xs
xsm
sm
md
lg

รับวันแห่งความรัก ด้วย "กุหลาบนาโน" จากอนุภาคทองคำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การ์ดรับวาเลนไทน์แสดงภาพอนุภาคนาโนทองคำที่สังเคราะห์โดยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรูป
ต้อนรับเทศกาลวาเลนไทน์ด้วยกุหลาบจากอนุภาคนาโนของทองคำ ผลงานวิจัยพัฒนาอนุภาคนาโนอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยสารสังเคราะห์จากวัตถุทางการเกษตรของไทย 100% และเป็นทางเลือกลดการนำเข้าอนุภาคนาโนจากญี่ปุ่น-เกาหลี

ใกล้เทศกาลวาเลนไทน์ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้รับอีเมลจากผู้อ่านแนะนำให้รู้จัก "โกล์ด นาโน โรส" (Gold Nano Rose) อนุภาคนาโนจากทองคำที่สังเคราะห์รูปร่างออกมาคล้ายดอกกุหลาบ ผลงานของ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรูป (Sensor research unit) ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งบันทึกภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (scanning electron microscopy) ที่เบื้องต้นให้ภาพขาว-ดำ แต่ได้ใช้โปรแกรมตกแต่งภาพเพื่อเพิ่มสีสันให้สวยงามเข้ากับเทศกาลแห่งความรัก
การ์ดรับวาเลนไทน์แสดงภาพอนุภาคนาโนทองคำที่สังเคราะห์โดยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรูป
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ได้ติดต่อสอบถาม รศ.ดร.สนองเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานดังกล่าว ซึ่งได้ข้อมูลว่าอนุภาคนาโนคล้ายกุหลาบดังกล่าวนั้น เป็นผลงานในการพัฒนากรีนนาโนเทคโนโลยี (Green Nanotechnology) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสังเคราะห์อนุภาคจากโลหะต่างๆ อาทิ ทองคำ เงิน แพลตินัม เป็นต้น ให้ได้รูปทรงต่างๆ ทั้งรูปทรงสามเหลี่ยม หกเหลี่ยม และรูปร่างอื่นๆ เพื่อประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ เช่น ผลิตตัวเร่งปฏิกิริยา เซนเซอร์ เครื่องสำอางค์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

โดยทั่วไปการสังเคราะห์ทองคำเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะประยุกต์ใช้งานได้เยอะ เช่น ใช้ตรวจหาดีเอ็นเอ ตรวจหาเชื้อโรค หรือตรวจสารเคมี ซึ่งเราพยายามสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อทดแทนการนำเข้า เพราะปัจจุบันเราต้องนำเข้าอนุภาคทองคำนาโนจากเกาหลี ญี่ปุ่นซึ่งมีราคาแพงมาก โดยอนุภาครูปทรงสามเหลี่ยมและหกเหลี่ยมช่วยให้อนุภาคสะท้อนแสงได้ดี หากนำมาใช้กับเครื่องสำอางจะทำให้ผิวดูเปล่งประกายและดูสดใส” รศ.ดร.สนองกล่าว

สำหรับ Gold Nano Rose นี้ แต่ละกลีบมีขนาด 5-10 ไมครอน และมีความหนาเพียง 50 นาโนเมตร ซึ่งเรานำไปประยุกต์ใช้เป็นวัตถุรองรับ (substrate) ในระบบตรวจวัดการกระเจิงของแสงตามหลักของรามัน (Surface Enhanced Raman Scattering) เพื่อตรวจสอบสารปริมาณน้อยได้ อย่างเช่นการตรวจหาสารวัตถุระเบิดในอากาศ ซึ่ง รศ.ดร.สนองระบุด้วยว่าให้ความสนใจในเรื่องตรวจหาสารระเบิดมาหลายปีแล้ว

นอกจากนี้หน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรูปยังได้ปฏิวัติการสังเคราะห์อนุภาคนาโนที่ต่างไปจากเดิม ตรงที่ใช้สารสังเคราะห์ที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และเป็นสารสังเคราะห์ที่ได้จากวัตถุทางการเกษตรของไทย 100% ซึ่ง รศ.ดร.สนองกล่าวว่า จะเป็นศักราชใหม่ของการสังเคราะห์อนุภาคนาโนที่ไม่ใช่สารเคมีเป็นพิษเหมือนที่ผ่านมา.
Rose Garden - สวนกุหลาบนาโนจากอนุภาคทองคำ (ภาพทั้งหมดจาก หน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรูป สังเคราะห์อนุภาคโดย รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ และบันทึกภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดโดย  นายชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น