xs
xsm
sm
md
lg

"เมืองแกลง" ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จังหวัดระยองอาจมีชื่อเสียในด้านมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม แต่เทศบาลตำบลเมืองแกลงในจังหวัดระยองมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองสีเขียวและเมืองคาร์บอนต่ำ
นายกเทศมนตรีเมืองแกลง โชว์วิสัยทัศน์พัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ ทำได้จริงไม่อิงกระแสแค่แจกถุงผ้า เน้นลงทุนต่ำแต่ทำให้คุณภาพชีวิตสูงขึ้นได้ มุ่งพลิกฟื้นพื้นที่สีเขียว สร้างวินัยประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะ ยกเลิกถังขยะ พร้อมเปลี่ยนของเสียให้เป็นของดี ยึดคติ "ทำให้ดินดีเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น"

ก่อนที่ใครๆ จะพูดถึงปัญหาภาวะโลกร้อนและแจกถุงผ้ากันให้ว่อนเมืองเหมือนตอนนี้ ประชาชนในเทศบาลตำบลเมืองแกลง จ.ระยอง เขาเริ่มปรับตัวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาชุมชนสู่วิถีแห่งเมืองคาร์บอนต่ำมาก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว ดังที่นายสมชาย จริยเจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเมืองแกลง จ.ระยอง นำมาเล่าสู่กันฟังในงานประชุมวิชาการประจำปี 2553 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (NAC2010) เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

นายสมชาย เปิดเผยว่า การพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในเทศบาลตำบลเมืองแกลงให้น่าอยู่ ก็เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น โดยนำมาตรฐาน ISO 14001 มาปรับใช้ให้เหมาะสม โดยยึดหลักการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ ทำให้บ้านเมืองน่าอยู่ ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้ชุมชน ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่เปิดโล่งเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันเมืองแกลงมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ

"การคมนาคมก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากภาคการขนส่ง จึงริเริ่มโครงการรถโดยสารสาธารณะของเทศบาล และส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยในการเดินทางร่วมกันโดยหันมาใช้บริการรถโดยสาร ขสมก. หรือขนส่งเมืองแกลง ซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 33 กิโลกรัมต่อวันต่อคัน และทำให้การจราจรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น" นายสมชาย เผย

นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเมืองแกลงยังมุ่งส่งเสริมการจัดการของเสีย โดยยึดหลัก ทำอย่างไรของเสียจึงไม่เสียของ หรือจัดการของเสียเพื่อให้ได้ของดี และมีส่วนช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ โดยลดปริมาณการฝังกลบขยะให้น้อยที่สุด และทำให้เมืองแกลงกลายเป็นเมืองปลอดขยะด้วยการยกเลิกการตั้งวางถังขยะตามจุดต่างๆ ของเมืองแกลง แต่มีการจัดเก็บขยะตามสถานที่ต่างๆ อย่างเป็นเวลา รวมทั้งรับซื้อขยะรีไซเคิลจากโรงเรียนต่างๆ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนและครอบครัวรู้จักแยกขยะ

"สัดส่วนขยะในเมืองแกลงประมาณ 83% เป็นเศษอาหารและขยะอินทรีย์ จึงมีการคัดแยกขยะ ขยะรีไซเคิลต่างๆ สามารถขายและสร้างรายได้เข้าเทศบาลได้ ส่วนขยะอินทรีย์ ผักและผลไม้เน่า นำมาทำน้ำหมักชีวภาพ โดยบดและหมักรวมกับพวกเศษกิ่งไม้ใบหญ้า ได้เป็นน้ำจุลินทรีย์สำหรับใช้เติมลงในดินและแม่น้ำลำคลอง เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดินและทำให้ระบบนิเวศในน้ำดีขึ้น ไม่เน่าเสีย ซึ่งกว่าจะมาเป็นปุ๋ยหมักบำรุงดิน ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากดิน ก็ต้องกลับคืนสู่ดิน ถ้าเราทำให้ดินดี เราก็จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น" นายสมชาย กล่าว

นอกจากนี้ ขยะอินทรีย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายได้ เช่น นำไปหมักให้เกิดก๊าซชีวภาพเพื่อใช้แทนก๊าซหุงต้ม หรือนำไปเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน เศษพืชผักต่างๆ ใช้เลี้ยงเป็ด หมู และแพะได้ แม้แต่พวงหรีดราคาแพงก็สามารถนำมาเป็นอาหารแพะซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องได้ และแพะยังกินไปถ่ายไป เปรียบเสมือนเป็นโรงงานปุ๋ยหมักแบบวันเดียว ซึ่งมูลแพะนี้สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยหรือเป็นอาหารเลี้ยงปลาได้

ไม่เพียงเท่านี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลงยังออกกฎหมายให้อาคาร ร้านค้า และบ้านเรือนประชาชนต้องติดตั้งถังดักไขมัน เพราะไขมันจากเศษอาหารมักเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำเน่าเสีย ท่อระบายน้ำอุดตัน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรคชนิดต่างๆ และไขมันเหล่านี้ยังมีคุณสมบัติติดไฟง่าย สามารถนำมาแปรเปลี่ยนเป็นก้อนเชื้อเพลิงสร้างรายได้ให้ชุมชนหรือใช้เป็นฟืนภายในชุมชนได้

"จากการบริหารจัดการขยะในเมืองแกลง สามารถช่วยลดปริมาณขยะได้จากประมาณ 7 ล้านกิโลกรัม เมื่อปี 2549 ให้เหลือประมาณ 6 ล้านกิโลกรัมในปี 2552 ได้ ซึ่งกระบวนการจัดเก็บขยะเป็นสิ่งสำคัญ และต้องได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านด้วยจึงจะประสบผลสำเร็จ และขยะอินทรีย์มีเหมือนกันในทุกประเทศทั่วโลก สามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงไส้เดือน เลี้ยงแพะ เลี้ยงหมูได้เหมือนกัน" นายสมชาย กล่าว

นายกเทศบาลตำบลเมืองแกลง กล่าวอีกว่า เศษอาหาร เศษผักผลไม้ เศษไขมัน ครั้งหนึ่งเคยเป็นของดี อยู่ในอาหารจานหรู อาหารจานหรูเหล่านี้มาจากฟาร์มเพาะปลูก ปลูกด้วยดินและน้ำ ฉะนั้นเขาจึงพูดเสมอว่าคนเราไม่ได้เลี้ยงพืช แต่เลี้ยงดินต่างหาก แล้วดินไปเลี้ยงพืชให้เป็นอาหารของคนอีกทีหนึ่ง ซึ่งตรงนี้คือคำตอบว่าทำไมทุกอย่างจึงต้องกลับคืนสู่ดินสู่น้ำ และเราใส่อะไรให้กับดินเราก็จะได้กินอย่างนั้น

"กลุ่มคนฐานใหญ่ไม่มีโอกาสได้ไปเดินสยามพารากอน อย่างมากก็เดินห้างสรรพสินค้าชานเมือง เพราะฉะนั้นการพัฒนาเมืองของคนฐานใหญ่ ต้องทำให้ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ซึ่งหลายคนอาจบอกว่าเชยแต่ก็ยังเห็นกินข้าวกันอยู่ เราสามารถนำเอาอดีตทั้งหลายในวัยเด็กที่เราเคยมีความสุขกันมาพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ได้ โดยเราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงแต่รู้เท่าทันมัน ถึงแม้จะมีรายได้ต่ำ แต่มีคุณภาพชีวิตสูง" นายสมชายกล่าว

ล่าสุดนั้นนายกเทศมนตรีเมืองแกลงยังได้ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ทำเกษตรเมือง และทำนาปลูกข้าวกันมากขึ้น เน้นปลูกพอกิน เหลือพอขาย เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตดินดำน้ำชุ่ม มีธรณีสัณฐานที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ไม่จำเป็นต้องไปผูกติดกับธุรกิจข้ามชาติตามอย่างต่างประเทศที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งประเทศไทยควรเน้นการพัฒนาเพื่อให้เป็นเมืองแห่งการผลิตแทนที่จะเป็นเมืองแห่งการบริโภค เพราะประชาชนคนฐานใหญ่ของไทยไม่ได้ร่ำรวยพอที่จะบริโภคได้มากมาย

ทั้งนี้ นายสมชายเริ่มพัฒนาเทศบาลตำบลเมืองแกลงให้เป็นเมืองสีเขียว เมืองคาร์บอนต่ำแต่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตสูงตั้งแต่ปี 2545 หลังจากที่เขาได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีสมัยแรกเมื่อปี 2544 จนถึงปัจจุบันเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งยึดหลักการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และทำให้เห็นประจักษ์ โดยอาศัยประสบการณ์ต่างๆ ในวัยเด็กที่เคยมีความสุขของเขา ที่สามารถนำมาทำได้จริงโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย โดยเริ่มจากการทำน้ำหมักจุลินทรีย์เป็นอย่างแรกและขยายไปสู่ด้านต่างๆ จนทำให้เมืองแกลงทุกวันนี้เป็นเมืองน่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
นายสมชาย จริยเจริญ
นายสมชาย จริยเจริญ ขณะบรรยายเรื่อง เมืองคาร์บอนต่ำของไทย ในงาน NAC2010
ขสมก. หรือ ขนส่งเมืองแกลง (ภาพจาก www.muangklang.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น