xs
xsm
sm
md
lg

นาซาติดกระจกบานใหญ่สุดบนสถานีอวกาศ ตั้งหอชมวิวหันหน้าตรงสู่โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักบินอวกาศบังคับแขนกลของสถานีอวกาศนานาชาติในขณะทำการติดตั้งแทรงควิลิตีโมดูล ซึ่งเป็นโหนดใหม่ล่าสุดของสถานีอวกาศนานาชาติที่มีหอสังเกตการณ์รวมอยู่ด้วย (เอเอฟพี/นาซา)
"นาซา" ติดตั้งโหนดใหม่บนสถานีอวกาศ พร้อมกับหอสังเกตการณ์ทรงกลมที่หันหน้าตรงมายังโลก มีหน้าต่างเป็นกระจกบานใหญ่สุดในอวกาศ ช่วยให้นักบินได้เพลิดเพลินกับมุมมองใหม่ 360 องศา และสังเกตความเคลื่อนไหวและการทำงานภายนอกสถานีได้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับนักบินอวกาศขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติเพิ่มขึ้นเป็น 6 คน ในอนาคต 

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา นักบินอวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ติดตั้งหน้าต่างของหอสังเกตการณ์รูปโดมทรงกลมบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ที่สามารถมองลงมายังโลกได้ ช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานและการใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น และยังอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยแก่ในการปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศด้วย

หอสังเกตการณ์ทรงกลมที่ว่านี้ได้รับการติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติในส่วนของแทรงควิลิตีโมดูล (Tranquility module) ด้านที่หันหน้าเข้าหาโลก โดยนักบินอวกาศชุดเที่ยวบิน STS-130 ของยานเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) จากการเดินอวกาศ 2 ครั้งแรก ซึ่งแทรงควิลิตีโมดูลนี้เป็นโหนดใหม่ สำหรับเป็นที่พักอาศัยของนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ และเป็นที่เก็บอุปกรณ์ยังชีพต่างๆ อุปกรณ์ออกกำลังกาย และห้องน้ำ

"หอชมวิวและสังเกตการณ์บนสถานีอวกาศนานาชาตินั้นหันหน้ามายังโลก ซึ่งพร้อมที่จะให้นักบินอวกาศได้เป็นภาพมุมกว้างของโลกที่อยู่เบื้องล่าง และเห็นยานขนส่งอย่างใกล้ชิด" คำแถลงการณ์จากนาซา

ทั้งนี้ หอสังเกตการณ์ทรงกลมที่ประกอบด้วยหน้าต่างกระจก 7 บาน โดยหน้าต่างที่อยู่ตรงกลางโดมติดด้วยกระจกบานใหญ่ที่สุด เท่าที่มนุษย์เคยส่งออกไปนอกโลก ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 31 นิ้ว จะทำให้นักบินอวกาศได้เห็นมุมมองแปลกใหม่และน่าทึ่งขึ้นทั้งในอวกาศ โลก และยานอวกาศที่เข้าเทียบท่ากับสถานีอวกาศ อีกทั้งยังช่วยให้นักบินอวกาศที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในสถานีอวกาศสามารถเฝ้าสังเกตการณ์ภารกิจการเดินอวกาศและการเชื่อมต่อยานเข้ากับสถานีอวกาศได้ในมุมมอง 360 องศา

"หอสังเกตการณ์นี้ จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของนักบินอวกาศที่ต้องปฏิบัติงานและใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศเป็นเวลานาน เพราะมันจะเป็นหน้าต่างให้พวกเขาส่องมองมายังโลกได้" ชาร์ลส์ โบลเดน ผู้บริหารนาซา และอดีตนักบินอวกาศที่เคยขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศ เผยในเอเอฟพี และยังบอกอีกว่า นักบินอวกาศยังได้โอกาสลอยตัวอยู่ในโดม ซึ่งจะทำให้ได้ความรู้สึกถึงการใช้ชีวิตที่แตกต่างอย่างเหลือเชื่อ

ทั้งนี้ หอสังเกตการณ์สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ครั้งละ 2 คน และมีสถานีงานเคลื่อนที่สำหรับนักบินอวกาศใช้ควบคุมสถานีอวกาศและการทำงานของแขนกลได้ขณะอยู่ภายในโดม ซึ่งหอสังเกตการณ์นี้ จะเริ่มใช้งานได้ภายหลังเสร็จสิ้นการเดินอวกาศครั้งสุดท้ายที่กำหนดให้เริ่มขึ้นในวันที่ 17 ก.พ. 53 เวลาประมาณ 09.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย

สำหรับแทรงควิลิตีโมดูลและหอสังเกตการณ์นี้เป็นชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในประเทศอิตาลี และเป็นส่วนประกอบหลักส่วนสุดท้ายของสถานีนอวกาศนานาชาติ ซึ่งเมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะทำให้การก่อสร้างสถานีอวกาศเสร็จสมบูรณ์ไป 90%.
หอสังเกตการณ์ของแทรงควิลิตีโมดูล ซึ่งประกอบด้วยหน้าต่าง 7 บาน บานใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง จะช่วยให้นักบินที่อยู่บนสถานีอวกาศมองลงมายังโลกได้ และสามารถสังเกตความเคลื่อนไหวภายนอกสถานีอวกาศได้ชัดถนัดยิ่งขึ้น (เอเอฟพี/นาซา)
นิโคลัส แพทริค (Nicholas Patrick) และ โรเบิร์ต เบห์นเก (Robert Behnke) สองนักบินขณะเดินอวกาศครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อทำการติดตั้งหอสังเกตการณ์บนโหนดใหม่ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักบินอวกาศขณะปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศ และสามารถมองลงมายังโลกได้โดยตรง (เอเอฟพี/นาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น