หลายเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการหายตัวไปในอากาศ เดินทางข้ามกาลเวลา หรือคนเรารู้ว่าจะบินได้อย่างไร โดยข้อมูลที่คลาดเคลื่อนแต่สมจริงเหล่านั้น อาจทำให้เราหลงคิดว่าเป็นเรื่องจริงได้ เมื่อเรื่องราวเหล่านี้โลดแล่นบนจอภาพยนตร์
เมื่อเร็วๆ นี้มีการประชุมนักฟิสิกส์ของสหรัฐฯ โดยในวงสนทนาได้มีการหยิบยกประเด็น "วิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์" ขึ้น โดย ศ.ซิดนีย์ เปอร์โกวิทซ์ (Prof. Sidney Perkowitz) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยอีโมรี (Emory University) สหรัฐฯ ได้นำเสนอแนวคิดถึงนักสร้างภาพยนตร์ว่า ภาพยนตร์ทั้งหลายไม่ควรแหกกฎวิทยาศาสตร์ (อย่างไร้เหตุผล) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรหลีกเลี่ยงความไม่สอดคล้องกันในแต่ละฉาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ต่างเห็นด้วย
“หากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีเนื้อหาผิดพลาดซ้ำไปซ้ำมา ที่สุดจะกลายเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ผมจะต้านทานได้ ผมเข้าใจถึงแรงบันดาลใจที่น่าตื่นเต้นซึ่งซ่อนอยู่ภายในภาพยนตร์ แต่แนวโน้มคือการกล่าวเกินจริง” ศ.เปอร์โกวิทซ์กล่าว
ขณะที่ ดร.เดวิด เคอร์บี (Dr.David Kirby) อาจารย์ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) กล่าวว่า ยกตัวอย่างในการเน้นย้ำถึงหายนะที่กำลังใกล้เข้ามา ผู้สร้างภาพยนตร์มักจะละเลยความจริงเกี่ยวกับเรื่องกรอบเวลา เช่น หากเราตรวจพบอุกกาบาตในเรื่อง “อาร์มาเกดดอน” (Armageddon) ล่วงหน้าหลายปี ก่อนที่จะพุ่งชนโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้คงขาดบรรยากาศตึงเครียด
“ความผิดพลาดของกรอบเวลา เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพื่อประโยชน์ในการเล่าเรื่อง” ดร.เคอร์บีกล่าว และชี้ว่าภาพยนตร์ไซไฟทั้งหลาย มักยกประเด็นร่วมสมัยขึ้นมาอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ และทำให้ผู้คนเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมภาพยนตร์สมัยนี้จึงพุ่งเป้าไปที่เรื่องพันธุวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม โรคระบาด และจุดจบของโลก
ทั้งนี้ ในความพยายามนำเสนอแนวคิดที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่ออธิบายความเป็นไปได้ของภาพยนตร์นั้น ทำให้ ดร.สตีเฟน เลอ กอมเบอร์ (Dr.Steven Le Comber) นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากวิทยาลัยควีนแมรีคอลเลจ (Queen Mary College) มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) รู้สึกเจ็บปวด ที่ถูกมองว่า นักวิทยาศาสตร์เป็นเพื่อนดูหนังที่ไม่ดี เขาเพียงแต่ต้องการออกมาชี้ถึง “วิทยาศาสตร์แย่ๆ” ในภาพยนตร์ ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องที่เขาศึกษาอยู่ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำลายประสบการณ์ในการออกไปชมภาพยนตร์ของเขา
“หากเป็นภาพยนตร์ที่ดีพอ ผมก็ยินดีให้พวกเขาทำต่อไป ทั้งนี้วิทยาศาสตร์ถูกทำลายด้วยวิทยาศาสตร์แย่ๆ ไม่ใช่ภาพยนตร์แย่ๆ” ดร.เลอ คอมเบอร์กล่าว
พร้อมกันนี้ บีบีซีนิวส์ได้ชำแหละภาพยนตร์ 3 เรื่องที่มีเรื่อง “วิทยาศาสตร์แย่ๆ” ในเนื้อหา
1.Deep Blue Sea (1999)
นำแสดงโดย – แซฟฟอน บัวร์โรว์ส (Saffron Burrows), ซามูล แอล แจ็คสัน (Samuel L Jackson)
เค้าโครงเรื่อง – ทีมนักวิทยาศาสตร์พบวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ โดยใช้โปรตีนที่อยู่ในสมองฉลาม ดังนั้นเพื่อผลิตโปรตีนที่มีประโยชน์อย่างยิ่งนี้ ทีมวิจัยได้สร้างฉลามสายพันธุ์ใหม่ที่มีความฉลาดสุดยอด ซึ่งความฉลาดที่ว่านี้ หมายความว่าฉลามเหล่านั้นมีปริมาณสมองมาก และสามารถเข้าจู่โจมนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในห้องปฏิบัติการใต้น้ำได้ทันที
วิทยาศาสตร์ที่ดูไร้สาระ - นักวิทยาศาสตร์แทงเข็มฉีดยาเข้าสมองฉลามโดยตรง สกัดเอาเซลล์บางตัว แล้ววางไว้ใต้กล้องจุลทรรศน์ จากนั้นมองดูเซลล์แบ่งตัวอย่างสมบูรณ์ ด้วยประกายไฟที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์
“เมื่อเราพูดถึงการยิงสัญญาณของเซลล์ประสาท มันไม่มีปฏิกิริยาที่เหมือนกับการเกิดประกายไฟเลย” ดร.เลอ คอมเบอร์ระบุ
สิ่งที่ควรจะเป็น – เป็นที่ทราบกันว่า สารเคมีจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งซึ่งปกติจะเพาะเลี้ยงขึ้นมานั้น ให้ผลทั้งในการบำบัดรักษาหรือเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่น และแม้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถแยก และจำแนกโปรตีนจากฉลามที่มีฤทธิ์รักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ พวกเขาจำเป็นต้องเพาะเลี้ยงโปรตีนเหล่านั้น ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกควบคุม สารละลายอาจเพิ่มโปรตีนในแบคทีเรีย ภายในถังขนาดใหญ่ของห้องปฏิบัติการ เหมือนกับวิธีที่อินซูลินสังเคราะห์ของมนุษย์ถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก
“อีกทั้งการทดลองในห้องปฏิบัติการนั้น ยังทำให้ไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับฉลามด้วย แต่นั่นจะทำให้หนังไม่ค่อยน่าตื่นเต้นสักเท่าไหร่” ดร.เลอ คอมเบอร์
แล้วส่งผลกระทบอะไรหรือไม่? - “เรื่องนี้ส่งผลกระทบไม่มากนัก โดยไม่ได้ให้แนวคิดที่แท้จริง เกี่ยวกับการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้สื่อว่านักวิทยาศาสตร์ทำเรื่องแย่ๆ มากไปกว่าอาชีพอื่นๆ” ดร.เลอ คอมเบอร์กล่าว
2.The 6th Day (2000)
เค้าโครงเรื่อง – ในปี 2015 ชายคนหนึ่งกลับบ้านในวันเกิดตัวเอง และได้พบว่ามนุษย์โคลนได้เข้ามาแทนที่เขา ทำให้มีมนุษย์ 2 คน ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเลือดและการจับภาพความทรงจำของตัวเขาเอง โดยไม่มีใครรู้ว่าใครคือมนุษย์ต้นฉบับ และตอนจบของภาพยนตร์ คือการเผชิญหน้าระหว่างอาร์โนลด์ ชวาสเนเกอร์ 2 คน ซึ่งรับบทเป็นตัวแสดงนำ
วิทยาศาสตร์ที่ดูไร้สาระ – การโคลนนิงจนสร้างสิ่งมีชีวิตนั้นยากพอแล้ว แต่คนที่แอบทำอย่างผิดกฎหมาย ยังประสบความสำเร็จในการโคลนคนที่ตายแล้ว (ภรรยาของตัวละครเอก) ซึ่ง ศ.เปอร์โกวิทซ์ให้ความเห็นว่า เป็นความโรแมนติกนี้ค่อนข้าง “น่าขยะแขยง” อีกทั้งเขายังเกรงว่า เรื่องนี้อาจทำให้ผู้คนเชื่อว่า เมื่อพวกเขาตายแล้วสามารถเก็บดีเอ็นเอไว้ เพื่อไปโคลนได้ง่ายๆ
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ดีเอ็นเอนั้นบอบบาง เสียหายและเสื่อมคุณภาพลงอย่างรวดเร็วหลังความตาย และประเด็นนี้เคยถูกจับผิดมาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง “จูราสสิค พาร์ค” (Jurassic Park) 7 ปีก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้ลงโรง ซึ่งในเรื่องนั้น ดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ถูกเก็บรักษาไว้ในยางอำพันของต้นไม้
สิ่งที่ควรจะเป็น – เนื่องจากเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นจึงมีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก ในเรื่องของความน่าเชื่อถือ แต่ ดร.เคอร์บีกล่าวว่า มนุษย์โคลนที่ออกมาอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมด้วยความทรงจำของมนุษย์ต้นฉบับนั้นเป็นเรื่องน่าขัน ซึ่ง ศ.เปอร์โกวิทซ์ได้ยกตัวอย่างการเขียนบทภาพยนตร์เกี่ยวกับการสร้างมนุษย์โคลนว่า ควรให้เป็นการสกัดเอาดีเอ็นเอจากร่างกายมนุษย์ ใส่เข้าไปในไข่มนุษย์ แล้วเกิดด้วยวิธีปกติ แทนที่จะสร้างด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งได้คนที่เติบโตโดยสมบูรณ์
แล้วส่งผลกระทบอะไรหรือไม่? - เนื่องจากภาพยนตร์เข้าถึงคนได้มากกว่าอื่นๆ จึงมีผลกระทบต่อสังคมอย่างยิ่ง ศ.เปอร์โกวิทซ์กล่าวว่า การพรรณาถึงการโคลนที่ไม่ถูกต้องนั้น มีส่วนทำให้สาธารณชนเกิดความกลัว และเคลือบแคลงต่อพันธุวิศวกรรม
3.The Core (2003)
เค้าโครงเรื่อง – เมื่อแกนกลางของโลกอันเกิดหยุดหมุนโดยไม่ทราบสาเหตุ ทีมนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมุ่งหน้าสู่ใจกลางโลก และจุดระเบิดไฮโดรเจนเพื่อให้แกนกลางของโลกหมุนอีกครั้ง และชะตากรรมของมนุษยชาติทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับภารกิจดังกล่าว
วิทยาศาสตร์ที่ดูไร้สาระ – เมื่อคณะเดินทางไปถึงใจกลางโลก ตัวเอกของเรื่องเพียงแค่มีเหงื่อชุ่มตัว หากแต่ความจริงแล้ว ศ.เปอร์โกวิทซ์กล่าวว่า ใครก็ตามที่พาตัวเองไปถึงใจกลางโลกได้ พวกเขาจะละลายกลายเป็นไอในทันที
สิ่งที่ควรจะเป็น – ความคิดที่ว่าแกนกลางโลกจะหยุดหมุนนั้น เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อถือ และตลอดทั้งเรื่องมีเพียงฉากอธิบายชั้นต่างๆ ของโลกด้วยลูกพีชและก้อนหิน ซึ่งฉากที่นานประมาณ 1 นาทีนั้น ศ.เปอร์โกวิทซ์มองว่าใช้ได้ ส่วนที่เหลือตลอดทั้งเรื่องให้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนทั้งหมด
แล้วส่งผลกระทบอะไรหรือไม่? - ศ.เปอร์โกวิทซ์ให้ความเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้แย่เกินไป แต่ความผิดพลาดที่จงใจนั้น เพียงแค่สร้างความขุ่นเคืองให้กับนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น พร้อมทั้งจัดอันดับให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ไซไฟยอดแย่ของฮอลลิวูด
อย่างไรก็ดี ในความพยายามนำเสนอแนวคิดที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่ออธิบายความเป็นไปได้ของภาพยนตร์นั้น ทำให้ ดร.สตีเฟน เลอ กอมเบอร์ (Dr.Steven Le Comber) นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากวิทยาลัยควีนแมรีคอลเลจ (Queen Mary College) มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) รู้สึกเจ็บปวด ที่ถูกมองว่า นักวิทยาศาสตร์เป็นเพื่อนดูหนังที่ไม่ดี เขาเพียงแต่ต้องการออกมาชี้ถึง “วิทยาศาสตร์แย่ๆ” ในภาพยนตร์ ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องที่เขาศึกษาอยู่ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำลายประสบการณ์ในการออกไปชมภาพยนตร์ของเขา
“หากเป็นภาพยนตร์ที่ดีพอ ผมก็ยินดีให้พวกเขาทำต่อไป ทั้งนี้วิทยาศาสตร์ถูกทำลายด้วยวิทยาศาสตร์แย่ๆ ไม่ใช่ภาพยนตร์แย่ๆ” ดร.เลอ คอมเบอร์กล่าว