย์โรพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลจังหวัดก็ดึงแพทย์โรงพยาบาลชุมชนเป็นทอดๆ ซึ่งหากตนเองมีอำนาจในการแก้ปัญหาได้คงจะดำเนินการไปแล้ว

“หากจะพิจารณาว่าหน่วยงานใดจะรับผิดชอบกับการที่แพทย์ขาดแคลน สธ. สปสช. แพทยสภา หรือโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งผมเห็นว่า การแก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลนถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับชาติ โดยที่กระทรวงสาธารณสุขเพียงหน่วยงานเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่รัฐบาลต้องออกเป็นนโยบายของประเทศในการแก้ปัญหาต้องร่วมมือกันในหลายส่วน รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ แพทยสภา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลิตแพทย์ ต้องมีการกำหนดทิศทางนโยบายในภาพรวมของประเทศ ไม่ใช่ผลิตแบบปล่อยอิสระ แพทย์อยากเรียนสาขาใดก็ได้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเอาจริงเอาจังในการช่วยกันแก้ปัญหา” นพ.วินัยกล่าว

นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า ส่วนการดำเนินนโยบายศูนย์กลางสุขภาพแห่งเอเชีย (เมดิคัลฮับ) นั้นก็ควรมีการสร้างสมดุลของอัตราค่าบริการ เชื่อว่าแม้จะมีการเก็บภาษี แต่ประเทศไทยก็จะแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลของไทยถือว่ามีราคาต่ำกว่าในหลายประเทศ อย่างอัตราค่าผ่าตัดขยายหลอดเลือดของ สปสช.อยู่ที่ 2 แสนบาท ภาคเอกชนประมาณ 5 แสนบาท ขณะที่หากผ่าตัดที่สหรัฐอเมริกาอัตราค่าบริการจะอยู่ที่ 3-4 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าไทยหลายเท่าตัว ส่วนการเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ใช้ทุนถือเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ การแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ที่แท้จริงควรแก้ปัญหาที่ระบบ และทำทุกอย่างหลายด้านด้วยกัน

“ผมยังไม่ได้หารือกับโรงพยาบาลเอกชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพราะยังเป็นแนวคิดที่อยากแก้ปัญหา แต่เชื่อว่า สธ.น่าจะเห็นด้วยเพราะขณะนี้ยังไม่มีทางออกไม่รู้จะทำอย่างไร ในการแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบท และแม้ว่าจะมีการจัดระบที่ทำให้แพทย์อยู่ในระบบมากขึ้น เปลี่ยนกติกาต่างๆ ได้ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีงบประมาณในการบริหารจัดการ”นพ.วินัยกล่าว

ด้านนพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ แต่ผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่เข้ามารับการรักษาในประเทศไทย เนื่องจากได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีและจ่ายค่ารักษาในราคาที่เหมาะสม หากประเทศไทยจะมีการดำเนินมาตรการใดที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเข้ามารักษาพยาบาลสูงขึ้น อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเข้ามารักษาในประเทศไทยลดจำนวนลง ซึ่งจากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่าผู้ป่วยต่างประเทศที่เข้ามารักษาในไทย เสียค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลเพียง 20-30% เท่านั้น ที่เหลืออีก 70-80% ใช้จ่ายไปในเรื่องอื่น

“หากมีการเรียกเก็บภาษีจากผู้ป่วยต่างชาติ วงการแพทย์อาจไม่กระทบมาก แต่ภาคธุรกิจอื่นๆโดยเฉพาะการท่องเที่ยวอาจจะกระทบมากกว่า ดังนั้น จะใช้มาตรการอย่างไร ควรวิเคราะห์อย่างรอบด้าน คิดให้รอบคอบและอยู่บนความเหมาะสม ที่สำคัญควรคำนึงด้วยว่าจะส่งเสริมให้ไทยสู้คู่แข่งในด้านนี้ได้มากขึ้นหรือน้อยลง ส่วนตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในไทยปีละเท่าไหร่ ผมเข้าใจว่าน่าจะหลักล้าน แต่ตัวเลขที่แท้จริงต้องถามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา”นพ.เอื้อชาติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น