xs
xsm
sm
md
lg

เด็กทุนเดซีเผยประสบการณ์ เติมความรู้ฟิสิกส์มูลฐานถึงเมืองเบียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์  และ น.ส.เพียรเพ็ญ สีมา ขณะไปทัศนศึกษา
นักเรียนทุนเดซีปี 52 เล่าประสบการณ์ทำงานวิจัยกับเยอรมัน 2 เดือน ได้ต่อยอดความรู้ด้านฟิสิกส์มูลฐานที่ขาดหาย ดึงข้อมูลหัววัดเครื่องเร่งอนุภาคของเซิร์นมาวิเคราะห์ เผยเตรียมกลับไปต่อด็อกเตอร์ที่เมืองเบียร์เพราะเยอรมันเตรียมทุนไว้ให้แล้ว

น.ส.เพียรเพ็ญ สีมา นักเรียนทุนโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี (DESY Summer Student Program) ปี 2552 ซึ่งเพิ่งกลับจากการไปทำวิจัยระยะสั้นที่สถาบันเดซี (Deutsches Electronen-Synchrotron :DESY) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้เล่าประสบการณ์ของเธอให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า มีโอกาสไปหาความรู้ทางด้านอนุภาคมูลฐาน ซึ่งเป็นความรู้ที่ช่วยเติมเต็มให้เธอ

ทั้งนี้เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาปี 3-4 เพียรเพ็ญได้ทำโปรเจกต์ทางด้านจักรวาลวิทยา ซึ่งแม้โปรเจกต์จะลุล่วงไปได้ดี แต่ยังมีปัญหาที่เธอแก้ไม่ได้ และต้องอาศัยความรู้ทางด้านอนุภาคมูลฐานมาตอบปัญหา และโชคดีที่ได้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มที่วิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดอนุภาคแอตลาส (ATLAS) ในเครื่องเร่งอนุภาคของเซิร์น (CERN) และหัวข้อที่ได้ก็ตรงกับความสนใจพอดี

สถาบันที่เพียรเพ็ญเดินทางไปทำวิจัยอยู่ในเมืองซอยเธน (Zeuthen) ใกล้กรุงเบอร์ลิน และมีนักศึกษาจากทั่วโลกเข้าร่วมทำวิจัยระยะสั้นทั้งหมด 15 คน จาก 10 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากชาติยุโรป ซึ่งหน้าที่หลักของเธอคือการเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างแบบจำลองในการตอบปัญหาว่า “ท็อปควาร์ก” (Top Quark) นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเป็นการศึกษาย้อนกลับ เพื่อดูว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามทฤษฎีที่ทำนายไว้หรือไม่

ปัจจุบันเพียรเพ็ญกำลังศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) แต่ทั้งนี้วางแผนจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยในระดับปริญญาเอกนั้น ทางสถาบันเดซีได้เตรียมทุนไว้ให้ ซึ่งเธอคิดว่าจะกลับไปเรียนต่อหลังเรียนจบปริญญาโทแล้ว

ไปทำวิจัยถึงเยอรมนีครั้งนี้ เพียรเพ็ญไม่ได้ไปเดี่ยว แต่ยังมี นายสุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์ บัณฑิตจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับทุนเดียวกันนี้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน แต่สุทธพงษ์แยกไปทำวิจัยอีกเมืองคือที่เมืองฮัมบวร์ก ซึ่งเป็นศูนย์ใหญ่ในการรับนักศึกษาจากทั่วโลกเข้าฝึกงานภาคฤดูร้อน

ภารกิจของสุทธิพงษ์คือ การศึกษาการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างและสมบัติพื้นฐานในกระบวนการแห้งตัวของโพลีสไตรีน (Polystyrene) พอลิเมอร์ที่ใช้ผลิตขวดน้ำ แต่ในงานวิจัยของเขานั้นใช้เพื่อผลิตฟิล์มบาง โดยศึกษาจากการกระเจิงของรังสีเอกซ์ในมุมเล็กๆ

แม้จะออกไปในเชิงฟิสิกส์ แต่สำหรับสุทธิพงษ์ซึ่งเป็นบัณฑิตทางด้านเคมีแล้ว เขาบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ในระดับปริญญาตรีนั้นเขาเรียนด้านเคมีอนินทรีย์ ซึ่งงานหลักๆ คือการสังเคราะห์วัสดุและศึกษาโครงสร้างของวัสดุอยู่แล้ว แต่การศึกษาทางด้านการกระเจิงรังสีเอกซ์นั้นเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับเขา

การศึกษากระบวนการแห้งตัวของพอลิเมอร์นั้น เพื่อหาวิธีในการควบคุมการทำฟิล์มบางที่เหมาะสม ซึ่งฟิล์มบางนี้จะใช้เพื่อการปลูกวัสดุโลหะนาโน แต่ภายในการศึกษาเพียงแค่ 2 เดือนนั้นทำให้งานยังไม่ได้สมบูรณ์นัก โดยสำเร็จเพียง 80% แต่ก็ได้ข้อมูลที่ต่อยอดงานวิจัยต่อไปได้ ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเป็นหัวหน้างานวิจัยของเขาได้ตั้งหัวข้อที่จะศึกษาต่อเนื่องแล้ว

สำหรับทุนโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซีนั้น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสถาบันเดซีได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายทุนแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมสถาบันเมื่อปี 2545 โดยเป็นทุนสำหรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เพื่อเข้าร่วมวิจัยระยะสั้นในหัวข้อด้านการใช้แสงซินโครตรอน งานวิจัยด้านเครื่องเร่งอนุภาค ทฤษฎีอนุภาคมูลฐานและการคำนวณด้านฟิสิกส์พลังงานสูง ซึ่งทั้งเพียรเพ็ญและสุทธิพงษ์กำลังทำสรุปผลการทำวิจัยระยะสั้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรายงานสมเด็จพระเทพรัตนฯ ในเร็วๆ นี้.
นายสุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์ (ขวา) และ น.ส.เพียรเพ็ญ สีมา (ซ้าย) ที่สถาบันเดซี
ภายในโถงทดลองเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของสถาบันเดซี
คณะนักศึกษาจากหลายประเทศที่ร่วมทำวิจัยระยะสั้นที่สถาบันเดซี ณ เมืองฮัมบวร์ก ประจำปี 2552
น.ส.เพียรเพ็ญ สีมา
นายสุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์
กำลังโหลดความคิดเห็น