เตรียมตรวจสอบประสิทธิภาพ GT200 ที่ "บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร" อุทยานวิทยาศาสตร์ ในวันวาเลนไทน์ ทหารส่งสารซีโฟร์ 20 กรัมทดสอบ ตั้ง 10 ทีมค้นหา มี "ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์" เป็นประธานฝ่ายซ่อนวัตถุระเบิด คาดทราบผลในวันที่ 15 ก.พ. และพร้อมเสนอ ครม.ฟันธงเครื่องมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่
หลังประชุมหารือของคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที200 (GT200) เมื่อบ่ายวันที่ 8 ก.พ.53 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า จะมีการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องจีที 200 ในวันที่ 14 ก.พ.53 เวลา 08.30 น. ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (ไซน์ปาร์ก) จ.ปทุมธานี
ทั้งนี้ คณะกรรมการให้ความสำคัญกับขั้นตอนการทดลอง และกรอบการทำงานที่เป็นวิทยาศาสตร์ โปร่งใส และตรวจสอบได้ อีกทั้งจะไม่มีการจำกัดเวลาในการทดสอบ ซึ่งการทดสอบอาจจะล่วงเลยไปถึงวันที่ 15 ก.พ. และจะได้เสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 16 ก.พ.นี้
ทางด้าน ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการชุดดังกล่าว เปิดเผยว่า ฝ่ายทหารได้อนุมัติให้นำสารระเบิดซีโฟร์ 20 กรัมมาใช้ในการทดสอบ โดยการทดสอบ จะแบ่งตัวอย่างสำหรับสุ่มตรวจ 4 ชุด และจะมีการทดสอบทั้งหมด 20 ครั้ง ในพื้นที่ 50X50 ตารางเมตร ภายในอาคารของบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และผู้ทำการค้นหา จะอยู่ใกล้สารตัวอย่างได้ไม่ต่ำกว่า 300 เมตร
ส่วนทีมทดสอบ ได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1.ประธาน คือปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ดร.สุจินดา โชติพานิช) ซึ่งมีหน้าที่นำสารตัวอย่างที่ติดหมายเลขไว้ บรรจุลงในกล่องเปล่า ที่ไม่ระบุหมายเลข และมีเพียงประธานในการทดสอบเท่านั้นที่ทราบว่าสารตัวอย่างหมายเลขใดคือระเบิดจริง
กลุ่มที่ 2. ทีมซ่อน นำโดย ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะสุ่มจับหมายเลขจากลูกปิงปอง เพื่อกำหนดหมายเลขให้กล่องที่บรรจุสารตัวอย่างไว้ทั้ง 4 กล่อง และนำไปวางไว้ยังตำแหน่งต่างๆ
กลุ่มที่ 3.ทีมค้นหา ซึ่งมีทั้งหมด 10 ทีมๆ ละ 2 คน และแต่ละทีมมีกรรมการประจำทีม 1 คน โดยทีมค้นหาจะทดสอบทีมละ 2 ครั้ง และสามารถใช้เวลาได้โดยไม่จำกัด แต่คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณทีมละ 1 ชั่วโมง
หลังจาก ดร.สุจินดาในฐานะประธานการทดสอบเครื่องจีที 200 บรรจุสารระเบิดลงในกล่องแล้ว จะบันทึกข้อมูลลงในเอกสารแล้วปิดผนึก จากนั้นจะออกจากบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ซึ่งเป็นพื้นที่ทดสอบ
ส่วนทีมซ่อนสารตัวอย่างและทีมค้นหาจะไม่สามารถออกจากสถานที่ทดสอบได้ จนกว่าจะทดสอบแล้วเสร็จ และทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่มีโอกาสได้พบกัน เมื่อได้ผลการทดสอบแล้ว คณะกรรมการจะสรุปและวิเคราะห์ผลทางสถิติ แล้วนำผลรายงานต่อคณะรัฐมนตรี ส่วนสื่อมวลชนสามารถเข้าร่วมในการทดสอบได้ ในช่วงเช้าที่ประธานเข้าตรวจสอบสารตัวอย่างเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ดร.พันธ์ศักดิ์ยังได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวด้วยว่า ไม่มีการทดสอบเครื่องจีที 200 ในทางฟิสิกส์และเคมี เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องเท่านั้น และคณะกรรมการชุดนี้ได้ดำเนินการทดสอบในกรอบของ ครม.