John Wilkes Booth คือนักแสดงโนเนม ผู้หาเลี้ยงชีพโดยการแสดงละครในรัฐ Virginia และ Massachusetts ในปี 2408 ที่ Booth มีอายุ 22 ปีนั้น เขาได้กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ไม่ใช่ในฐานะนักแสดงละครผู้สามารถ แต่ในฐานะฆาตกรผู้ยิงปืนฆ่าประ ธานาธิบดี Abraham Lincoln วัย 56 ปี ของสหรัฐฯ ที่โรงละคร Ford ในกรุง Washington เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2408 ขณะ Lincoln กำลังดูละครเรื่อง Our American Cousin กระสุนได้ทะลุผ่านท้ายทอยทำให้ Lincoln ล้มลงและขาดใจตาย เมื่อการสังหารประสบความ สำเร็จŽ Booth ได้กระโจนขึ้นบนเวทีละคร แล้วตะโกนเป็นภาษาละตินว่า Sic semper tyrannisŽ ซึ่งแปลว่า คนที่ปกครองโดยการกดขี่ก็ต้องจบชีวิตเยี่ยงนี้ จากนั้น Booth ได้หลบหนีออกทางหลังโรงละคร ขึ้นม้าที่คอยอยู่ แล้วขี่หายไปในความมืด
อีก 10 วันต่อมา หัวหน้าครอบครัว Garnett ซึ่งทำงานที่ไร่ในรัฐ Virginia ซึ่งอยู่ห่างจาก Washington ประมาณ 100 กิโลเมตร ได้รายงานตำรวจว่าเห็น Booth ทันทีที่ได้ข่าวระแคะระคาย ตำรวจได้ระดมกำลังล้อมจับตัว Booth ซึ่งหลบซ่อนอยู่ในยุ้ง โดยใช้วิธีวางเพลิงเผายุ้ง ทำให้ Booth ต้องวิ่ง ออกมาและถูกตำรวจยิงที่คอจนเสียชีวิต
ตำรวจจึงนำศพฆาตกรบันลือโลก ห่อด้วยผ้าห่ม นำขึ้นรถและเรือเดินทางสู่ Washington หลังจากที่ ทันตแพทย์ประจำตัวของ Booth ตรวจดูฟันของศพ และยืนยันว่านี่คือศพของ Booth จริง และศัลยแพทย์ John May ผู้เคยผ่าตัดก้อนเนื้อที่คอของ Booth เมื่อได้ดูรอยผ่าตัดที่คอ ก็บอกว่านี่คือศพของ Booth เช่นกัน ดังนั้น คณะแพทย์ที่ชันสูตรจึงลงมติว่า Booth เสียชีวิตด้วยพิษกระสุนปืน จากนั้นได้ตัดเนื้อที่คอส่วนหนึ่งใส่ ขวดโหลมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ Mütter ที่เมือง Philadelphia เพื่อเก็บ แล้วศพก็ถูกนำไปฝังที่ Washington Arsenal และถูกย้ายไปฝังที่สุสานอื่นอีกรวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง
หลังจากเวลาผ่านไป 4 ปี รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งมอบศพของ Booth แก่ครอบครัว เพื่อนำไปฝังที่สุสาน Green Mount ในเมือง Baltimore และนั่นก็คือสิ่งที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้เป็นการสรุปเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก เมื่อ 145 ปีก่อนนี้
การเสียชีวิตของ Lincoln ลักษณะนี้ได้ทำให้นักประวัติศาสตร์และคนที่สนใจเรื่องการลอบสังหารทางการเมืองตั้งข้อ สงสัยว่า นี่เป็นการกระทำของ Booth เพียงคนเดียว หรือของกลุ่มคนหัวรุนแรง หรือของคนต่างชาติ หลายคนเชื่อว่า Edwin Stanton ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ประสงค์จะจับตัวฆาตกรให้ได้เร็วที่สุด จึงวางแผนให้เอาศพใครก็ได้มาอุปโลกน์เป็นศพของ Booth เพื่อเรื่องจะได้จบ ในขณะที่บางคนก็อ้างว่า ศพนั้นมิใช่ของ Booth เพราะหลักฐานที่แพทย์อ้างไม่ตรง กับความจริง เช่น Gretchen Worden ซึ่งเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Mütter ที่เก็บเนื้อเยื่อของ Booth ได้ชี้ให้เห็นว่า Booth สักชื่อเป็นอักษรที่มือขวา แต่คนที่เห็นศพ บอกรอยสักอยู่ที่มือซ้าย และแม้แต่ศัลยแพทย์ John May ก็ไม่มั่นใจ 100% ว่าเจ้าของศพนั้นคือ Booth
วิธีหนึ่งที่จะสามารถตัดสินการเป็นตัวจริงหรือตัวปลอมได้ คือตำรวจต้องขุดศพที่ฝังอยู่ที่สุสาน Green Mount มาตรวจ DNA ใหม่
ในอดีตเมื่อ 16 ปีก่อน เมื่อบรรดาญาติๆ ของ Booth ได้เรียกร้องให้มีการขุดศพมาตรวจศพอีกครั้งหนึ่ง ศาลแห่ง Baltimore ได้ปฏิเสธคำร้อง เพราะได้รับคำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญเรื่อง DNA ว่า DNA ไม่สามารถใช้ระบุได้ว่าศพเป็นของ Booth ทั้งนี้ เพราะญาติของ Booth ที่มีในขณะนี้เป็นญาติห่างๆ ไม่ใช่ญาติตรง ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ DNA ระบุตัว Booth ได้
ในปี 2538 James Starrs แห่งมหาวิทยาลัย Washington ผู้เคยวิเคราะห์ศพของ Jesse James ได้แถลงในศาลว่า สิ่งที่ต้องการไม่ใช่ DNA ทั่วไป แต่ต้องเป็น mitochondrial DNA (mt DNA) ของญาติๆ ที่เป็นหญิงแห่งตระกูล Booth เช่น ยายทวด ยาย แม่ หรือลูกสาว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ตระกูลนี้ไม่มีญาติทางแม่เหลืออยู่แม้แต่คนเดียว ครั้นจะขุดศพแม่ของ Booth ขึ้นมา นั่นก็หมายความว่าตำรวจต้องขุดศพถึง 2 ศพ หรืออาจจะขุดมากกว่านั้นถ้าข้อมูลที่มีไม่ดีพอ ด้วยเหตุนี้ เพื่อป้องกันความโกลาหล ศพของ Booth จึงยังคงฝังที่ Green Mount ต่อไปโดยไม่มีใครรบกวน
นอกจากประเด็นตัวจริงและตัวปลอมแล้วนักประวัติศาสตร์ก็ยังได้ตั้งข้อกังขาเรื่อง การวางแผนสังหารว่า ดำเนินการโดยคนคนเดียว หรือหลายคนด้วย
ในการตอบข้อสงสัยนี้ Patrick Leman แห่ง Royal Halloway ของมหาวิทยาลัย London ได้เสนอผลการวิจัยเรื่อง ความเชื่อและความไม่เชื่อในทฤษฎีการสมคบกันก่อการร้าย ในที่ประชุมของ Psychological Society ของอังกฤษเมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งได้ข้อสรุปว่าคนทั่วไปมักเชื่อว่า ถ้าผู้ที่ถูกยิงเป็นคนสำคัญ สาเหตุการยิงก็จะซับซ้อนและไม่ธรรมดา โดย Leman ได้ใช้นิสิต 64 คน และให้ทดสอบอ่านบทความ ซึ่งกล่าวถึง ประธานาธิบดีของประเทศหนึ่งถูกคนร้ายลอบยิง Leman เขียนบทความเป็น 4 รูปแบบ คือ
แบบที่ 1 ประธานาธิบดีถูกยิง และเสียชีวิต
แบบที่ 2 ประธานาธิบดีถูกยิง แต่รอดชีวิต
แบบที่ 3 กระสุนที่ใช้ยิงพลาดเป้า แต่ประธานาธิบดีตายในเวลาต่อมาด้วยสาเหตุอื่น
แบบที่ 4 กระสุนพลาดเป้า และประธานาธิบดียังมีชีวิตต่อไป
จาก นั้น Leman ให้นิสิตอ่านบทความเพียงคนละ 1 ชิ้น แล้วตั้งคำถาม 6 ข้อ เช่นว่า นิสิตเชื่อว่า การยิงทำโดยคนคนเดียว หรือเป็นแผนของคนหลายคน และนิสิตเชื่อในบทความที่อ่านมากหรือน้อยเพียงใด เป็นต้น
ผลที่ได้รับจากการวิจัย แสดงว่า นิสิตที่เชื่อว่าแผนสังหารเกิดจากคณะบุคคลมักสงสัยในบทความที่อ่านมากกว่า นิสิตที่เชื่อว่าคนคนเดียวยิง และแม้แต่กรณีที่ประธานาธิบดีเสียชีวิตหลังจากการยิง นิสิตส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่า การตายเป็นส่วนหนึ่งของแผนสังหาร
ดังนั้นในภาพรวม Leman จึงสรุปว่าผู้คนทั่วไปมักคิดว่า การเสียชีวิตของบุคคลสำคัญของประเทศ เช่น Lincoln, Kennedy, กษัตริย์ และนักการเมืองมักเกิดจากการวางแผนของบุคคลหลายคน มิใช่เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบของคนคนเดียว พูดง่ายๆ คือถ้าผลที่เกิดขึ้นยิ่งใหญ่ คนทั่วไปก็คิดว่าสาเหตุก็ยิ่งใหญ่ด้วย
ส่วน การสังหารนายกรัฐมนตรี Zoran Djindjic แห่งประเทศ Serbia ที่กรุง Belgrade เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2546 นั้นก็เช่นกัน รัฐบาล Serbia ได้ออกแถลงการณ์ว่า การลอบสังหารเป็นผลงานของมาเฟียภายใต้การนำโดยประธานาธิบดี Slobodan Milosevic ซึ่งก็ตรงกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ทั้งโลก
แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า นี่คือผลงานของคนคนเดียว ดังเช่น Booth ในกรณี Lincoln หรือ Lee Harvey Oswald ในกรณี Kennedy ครับ
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.