“เอนเดฟเวอร์” ทิ้งทวนยุคกระสวยอวกาศ ด้วยการลงจอดตอนกลางคืน นับเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก เพราะมีเพียง 23 ครั้งจาก 130 เที่ยวบิน เหลือภารกิจอีก 4 เที่ยวบิน ก่อนนาซาส่งไม้ต่อให้เอกชนพัฒนาเทคโนโลยีส่งมนุษย์สู่สถานีอวกาศ แล้วมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี กลับไปดวงจันทร์-ดาวอังคารแทน
กระสวยอวกาศ "เอนเดฟเวอร์" (Endeavour) ลงจอดที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในมลรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เมื่อเวลา 22.20 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 10.20 น. ของวันที่ 22 ก.พ. ตามเวลาประเทศไทย หลังปฏิบัติภารกิจต่อเติมสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ในเที่ยวบิน STS-130 เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และเป็นภารกิจของกระสวยอวกาศสู่สถานีอวกาศครั้งที่ 32 และเป็นเที่ยวบินที่ 24 ของกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์
การลงจอดครั้งนี้ เป็นการลงจอดตอนกลางคืนขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก จาก 130 เที่ยวบินของกระสวยอวกาศ โดยสำนักข่าวเอพีระบุว่า มีเพียง 23 เที่ยวบิน ที่เป็นการลงจอดตอนกลางคืน
ครั้งล่าสุดของการลงจอดตอนกลางคืนคือเมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นเที่ยวบินของเอนเดฟเวอร์เช่นกัน โดยเอนเดฟเวอร์เป็นกระสวยอวกาศอวกาศอายุน้อยที่สุด ในบรรดากระสวยอวกาศ 3 ลำที่เหลืออยู่คือ ดิสคัฟเวอรี (Discovery) แอตแลนติส (Atlantis) และเอนเดฟเวอร์
สำหรับภารกิจต่อเติมสถานีอวกาศล่าสุดของเอนเดฟเวอร์นี้ ลูกเรือได้นำโหนดใหม่ “แทรงคิวลิตี” (Tranquility) ขึ้นไปติดตั้ง พร้อมด้วยหอสังเกตการณ์อวกาศ “คิวโพลา” (Cupola) ที่มีหน้าต่างถึง 7 ช่อง ซึ่ง โซอิจิ โนกุจิ (Soichi Noguchi) นักบินอวกาศญี่ปุ่นที่ประจำอยู่บนสถานีอวกาศได้ใช้หอสังเกตการณ์นี้เอง ติดตามเอนเดฟเวอร์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก พร้อมๆ กับส่งข้อความสั้นผ่านทวิตเตอร์ (twitter) จากอวกาศด้วย
เที่ยวบินของเอนเดฟเวอร์ครั้งนี้ ยังเป็นเที่ยวบินแรกของนาซาในปี 2010 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของฝูงบินกระสวยอวกาศที่กำลังจะปลดระวาง โดยเหลือภารกิจส่งกระสวยอวกาศอีก 3 เที่ยวบิน ครั้งถัดไปคือเที่ยวบินของกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี ที่มีกำหนดส่งขึ้นไปในวันที่ 5 เม.ย.นี้ จากนั้นเป็นเที่ยวบินของแอตแลนติส ที่มีกำหนดส่งในวันที่ 14 พ.ค. ส่วนเอนเดฟเวอร์จะปฏฺบัติภารกิจเที่ยวสุดท้ายในเที่ยวบิน STS-134 เดือน ก.ค.และปิดท้ายตำนานกระสวยอวกาศด้วยกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีในเที่ยวบิน STS-133 วันที่ 16 ก.ย.
สเปซดอทคอมรายงานด้วยว่า ปัจจุบันสถานีอวกาศเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว 98% และหลังจากติดตั้งหอสังเกตการณ์ที่หนัก 1.6 ตัน และโหนดใหม่แทรงคิวลิตีที่ตั้งชื่อตามจุดลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอะพอลโล 11 (Apollo11) ซึ่งหนักถึง 12 ตัน ตอนนี้สถานีอวกาศซึ่งมีอายุ 11 ปีแล้วนั้น หนักถึง 362,873 กิโลกรัม
ทั้งนี้เพียง 1 สัปดาห์ก่อนส่งกระสวยองกาศเอนเดฟเวอร์ บารัค โอบามา (Barak Obama) ได้เผยงบประมาณปี 2011 สำหรับนาซา ซึ่งได้ระงับโครงการ “คอนสเตลเลชัน” (Constellation) โครงการพัฒนายานอวกาศใหม่ของนาซา หากแผนงบประมาณได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส (Congress) จะมีงบประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 2แสนล้านบาท ที่ใช้สำหรับกระตุ้นยานอวกาศเชิงพาณิชย์ในการส่งมนุษย์ขึ้นสู่วงโคจรและสถานีอวกาศ เพื่อให้นาซาเองได้ทุ่มเทไปกับเป้าหมายของการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์และดาวอังคาร รวมถึงดาวเคราะห์น้อย