xs
xsm
sm
md
lg

เนคเทคร่วมมือญี่ปุ่น พัฒนามาตรฐานฉบับไทยให้ QR Code ไซส์เล็กลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ กับป้ายชื่องานสัมมนาที่ติดรหัส QR Code
เนคเทคจับมือญี่ปุ่น ร่วมพัฒนามาตรฐานภาษาไทยให้ QR Code มีขนาดเล็กลง จากเดิมอ้างอิงมาตรฐานสากล Unicode ต้องใช้พื้นที่สำหรับอักษรไทยถึง 24 บิต จึงมุ่งร่างมาตรฐานใหม่ให้ใช้พื้นที่เพียง 13 บิต เช่นเดียวกับญี่ปุ่นต้นตำรับเทคโนโลยี

แม้ว่าบาร์โค้ด (Bar Code) หรือรหัสแท่ง ที่พบเห็นได้บ่อยตามสลากสินค้าทั่วไปนั้น ช่วยให้พนักงานร้านสะดวกซื้อคิดราคาสินค้าได้สะดวก แต่รหัสแท่งขีดๆ ก็มีข้อจำกัดในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นขนาดที่ใหญ่ แต่เก็บข้อมูลอักษรได้ไม่กี่ตัว และไม่สามารถอ่านได้หากฉีกขาด ดังนั้นจึงมีรหัสแบบใหม่ที่เข้ามาแทนรหัสชนิดนี้

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึง รหัสแท่งสองมิติ "คิวอาร์โคด"  (QR Code : Quick Response Code) ซึ่งใช้รูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ เรียงกันเป็นรหัสแทนเส้นตรงว่า ในขนาดเพียงไม่กี่มิลลิเมตร สามารถใช้แทนบาร์โค้ดที่มีขนาดใหญ่ได้หลายเท่า อีกทั้งรหัสนี้ยังทำงานได้แม้เสียหาย ฉีกขาดหรือลบเลือนสูงสุด 30% โดยใช้เทคโนโลยีแก้ไขข้อผิดพลาดคล้ายๆ กับซีดีรอม

ด้วยความจุของ QR Code ที่สามารถบันทึกบันทึกข้อมูลได้มากถึง 4,000 ตัวอักษร จึงมีความหลากหลายในการประยุกต์ใช้งานได้มากกว่าบาร์โค้ด โดย นายอากิระ ชิบาตะ (Akira Shibata) จากสมาคมระบบจำแนกอัตโนมัติญี่ปุ่น (Japan Automatic Identification Systems Association) ได้ยกตัวอย่างการประยุกต์ เ่ช่น การเช็คอินเข้าโดยสารของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ โดยนำรหัส QR Code บนมือถือ ที่ได้รับหลังชำระเงิน ไปอ่านที่เครื่องเช็คอิน และออกตั๋วอัตโนมัติที่สนามบิน เอกสารตรวจคนเข้าเมือง ติดบนนามบัตร ตั๋วหรือคูปองสำหรับลดราคาสินค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ QR Code ยังช่วยลดการตัดต้นไม้เมื่อใช้ร่วมกับกระดาษชนิดเขียนซ้ำ เนื่องจากเราต้องใช้กระดาษจำนวนมากทำฉลากสินค้า แต่กระดาษชนิดเขียนซ้ำสามารถใช้เวียนได้มากกว่า 3,000 ครั้ง โดยใช้ความร้อนพิมพ์ข้อความและรหัสแท่ง 2 มิติตามความต้องการ แล้วสามารถลบได้ด้วยความร้อน

ส่วนการประยุกต์ใช้ในไทย เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น โดย ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล เนคเทค และหัวหน้าโครงการพัฒนามาตรฐานการใช้รหัสภาษาไทยสำหรับ QR Code ยกตัวอย่าง เช่น นิตยสารไทยใช้รหัสนี้บันทึกข้อมูลที่อยู่และการเดินทางไปร้านค้าต่างๆ การบริการเครือข่ายสังคม (social network) ที่ใช่ระบุสถานที่ซึ่งเราไปใช้บริการหรือกำลังใช้บริการ และชาสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งได้ใช้รหัสแท่งนี้ส่งเสริมการขาย โดยใช้แทนรหัสเพื่อเล่นเกมออนไลน์ เป็นต้น

ด้าน ASTV-ผู้จัดการ ยังนำรหัส QR Code ไปใช้กับหนังสือพิมพ์รายวัน ในคอลัมน์ Click Clip หน้า 34 เพื่อให้คนอ่านรับชมวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับข่าวได้ โดยใช้โทรศัพท์มือถือสแกนรหัสสองมิติ โดยโปรแกรมในการอ่านรหัสสามารถดาวน์โหลดได้จากอินเตอร์เน็ตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ด้วยคุณสมบัติที่ดีกว่าบาร์โค้ด ทำให้มีผู้ใช้ QR Code กันอย่างแพร่หลาย และมีการทำมาตรฐานสำหรับรหัสแท่งชนิดนี้ขึ้น โดยมาตรฐาน ISO/IEC 18004 ซึ่งเป็นมาตรฐานของญี่ปุ่นผู้พัฒนารหัสแท่งชนิดนี้ขึ้นได้รับความนิยมมากที่สุด ส่วนประเทศไทยกำลังพัฒนามาตรฐานรหัสแท่งสองมิตินี้สำหรับภาษาไทยขึ้นมา

ทั้งนี้เนคเทค ได้ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านงานคอมพิวเตอร์ (Center of International Coorperation for Computerization: CICC) พัฒนามาตรฐานภาษาไทยสำหรับรหัส QR Code โดยได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือในการอ่านรหัสและพรินท์เตอร์สำหรับพิมพ์รหัส จากบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจด้านเครื่องอ่านและเครื่องพิมพ์รหัสแท่งสองมิตินี้

เหตุผลที่ไทยต้องพัฒนามาตรฐานภาษาไทยเองนั้น ดร.ชัยชนะกล่าวว่า เนื่องจากเมื่อใ้ช้มาตรฐาน Unicode (UTF8) ต้องใช้พื้นที่เก็บอักษรไทยมากกว่าอักษรละตินถึง 3 เท่า โดยอักษรไทย 1 ตัวใช้พื้นที่เก็บถึง 24 บิต เนื่องจากต้องรวมภาษาอื่นเข้าไปด้วย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่สามารถอ่านได้ทุกภาษา

ขณะที่มาตรฐาน ISO/IEC 18004 ของญี่ปุ่นสนับสนุนให้เข้ารหัสอักษรคันจิในภาษาญี่ปุ่น 1 ตัวด้วยพื้นที่เพียง 13 บิต ซึ่งไทยกำลังพัฒนามาตรฐาน ให้สามารถเก็บอักษรไทยโดยใช้พื้นที่ได้น้อยลงเหลือ 13 บิตต่ออักษร 1 ตัวเช่นกัน

"แม้ว่าการเข้ารหัสตามมาตรฐานยูนิโค้ด (Unicode) จะทำให้ทั่วโลกสามารถอ่านรหัสเดียวกันได้ แต่ต้องใช้พื้นที่มากในการเก็บข้อมูล ดังนั้นรหัส QR Code ภาษาไทยที่มีใช้อยู่จึงมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งทำให้ประยุกต์ใช้งานได้จำกัด อย่างไรก็ดี เครื่องอ่านรหัสที่มีอยู่ยังอ่านมาตรฐานภาษาไทยใหม่ที่เรากำลังพัฒนาไม่ได้ ต้องเพิ่มซอฟต์แวร์ตัวใหม่เข้าไป ซึ่งมีเอกชนญี่ปุ่นผู้พัฒนาเครื่องอ่านรหัสมาร่วมพัฒนากับเราด้วย" ดร.ชัยชนะกล่าว

ดร.ชัยชนะได้อธิบายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ออนไลน์ว่า ปัจจุบันมีมาตรฐาน มอก.(มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) สำหรับภาษาไทย ซึ่งอักษรไทย 1 ตัวแทนด้วยเลขฐานสอง 8 ตัว ดังนั้น 1 คำซึ่งมีพยัญชนะ สระ ตัวสะกดรวม 3 ตัวต้องใช้เลขฐานสองถึง 24 ตัว แต่ทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีใหม่ซึ่งคล้ายกับมาตรฐานของญี่ปุ่น นั่นคือ กำหนดรหัสเลขฐานสอง 13 บิตขึ้นใหม่ให้แก่คำในภาษาไทย

สำหรับมาตรฐานที่พัฒนาใหม่นั้นเลขฐานสอง 13 บิตแทนได้ทั้งตัวอักษร 1 ตัวหรือคำ 1 คำ เช่น เลขฐานสอง 13 บิตบางตัวแทนอักษร ก, บางตัวแทนคำว่าที่ใช้บ่อย เช่น ที่ และ งาน เป็นต้น อีกทั้งมาตรฐานที่กำลังพัฒนาขึ้นนี้ยังสามารถกำหนดคำยาวๆ ให้แทนด้วยเลขฐานสอง 13 บิตได้ เช่น คำว่า "พระมหากษัตริย์" เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้ถูกเก็บไว้ในตารางคำของโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น และยังไม่มีใช้งานทั่วไป

ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยภายในงานสัมมนาเทคโนโลยีแท่งสองมิติกับมาตรฐานภาษาไทย เมื่อวันที่ 5 มี.ค.53 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีตัวแทนจากภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่นเข้าร่วม
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้รหัส QR Code กับของต่างๆ เช่น กล่องชาสำเร็จรูปเพื่อส่งเสริมการขาย ป้ายชื่อในงานสัมมนา เป็นต้น
นายอากิระ ชิบาตะ
อีกตัวอย่างของการประยุกต์ใช้รหัส QR Code กับเอกสารของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น