xs
xsm
sm
md
lg

ช่างกล้า! เปิดตัว "เฮดวัน" ทั้งที่ผล "จีที200” ชี้ชัด แถมขนสารระเบิดตรวจโชว์กลางโรงแรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเดวิด วอลล์มาร์ (หน้า) เดินถือเครื่อง HEDD1 หาสารระเบิด โดยมีนายแฟรงก์ ไทเรอร์ เดินถือเครื่องตรวจสอบในแนวตั้งฉาก
ผลทดสอบที่ชี้ว่า "จีที200" มีประสิทธิภาพแย่กว่าการเดาสุ่ม ยังไม่ทันข้ามสัปดาห์ ตัวแทนจำหน่ายเยอรมันก็กล้าหาญ เปิดตัวเครื่องตรวจหาระเบิดมือถือหน้าตาเหมือนกัน "HEDD1" แต่อ้างเหนือกว่า เพราะเพิ่มถ่าน-แท่งแม่เหล็ก แถมยกสารระเบิดให้นักข่าวพาซ่อนที่ห้องแถลงข่าวในโรงแรม ปรากฏหาได้ไม่ครบ สุดท้ายอ้างสูตรเดิมเพราะ "สารปนเปื้อนภายในห้อง" ด้านอาจารย์จุฬาฯ แอบขนประทัดเข้าไป แต่เครื่องไม่ชี้

ตัวแทนยูนิวอล กรุ๊ป (Unival Group GmbH) ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายเครื่องตรวจสอบระเบิดชนิดมือถือ รุ่นเฮดวัน (HEDD1) จากประเทศเยอรมนี ได้แถลงข่าวเปิดตัวและทดสอบเครื่อง HEDD1 นี้ เมื่อบ่ายวันที่ 19 ก.พ.53 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนจำนวนมากได้ร่วมในงานแถลงข่าวดังกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากตัวแทนจำหน่ายระบุว่าเครื่อง HEDD1 นั้นเป็นเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบมือถือ ที่ทำงานโดยใช้แบตเตอรีช่วยสร้างสนามแม่เหล็ก ซึ่งเครื่องดังกล่าวจะตรวจจับแม่เหล็ก-ไฟฟ้าสถิต และสามารถตรวจจับสารระเบิดได้ทุกชนิด

ตัวเครื่องมีขนาดกว้าง 13 เซนติเมตร กว้าง 48 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร หนัก 276 กรัม ใช้แบตเตอรี 1.5 โวลต์ ซึ่งใช้งานได้นาน 3 ปี และมีชิ้นส่วนแม่เหล็ก 2 ชิ้นในด้ามจับ และมีเสาอากาศทำหน้าที่ชี้วัตถุระเบิด โดยเครื่องหนึ่งมีราคาสูงถึง 700,000 บาท

พร้อมกันนี้ มีเจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 นาย ได้นำสารระเบิดตัวอย่าง 3 ชนิดๆ ละ 50 กรัม ได้แก่ ซีโฟร์ ทีเอ็นที และแอนโฟ มาให้ทดสอบในงานดังกล่าวด้วย โดยเจ้าหน้าที่ได้เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า มาในฐานะผู้สังเกตการณ์ และได้รับการ้องขอให้นำสารระเบิดมาใช้ในการทดสอบ

ทั้งนี้ ฝ่ายจัดงานได้ทดสอบโดยให้สื่อมวลชนนำสารระเบิดไปซ่อนตรงจุดต่างๆ ของห้องแถลงข่าว

จากนั้น นายเดวิด วอลล์มาร์ (David Vollmar) และ นายแฟรงก์ ไทเรอร์ (Frank Trier) กรรมการผู้จัดการยูนิวอลกรุ๊ป ได้ใช้เครื่อง HEDD1 เดินทดสอบรอบห้อง ในลักษณะวนเป็นวงกลม และเดินเป็นเส้นตรง 2 แนวที่ตั้งฉากกัน ซึ่งตัวแทนทั้ง 2 อธิบายว่าเครื่องจะชี้ไปยังบริเวณที่มีสารระเบิด

ผลจากการทดสอบตัวแทนทั้ง 2 ตรวจพบสารระเบิด 2 ชนิดคือ ซีโฟร์ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่นังสำหรับนักข่าวและผู้สังเกตการณ์ และทีเอ็นที ซึ่งอยู่ในบริเวณที่นั่งของผู้แถลงข่าวบนเวที ซึ่งแต่ละครั้งใช้เวลาหามากกว่า 15 นาที

ส่วนสารระเบิดอีกชิ้นที่เหลือไม่สามารถหาได้พบ

นอกจากนั้น ยังมีการทดสอบให้หาสารระเบิดที่ซ่อนในกล่องไปรษณีย์ 10 กล่อง แต่เครื่องไม่สามารถหาได้ ซึ่งตัวแทนจากยูนิวอลกรุ๊ปอ้างว่า เป็นเพราะมีการปนเปื้อนของสารระเบิด รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มารักษาความปลอดภัยพกปืนเข้าในพื้นที่ทดสอบ

ด้าน ดร.พงษ์ ทรงพงษ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมสังเกตการณ์ในการแถลงข่าวดังกล่าว ตามที่ได้รับหนังสือเชิญจากตัวแทนจำหน่าย ตั้งข้อสังเกตว่า การทดสอบในครั้งนี้นั้น เป็นเพียงการสาธิต ไม่ใช่การทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีตัวแปรมากเกินไป

อีกทั้งการทดสอบที่ดีที่สุดคือ double blind test ที่ผู้ซ่อนไม่ทราบว่าซ่อนอะไร และผู้หาไม่ทราบว่าหาอะไร ซึ่งก็คือวิธีที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้ในการทดสอบเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที 200 (GT200) ที่ผ่านมา

เชื่อว่าหลักการคล้ายจีที 200 แต่แปะแป้งให้ดูแตกต่าง และวิธีทดสอบในครั้งนี้ไม่มีการควบคุม ส่วนแบตเตอรีก็ยังไม่ทราบว่าทำหน้าที่อะไร เขาบอกว่าใช้ผสมคลื่นแม่เหล็ก ซึ่งผมนึกไม่ออกเลยว่าเป็นหลักการใดของฟิสิกส์ อีกทั้งเขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาใช้อะไรในการขับเสาอากาศ ทั้งนี้เครื่องควรจะทำงานได้โดยที่คนไม่ต้องเดินก็ได้" ดร.พงษ์กล่าว

ทั้งนี้ สื่อมวลชนได้ตั้งคำถามต่อตัวแทนจำหน่ายว่า เครื่องสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องอาศัยคนถือเดินได้หรือไม่ เนื่องจากมีแบตเตอรีอยู่แล้ว ซึ่งตัวแทนจำหน่ายตอบว่ากำลังพัฒนาเครื่องรุ่นที่มีฐานตั้ง แต่เครื่องรุ่นนี้ไม่สามารถทำงานโดยไม่ใช้คนถือได้ เนื่องจากเครื่องยังต้องอาศัยส่วนของร่างกายในการทำงาน

เครื่อง HEDD1 รุ่นนี้ได้พัฒนาแล้วเสร็จเมื่อเดือน ต.ค.52 ที่ผ่านมา โดยกำลังมีการทดสอบอยู่ในยุโรป แต่ได้จำหน่ายในเอเชียก่อนเพราะมีปัญหาที่รุนแรงกว่า และหลายประเทศในเอเชียได้นำไปใช้ แต่ไม่สามารรถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลความปลอดภัยของแต่ละประเทศ

จากกรณีการทดสอบที่ไม่ได้ผลและตัวแทนจำหน่ายอ้างว่าเป็นเพราะมีการปนเปื้อนภายในห้อง ผู้สื่อข่าวจึงถามว่าในการใช้งานจริงที่มีการวางระเบิดล่อให้เจ้าหน้าที่รุดไปในพื้นที่ แล้วฝังระเบิดอีกลูกไว้ เครื่อง HEDD1 จะแยกแยะได้อย่างไร และผู้ปฏิบัติงานยังเสี่ยงต่อระเบิดลูกที่ 2

ด้านนายวอลล์มาร์แจงว่าเครื่องจะตรวจหาบริเวณที่มีปริมาณสารระเบิดที่มากกว่าก่อน พร้อมแนะนำว่าต้องใช้เครื่องนี้ร่วมกับการตรวจวัตถุระเบิดอย่างอื่น และให้นั่งรถหุ้มเกราะระหว่างใช้งาน แต่ ดร.พงษ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่ารถหุ้มเกราะทำด้วยเหล็กซึ่งตัดสนามแม่เหล็ก แล้วเครื่องจะทำงานได้อย่างไร

ขณะที่นายอำนาจ สาธานนท์ อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาฯ ซึ่งศึกษาด้านเครื่องมือวัดและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ความเห็นกับทางทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า โดยปกติเครื่องมือวัดไม่ควรขึ้นอยู่กับคนใช้เครื่องมือนั้นๆ หากใช้เครื่องมืออย่างถูกวิธีไม่ว่าใครใช้ย่อมได้ผลเหมือนกัน แต่สำหรับเครื่อง HEDD1 นี้แปลกที่ขึ้นอยู่กับคนถือเครื่องมือเดินทดสอบ

พร้อมกันนี้ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาฯ ที่ร่วมเดินทางมาสังเกตการณ์ด้วย ได้นำประทัด 100 นัด ซึ่งมีองค์ประกอบของดินปืน ที่ฝ่ายตัวแทนจำหน่ายระบุว่าเครื่องสามารถตรวจได้ เข้าไปในห้องแถลงข่าวด้วย และได้ซ่อนบางส่วนไว้ที่ห้องน้ำชาย กระถางต้นไม้หน้าลิฟต์ หน้าเคาท์เตอร์โรงแรม และใส่ปากกาฝากให้นักข่าวซึ่งเดินไป-เดินมาอยู่ภายในห้องแถลงข่าว แต่เครื่อง HEDD1 ไม่ได้ชี้ไปยังตำแหน่งต่างๆ ที่ซ่อนประทัดไว้เลย

เมื่อตัวแทนจำหน่ายทราบในภายหลังได้ขอให้เขาแสดงตัว แต่ก็ไม่ได้กล่าวอะไร

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ไ ด้ขอความเห็นอาจารย์ฟิสิกส์ จุฬาฯ ซึ่งมาร่วมสังเกตการณ์ครั้งนี้ ถึงกรณีที่มีชาวต่างชาตินำเครื่องมือลักษณะดังกล่าวเข้ามาเสนอขายในเมืองไทยนั้นเราควรรับมืออย่างไร ซึ่ง ดร.สธนกล่าวสั้นๆ ว่า อย่าผลีพลาม และเปรียบเทียบเหมือนการซื้อรถยนต์ที่เราต้องค่อยๆ พิจารณาข้อมูล ส่วน ดร.พงษ์ให้ความเห็นว่า โลกเราพัฒนาไปมากและเรามีโอกาสหาข้อมูลได้เยอะกว่าเดิม และขึ้นอยู่กับเราว่าจะเชื่อหรือไม่

สำหรับสารระเบิดที่นำมาใช้ทดสอบนั้นเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดบอกกับทีมขาววิทยาศาสตร์ฯ ว่า ยังไม่พร้อมระเบิด และทีมข่าวได้ค้นข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งปริมาณสาระเบิดซีโฟร์และทีเอ็นทีที่นำมาทดสอบในงานแถลงข่าวนั้นมีรัศมีทำลายล้างประมาณ 4 เมตร ส่วนแอนโฟมีรัศมีทำลายล้างประมาณ 1.5 เมตร
เจ้าหน้าที่กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด  โชว์สารระเบิดทีเอ็นทีที่ซ่อนอยู่บนเวทีผู้แถลงข่าว
นายแฟรงก์ ไทเรอร์ เดินถือเครื่อง HEDD1 หาสารระเบิด
ให้นักข่าวถือกล่องใส่สารระเบิดเพื่อพิสูจน์ แต่หาไม่พบ
อาจารย์ฟิสิกส์ จุฬาฯ ได้รับเชิญจากตัวแทนให้เข้าร่วมภายในงานแถลงข่าวเปิดตัว HEDD1 (ซ้ายไปขวา) นายอำนาจ สาธานนท์, ดร.พงษ์ ทรงพงษ์ และ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์
ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ เผยให้เห็นประทัดที่นำเข้าไปในห้องแถลงข่าว
ดร.พงษ์ ทรงพงษ์
เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดแบบมือถือ HEDD1 (hazard-detection.com)



กำลังโหลดความคิดเห็น