xs
xsm
sm
md
lg

ออสซีเจอ "กบหายาก" หลังคิดว่าสูญพันธุ์แล้วกว่า 30 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กบเบลจุดเหลืองคู่หนึ่งที่พบในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย เมื่อปี 2008 หลังจากพบครั้งแรกเมื่อปี 1973 และไม่พบอีกเลยกว่า 3 ทศวรรษ จนนักวิทยาศาสตร์คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว (เอพี)
นักวิทย์ออสซีดีใจ พบ "กบ" สายพันธุ์หายากอีกครั้ง หลังคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 30 ปี รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมชี้ มีความสำคัญเท่ากับพบเสือแทสมาเนีย ระบุเป็นสัญญาณาเตือนให้เร่งอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ให้คนรุ่นหลังได้เห็น พร้อมเร่งขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนแล้วปล่อยกลับคืนสู่ถิ่นที่อยู่ดั้งเดิม

เอเอฟพีและบีบีซีนิวส์รายงานว่า กบสายพันธุ์หายากในออสเตรเลียที่ว่านี้คือ "กบเบลจุดเหลือง" (yellow spotted bell frog) ซึ่งได้รับการค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1973 และไม่มีใครได้เห็นกบนี้อีกเลยเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ จนนักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

ล่าสุดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติการด้านอนุรักษ์สัตว์น้ำได้พบกบชนิดนี้อีกครั้งเมื่อเดือน ต.ค. 2008 ระหว่างลงพื้นที่สำรวจสปีชีส์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในลำธารเล็กๆ แห่งหนึ่งของเมืองเซาท์เทิร์นเทเบิลแลนด์ส (Southern Tablelands) รัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย

ลุค เพียร์ซ (Luke Pearce) หนึ่งในทีมวิจัยบอกกับเอพี ขณะเขาเดินเลาะริมลำธารเพื่อจะจับปลาเซาท์เทิร์นปิกมีเพิร์ช (southern pygmy perch) อยู่นั้น เขาก็สังเกตเห็นกบเบลจุดเหลืองอยู่ริมน้ำ และในฤดูกาลเดียวกันของปี 2009 เขาได้กลับไปบริเวณดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมด้วยผู้ช่วยชาญด้านกบ ซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่ามีประชากรกบเบลจุดเหลืองอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นราว 100 ตัว

ด้านเดฟ ฮันเตอร์ (Dave Hunter) เจ้าหน้าที่ฝ่ายสปีชีส์ที่ถูกคุกคาม แผนกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและน้ำ (Department of Climate Change and Water) รัฐนิวเซาท์เวลส์ เผยว่าการพบกบสปีชีส์นี้ที่เคยพบเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว และนักวิทยาศาสตร์ก็คิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วด้วย มันทำให้เรามีความหวังมากยิ่งขึ้นที่จะได้พบสปีชีส์อื่นๆอีกหลายชนิดที่เราคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ที่จริงยังไม่สูญพันธุ์ และเราจะต้องได้พบสปีชีส์เหล่านั้นอีก

ขณะที่แฟรงก์ ซาร์เตอร์ (Frank Sartor) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า การค้นพบกบเบลลายจุดเหลืองมีความสำคัญเทียบเท่ากับการค้นพบเสือแทสมาเนียที่สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปี 1933 และยังเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้เราต้องเร่งปกป้องที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ เพื่อว่าลูกหลานของเราในอนาคตจะได้รื่นรมย์กับลวดลายและสีสันของสัตว์ประจำถิ่นในธรรมชาติ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยสถานที่พบกบเบลจุดเหลืองต่อสาธารณะ เพื่อความปลอดภัยของกบสปีชีส์นี้ และมีแผนที่จะเพาะขยายพันธุ์กบดังกล่าวเพื่อเพิ่มจำนวนจากที่มีอยู่ในธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี บีบีซีส์เผยข้อมูลจากสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ที่ระบุว่า 1 ใน 3 ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีทั้งหมดกว่า 6,000 สปีชีส์ กำลังถูกคุกคามและมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต

ไมค์ ไทเลอร์ (Mike Tyler) ผู้เชี่ยวชาญด้านกบ มหาวิทยาลัยอะดิเลด (University of Adelaide) รัฐเซาท์ออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ยังมีกบในออสเตรเลียอีกอย่างน้อย 12 สปีชีส์ ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ซึ่งส่วนมากมักอาศัยอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของรัฐควีนส์แลนด์และนิวเซาท์เวลส์ และอาจจะมีมากกว่านั้นด้วย แต่ยังไม่มีการสำรวจพบ โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้มีการค้นพบกบชนิดใหม่ในออสเตรเลียแล้ว 3 สปีชีส์ ในแถบคิมเบอร์ลี (Kimberly) ทางตอนเหนือของรัฐเวสต์เทิร์นออสเตรเลีย
กำลังโหลดความคิดเห็น