เหตุวิธีชีวิตคนเมืองเปลี่ยนไป เป็นนั่งโต๊ะทำงานนานกว่า 6 ชั่วโมง พร้อมชีวิตออนไลน์เสมือนจริงที่นั่งแช่อยู่หน้าจอทั้งวัน ก่อโรค "ออฟฟิศซินโดรม" แนะวิธีเอาชนะง่ายๆ ออกกำลังกายดีที่สุด แต่หากชอบนวด-ดัดก็ทำตามใจเพราะความ "พึงใจ" สำคัญที่สุด ดีกว่ากินยารักษาเยอะแต่ไม่ได้ผล
ด้วยวิถีชีวิตคนเมืองที่มีรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปเป็นนั่งโต๊ะอยู่กับที่ บางคนนั่งทำงานนานกว่า 6 ชั่วโมง ต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นเหตุให้เกิด "โรคออฟฟิศซินโดรม" (Office syndrome) ที่คนหนุ่มสาวมีอาการปวดหลัง-ปวดข้อก่อนวัยอันควร ซึ่ง นพ.ประดิษฐ์ ประทีปวนิช นายกสมาคมศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคดังกล่าวมาพร้อมกับความเจริญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งเป็นโรคที่พบในสังคมเมืองแต่ไม่พบในสังคมชนบท และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 9-10 เท่า
“โรคนี้เกิดจากพฤติกรรมของเรา หากนั่งทำงานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสเกิดโรคนี้แน่นอน เจอเยอะในคนวัยทำงาน และมีแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนในปัจจุบันอาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดความเครียด อีกทั้งเด็กสมัยใหม่อยู่ในโลกเสมือนจริง นั่งแชร์อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ เล่นเกม คุยกับเพื่อน ซึ่งเราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้" นพ.ประดิษฐ์กล่าว
ทั้งนี้ แนวทางในการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมนั้น นพ.ประดิษฐ์กล่าวว่า หากวินิจฉัยชัดเจนว่าเป็นโรคนี้ ไม่ใช่โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกคอเสื่อมหรือไมเกรน ก็มีวิธีรักษาง่ายๆ คือ ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นวิธีดีที่สุดในการรักษาโรคนี้ แต่ต้องวินิจฉัยให้ชัดเจน เพราะหากเป็นหมอนรองกระดูก จะไม่สามารถออกกำลังกาย เนื่องจากจะทำให้ทรุดหนักกว่าเดิม และต้องปรับปรุงสถานที่ทำงาน แต่หากทำไม่ได้ให้เน้นสร้างร่างกายตัวเองให้แข็งแรง
“สำหรับการรักษาโรคนี้ไม่มีข้อจำกัด เรามีทางเลือกที่หลากหลาย เลือกอะไรก็ได้ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง และเป็น "ความพึงพอใจ" แม้บางอย่างจะสู้การออกกำลังกายไม่ได้ แต่เป็นความพึงพอใจของเรา ก็จะได้ผลกว่า ทั้งนี้ต้องไม่เป็นโรคต้องห้าม เช่น คนไข้ที่มีโรคเลือดห้ามฝั่งเข็ม เป็นต้น หรือกระดูกไม่แข็งแรงก็ไม่ควรนวดหรือดัด โรคนี้เราต้องตามให้ทัน ไม่อย่างนั้นเราต้องกินยารักษาเยอะแล้วไม่ได้ผล" นพ.ประดิษฐ์กล่าว
ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยระหว่างการประชุมวิชาการประจำปี 2553 เรื่อง "บทบาทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อมนุษย์" ที่จัดขึ้นโดย สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ก.พ.53 ณ สโมสรกองทัพบก ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าร่วมฟังสัมมนาในการประชุมดังกล่าวด้วย