สำหรับแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่ชิลีเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ได้สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินประชาชนจำนวนมาก ทั้งยังเกิดสึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อย และภัยพิบัติครั้งนี้จัดเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงเป็นอันดับ 7 ของโลกนับแต่มีการบันทึกมา ด้วยความรุนแรง 8.8 ริกเตอร์
แผ่นดินไหวดังกล่าว ทำให้เวลาของโลกสั้นลง 1.26 ไมโครวินาที โดย 1 ไมโครวินาทีนั้นเท่ากับเวลา 1 ในล้านส่วนของวินาที ตามผลที่ได้จากการศึกษาแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของนักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ทั้งนี้เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลง “แกนรูปทรงของโลก” ที่เคลื่อนไปจากเดิม 8 เซนติเมตร
คำว่า “แกนโลก” นั้น นอกจากหมายถึง “แกนหมุน” ตรงใจกลางที่เอียงอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ซึ่งรู้จักกันดีแล้ว โลกยังมีอีกแกนที่อยู่รอบๆ บริเวณที่มวลของโลกสมดุล เรียกว่า "แกนรูปทรงของโลก" (Earth's figure axis)
“แกนหมุน” วางแนวเหนือ-ใต้หมุนรอบวันด้วยความเร็ว 1,604 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ “แกนรูปทรงของโลก” ซึ่งเป็นแกนที่วางตัวบริเวณที่มวลของโลกสมดุล
จากการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์พบว่า แผ่นดินไหวทำให้สมดุลของแกนรูปทรงนี้เปลี่ยนไป และทำให้การหมุนของโลกเปลี่ยนแปลง คือเวลาหมุนรอบตัวเองสั้นลง ส่วนแกนโลกเหนือ-ใต้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงความเอียงอยู่ระหว่าง 22.4-26.2 องศา ในช่วงเวลา 41,000 ปี
รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะแกนโลกมีการขยับตลอดเวลา ซึ่งทำให้เปลือกโลกต้องเปลี่ยนแปลงตามเพื่อปรับสมดุล คล้ายไข่ที่เหลือเพียงเปลือกนิ่มๆ เมื่อของเหลวภายในเคลื่อนที่เปลือกด้านนอกก็จะเปลี่ยนรูปตาม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่จะเกิดแผ่นดินไหวบ่อยขึ้น
นอกจากนี้ ข้อมูลเก่าที่เรามีนั้นระบุว่าแกนโลกเอียง 23.5 องศา แต่ปัจจุบันเราทราบว่า แกนโลกมีการเปลี่ยนแปลงมุมอยู่ระหว่าง 22.4-26.2 องศา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงใน 1 รอบใช้เวลาประมาณ 41,000 ปี และนักธรณีวิทยาทราบว่าการเปลี่ยนแปลงของแกนโลกจะมีแนวโน้มเข้าสู่มุมเอียงน้อยลง (นั่นหมายความว่าโลกกำลังจะขยับตั้งขึ้นเรื่อยๆ)
ผลจากมุมเอียงที่น้อยลงทำให้บริเวณเขตร้อนทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ตามแนวเส้นศูนย์สูตรลดลง พื้นที่เขตหนาวและเขตอบอุ่นจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นแกนโลกที่เอียงทำมุมน้อยลงจะส่งให้โลกเย็นขึ้น หากแต่ รศ.ดร.ธนวัฒน์อธิบายว่าที่เรารู้สึกร้อนนั้นเป็นผลจากการกระทำของเราเอง ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการสร้างก๊าซเรือนกระจก