xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงวิทย์ร่วมมือกลาโหมพัฒนา "จรวดนำวิถี" ทดแทนนำเข้าจากต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) พล.ร.ต.ดร.เศวตนันท์ ประยูรรัตน์ รอง ผอ.สทป., พลโท ดร.ฐิตินันท์ ธัญญศิริ ผอ.สทป., รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช. และ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล รอง ผอ.สวทช. ถ่ายภาพร่วมกันภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่าง สทป. และ สวทช. เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 53 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
สวทช. จับมือ สทป. พัฒนายุทโธปกรณ์ใช้ในทางการทหาร หวังลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เริ่มศึกษาเทคโนโลยีจรวดนำวิถีเป็นอันดับแรก เพราะเห็นศักยภาพและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คาดปลายปีหน้าได้ต้นแบบจรวดนำวิถีที่ไทยทำเอง พร้อมพัฒนาระบบสารสนเทศและระบบฝึกจำลองยุทธเสมือนจริง ส่วนเครื่องตรวจวัตถุระเบิดยังไม่มีนโยบายตอนนี้ รอจัดทำแผนแม่บทเสร็จก่อน คาดว่าราวปลายปี 54

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) (สทป.) กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 53 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อร่วมกันทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศ และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งผลิตนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ โดยมีความร่วมมือในระยะแรกเป็นเวลา 3 ปี

พลโท ดร.ฐิตินันท์ ธัญญสิริ ผู้อำนวยการ สทป. กล่าวว่า สทป. เป็นหน่วยงานน้องใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งได้ประมาณ 1 ปี ยังมีทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรการวิจัยไม่เพียงพอ แต่ สทป. มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเองในด้านยุทโธปกรณ์ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อลดการนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ การประสานความร่วมมือกับ สวทช. ในครั้งนี้ จึงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพไทย

"90% ของยุทโธปกรณ์ที่ใช้อยู่ในประเทศ ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นงบประมาณนับพันหรือหมื่นล้านบาทต่อปี และเรายังมีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี หรือการซ่อมบำรุง และดูแลรักษายุทโธปกรณ์อย่างจำกัด ยกตัวอย่างเช่น จรวดนำวิถี ซึ่งนัดหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 30-40 ล้านบาท หากเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจรวดนำวิถีได้เองในประเทศ หรือสามารถที่จะซ่อมบำรุง ดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานได้ จะช่วยประหยัดงบประมาณการนำเข้าในส่วนนี้ได้อย่างมหาศาล ซึ่งจากการศึกษาความเป็นไปได้ในเบื้องต้นตั้งแต่ปี 49 พบว่ามีความเป็นไปได้และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากหากเราผลิตจรวดนำวิถีได้เองภายในประเทศ จึงเลือกให้เป็นโครงการนำร่องในโครงการความร่วมมือครั้งนี้" พลโทฐิตินันท์ เผย

ผู้อำนวยการ สทป. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สทป. กำลังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจรวดนำวิถีจากต่างประเทศ (ประเทศใดยังไม่สามารถเปิดเผยได้) และคาดว่าราวปลายปี 2554 ประเทศไทยจะได้ต้นแบบจรวดนำวิถี เมื่อสร้างองค์ความรู้ที่เป็นของไทยเองได้แล้ว อาจจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนของจรวดนำวิถีสู่ภาคเอกชนที่มีศักยภาพ โดยต้องได้รับการอนุญาตการผลิตยุทโธปกรณ์หรือชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์จากกระทรวงกลาโหมด้วย

นอกจากนั้น ในระยะแรกของความร่วมมือ สทป. และ สวทช. จะร่วมกันพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการทหาร และระบบการฝึกจำลองยุทธเสมือนจริง ซึ่งโจทย์ของความร่วมมือวิจัยในแต่ละโครงการจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ด้วย โดยที่ภาคเอกชนอาจเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับการผลิตยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีป้องกันประเทศบางอย่างสามารถประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะทางการทหารได้ เช่น เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์และดาวเทียม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวถามว่าความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นจากกรณีการตรวจสอบประสิทธิภาพจีที 200 (GT200) หรือไม่ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว แต่ทาง สวทช. และ สทป. ได้มีการหารือถึงความร่วมมือกัน และทาง สทป. ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของ สวทช. มาก่อนหน้านั้นแล้ว

"สวทช. มีหน้าที่หลักในการสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งต้องการหน่วยงานพันธมิตร ต้องการนโยบายจากภาครัฐ และความมุ่งมั่นในการแข่งขันจากภาคเอกชน และความต้องการของสังคมที่อยู่บนพื้นฐานความรู้ ซึ่งการร่วมมือกับ สทป. ก็เป็นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในด้านการทหาร และร่วมสร้างพื้นฐานความรู้ที่สามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในอนาคต" ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

ด้านผู้อำนวยการ สทป. กล่าวอีกว่า การพัฒนาเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดนั้นจัดอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนายุทโธปกรณ์เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ยุทธศาสตร์สำคัญของ สทป. เช่นเดียวกับการพัฒนาจรวดนำวิถี เทคโนโลยีสารสนเทศทางการทหาร และ ระบบแบบจำลองการฝึกยุทธ์เสมือนจริง แต่ในขณะนี้ สทป. ยังไม่มีโครงการพัฒนาเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด ส่วนจะพัฒนาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทัพรวมถึงความต้องการของผู้ใช้งาน แต่ทั้งนี้จะดำเนินได้ก็หลังจากที่ สทป. มีการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทในยุทธศาสตร์ด้านนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จราวปลายปี 54

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สทป. ได้ลงนามความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีกับสถาบันไทยเยอรมัน (ทีจีไอ) และกองทัพบกแล้ว และในอนาคตยังจะมีความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันประเทศกับต่างประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา อาทิ สหรัฐฯ จีน อินเดีย อิสราเอล ญี่ปุ่น และอิตาลี และราวปลายเดือน มี.ค. จะเปิดเผยแผนที่นำทางเทคโนโลยีการป้องกันประเทศของ สทป. สู่สาธารณะเป็นครั้งแรก โดยแผนที่นำทางดังกล่าวมีระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2567
กำลังโหลดความคิดเห็น