เอกชนพัฒนาแผ่นเซลลูโลสชีวภาพ จากอาหารเลี้ยงเชื้อทำด้วยปลายข้าว ใช้เป็นวัสดุปิดแผลก็ได้ ใช้มาสก์หน้าก็ดี เส้นใยมีคุณสมบัติเนียว นุ่ม แข็งแรง ทนทาน หนาแน่นด้วยรูพรุนขนาดเล็ก กักเก็บความชุ่มชื้นได้มาก ทดลองใช้ปิดแผลเฉียบพลันในผู้ป่วย แผลหายเร็วขึ้นใน 8 วัน ด้านสาวๆ รักสวยยิ่งชอบใจ หลังทดลองใช้มาสก์หน้า ให้ความรู้สึกผิวนุ่มชุ่มชื้นทันตาเห็น
นายสมบัติ รุ่งศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนาโนเซลลูโลส จำกัด เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ได้พัฒนาแผ่นเซลลูโลสชีวภาพจากอาหารเลี้ยงเชื้อปลายข้าวเป็นรายแรกในประเทศไทย สำหรับใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์และเสริมความงาม ให้ผลการบำรุงและรักษาผิวหนังได้ดี ไม่มีสารก่ออาการแพ้และระคายเคือง ทั้งยังราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์นำเข้าประเภทเดียวกันราว 3 เท่า
"เริ่มจากนำปลายข้าวมาหุง แล้วหมักตามธรรมชาติด้วยจุลินทรีย์ในอากาศประมาณ 3-5 วัน ที่อุณหภูมิห้อง จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการทำให้เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อ โดยมีการเติมสารอาหารอื่นๆ เพิ่มเติมเข้าไปด้วย แล้วนำไปใช้เป็นอาหารเพาะเลี้ยงเชื้อ อะซีโตแบคเตอร์ ไซลินัม (Acetobacter xylinum) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สร้างเส้นใยเซลลูโลสในปริมาณมาก" เจ้าของผลงานอธิบายขั้นตอนการผลิต ซึ่งเขาเลือกใช้ปลายข้าวสังข์หยดและข้าวเล็บนก ที่มีมากใน จ.พัทลุง อันเป็นที่ตั้งของบริษัท
หลังจากเลี้ยงเชื้อได้ประมาณ 7-10 วัน จึงเก็บเกี่ยวแผ่นเส้นใยเซลลูโลสชีวภาพที่แบคสร้างขึ้นไปผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แผ่นเซลลูโลสสำหรับใช้ในทางการแพทย์หรือด้านความงามตามวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ เซลลูโลสชีวภาพดังกล่าว เป็นสารโพลิเมอร์ธรรมชาติ มีเส้นใยขนาดเล็ก เต็มไปด้วยรูพรุนขนาดเล็กกว่า 200 นาโนเมตร บริสุทธิ์ ปราศจากลิกนิน แทนนิน เฮมิเซลลูโลส สามารถดูดซับของเหลวที่ชอบน้ำได้ดี เหนียว แข็งแรง ทนกรด ด่าง ความร้อน และรังสี จึงเหมาะใช้กับงานอุตสาหกรรมวัสดุดูดซับ แมนเบรน อาหารควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งวัสดุทางการแพทย์และความงาม
นายสมบัติ กล่าวต่อว่าได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ทดสอบประสิทธิภาพวัสดุปิดแผลจากเซลลูโลสชีวภาพ โดยทดลองใช้ปิดแผลเฉียบพลันในผู้ป่วย 22 ราย พบว่าช่วยรักษาให้แผลหายได้เร็วขึ้นภายใน 8 วัน จากเดิม 21 วัน ที่ใช้ผ้าก๊อสปิดแผล ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันโดยทั่วไป
ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทดลองใช้แผ่นเซลลูโลสชีวภาพปิดแผลปลูกถ่ายเนื้อเยื่อในผู้ป่วยจำนวน 15 ราย พบว่า ช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนที่แผลได้ดีกว่าวัสดุปิดแผลอัลจิเนตที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่มีราคาถูกกว่าราว 3 เท่า
นอกเหนือจากสรรพคุณทางด้านการแพทย์แล้ว แผ่นเซลลูโลสชีวภาพยังสามารถนำมาใช้มาสก์หน้าได้ด้วย ซึ่งจากการทดสอบโดยคณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. หาดใหญ่ ในอาสาสมัครจำนวน 28 ราย พบว่าช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหน้าได้เป็นอย่างดี ทำให้เซลล์ผิวแข็งแรงขึ้น ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง
"ด้วยรูพรุนขนาดเล็กจำนวนมากของแผ่นเซลลูโลสชีวภาพ ที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น และค่อยๆ ปลดปล่อยน้ำสู่ผิวหนังบิเวณที่แห้ง ขณะเดียวกันก็จะช่วยดูดซับของเหลวในบริเวณที่ชุ่มชื้นเกินไปด้วย ทำให้เกิดความสมดุล ช่วยกระตุ้นกลไกการสมานแผลของร่างกาย ส่งเสริมให้มีการสร้างเนื้อเยื่อและเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนของเดิมที่เสียหาย และช่วยกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้แผลหายเร็วขึ้น และทำให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น และด้วยเส้นใยที่ละเอียด จึงไม่ทำให้เจ็บในขณะลอกออกจากผิวหนัง" นายสมบัติ อธิบาย ซึ่งเขาได้ผลิตและจำหน่ายแผ่นเซลลูโลสชีวภาพเพื่อใช้ในด้านการแพทย์และความงามมานานร่วม 3 ปีแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ม.อ.
ทั้งนี้ แผ่นเซลลูโลสชีวภาพจากอาหารเลี้ยงเชื้อปลายข้าว ยังมีคุณสมบัติดีกว่าและต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแผ่นเซลลูโลสจากอาหารเลี้ยงเชื้อน้ำสับปะรด ทั้งยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับปลายข้าวได้หลายเท่า ซึ่งผลงานนี้ยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2553 ด้านวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติในงาน "วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2553" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ. 53 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี